หนึ่งในเรื่องเล่าที่โด่งดังและถูกนำไปถ่ายทอดต่อในต่างกรรมต่างวาระ ล่าสุด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็อ้างถึงสุนทรพจน์ของเขาเมื่อครั้งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นั่นคือเรื่องของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อครั้งไปเยือนองค์การนาซ่า ช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 และเขาสังเกตเห็นใครคนหนึ่ง ซึ่งก็คือนักการภารโรงกำลังถูพื้นอยู่ ท่านประธานาธิบดีจึงหยุดทักทายด้วยการแนะนำตัวเองว่า “ผมชื่อแจ็ค เคนเนดี คุณล่ะ ทำอะไรที่นี่”
คำตอบของภารโรงคนนั้นก็คือ “ท่านประธานาธิบดี ผมช่วยส่งคนไปดวงจันทร์”
มานึกๆ ดู เรื่องเล่านี้มีความหละหลวมในแง่ของข้อเท็จจริงเยอะเลย (เป็นไปได้อย่างไรที่นาซ่าจะปล่อยให้คนทำความสะอาดมาป้วนเปี้ยนระหว่างการเยือนของผู้นำสูงสุดของประเทศ อีกทั้งคนเป็นประธานาธิบดีก็ไม่น่าถามอะไรที่ไม่ค่อยฉลาดแบบนี้) แต่สมมติว่าจะลองมองข้ามข้อน่ากังขานี้ไปสักพัก และยอมรับว่านี่เป็นเรื่องจริง เรื่องเล่านี้มีประเด็นให้อภิปรายหลายแง่มุม อันหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ทีมสปิริต’ หรือความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนในองค์กร หมายความว่าองค์กรใดที่สามารถทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับภารโรงคนนี้ (นั่นคือการมองว่าตัวเองไม่ได้มีความรับผิดชอบเพียงแค่ปัดกวาดเช็ดถูไปวันๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่ใหญ่โตมหึมา เหนืออื่นใด สิ่งที่ตัวเองทำก็มีความสำคัญ จำเป็น และขาดไม่ได้) การบรรลุเป้าประสงค์ก็ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่าองค์การนาซ่าสามารถส่งคนไปเดินเล่นบนดวงจันทร์ก่อนสิ้นทศวรรษที่ 1960 ตามเจตนารมณ์ของท่านประธานาธิบดีผู้ล่วงลับ
หนังญี่ปุ่นเรื่อง Let’s Go, Jets! ของคาวาอิ ฮายาโตะ พูดเรื่องเดียวกัน นั่นคือความสำเร็จจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากทั้งองคาพยพขององค์กรมองไม่เห็นดาวดวงเดียวกัน ซึ่งจริงๆ แล้วนี่ก็ไม่ได้เป็นข้อคิดที่แปลกใหม่แต่อย่างใด กลับจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ และน่าเชื่อว่าหลักสูตรเอ็มบีเอในมหาวิทยาลัยก็คงสอนอะไรแบบนี้
แต่ส่วนที่ทำให้ Let’s Go, Jets! ดูโดดเด่น หนักแน่น และโน้มน้าวชักจูง อาจสรุปได้ว่ามาจากองค์ประกอบสองอย่างเป็นอย่างน้อย หนึ่งก็คือ หนังดัดแปลงจากเรื่องจริง ซึ่งโดยอัตโนมัติ มันเหมือนกับทำให้ผู้สร้างมีความชอบธรรมในการใส่สีตีไข่หรือสอดแทรกเรื่องเหลือเชื่อทั้งหลายทั้งปวงในนามของการ ‘สร้างจากเหตุการณ์จริง’ ได้อย่างเนียนๆ
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรก็คือทักษะและกลวิธีในการบอกเล่าที่ละมุนละม่อมและสะท้อนถึงไหวพริบปฏิภาณ ซึ่งช่วยทำให้หนังที่เต็มไปด้วยกับดักและหลุมพรางของความซ้ำซากจำเจลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ชวนให้ซาบซึ้งตื้นตัน
พล็อตของหนัง นอกจากไม่ได้บอกเล่าอะไรที่เหนือความคาดหมาย ยังได้รับการแจกแจงไว้อย่างค่อนข้างครบถ้วนในชื่อรองที่เป็นภาษาอังกฤษ อันได้แก่ ‘From Small Town Girls to U.S. Champions?!’ เรื่องของทีมเชียร์ลีดเดอร์จากโรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดบ้านนอกของญี่ปุ่นที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนอย่างชนิดไม่ยอมชะโงกมองดูเงาตัวเอง และในท่ามกลางสถานการณ์ที่ชวนให้สิ้นหวังเหลือเกิน กระทั่งสามารถต่อสู้ฝ่าฟันจนกลายเป็นแชมป์เชียร์ลีดเดอร์ในการประกวดระดับโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ความแยบยลของคนทำหนัง ได้แก่ การเลือกให้น้ำหนักกับเนื้อหาที่บอกเล่า กล่าวคือแทนที่จะไปเน้นความพ่ายแพ้และชัยชนะในการแข่งขันแต่ละทัวร์นาเมนต์อย่างเอาเป็นเอาตาย กลับหันเหไปพูดถึงการกอบกู้สปิริตของทีมเชียร์ลีดเดอร์ ซึ่งดำดิ่งถึงจุดตกต่ำที่สุด เมื่อสาวๆ ต้องพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายขายหน้าในการแข่งระดับจังหวัด อันส่งผลให้สมาชิกหลักๆ พากันแตกฉานซ่านเซ็น และเป็นสาวน้อยที่ชื่อฮิคาริ (ฮิโรเสะ ซึสึ จาก Our Little Sister) ผู้ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความเด็ดเดี่ยวทะเยอทะยาน ค่อยๆ ประสานเศษเสี้ยวที่แตกกระจัดกระจายให้กลับคืน
อีกทั้งจังหวะในการบิลด์อารมณ์ก็ต้องใช้คำว่ามีชั้นเชิง หรืออย่างน้อยก็ไม่โหมกระพืออย่างชนิดไม่ลืมหูลืมตา โมเมนต์ดราม่าหลายช่วงผสมผสาน ‘ความสมจริง’ ทั้งๆ ที่หากมานึกย้อนกลับไปก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างเกินเลย อาทิ ฉากที่ผู้ชมได้รับรู้ความยากลำบากของสาวอ้วน ซึ่งเบื้องหน้าเธอก็เหมือนกับเป็นตัวถ่วงความเจริญของทีมอยู่แล้ว แถมเบื้องหลังยังมีชีวิตครอบครัวที่ค่อนข้างลำเค็ญ
ส่วนที่ดีมากๆ ก็คือหนังไม่เคยทำให้คาแรกเตอร์นี้เป็นตัวตลก (หรือถ้าเป็นตัวตลก ก็ไม่มากหรือน้อยไปกว่าตัวละครคนอื่นๆ) ข้อสำคัญ การพยายามมีส่วนร่วมและการอุทิศทุ่มเทอย่างชนิดสองร้อยเปอร์เซ็นต์ของเธอก็ทำให้พวกเราต้องยอมล่มหัวจมท้ายไปกับกระบวนการบีบเค้นของหนังโดยดุษณี แล้วลีลาในการเต้นของเธอก็สุดลิ่มทิ่มประตูจริงๆ หรือในกรณีของตัวฮิคาริเองที่จู่ๆ เหตุการณ์บางอย่างก็นำพาให้เธอต้องยุติบทบาทกลางคัน สถานการณ์เอื้ออำนวยให้ฟูมฟายเหลือเกิน แต่จนแล้วจนรอด สิ่งที่เกิดขึ้นก็ถูกใช้ในฐานะบททดสอบความมุ่งมั่น และการยอมเป็นผู้เสียสละเพื่อความสำเร็จของส่วนรวม
อีกหนึ่งแท็กติกที่ช่วยให้หนังหลุดพ้นจากความหลงละเมอเพ้อพก ได้แก่ การสอดแทรกอารมณ์ขันที่นอกจากไม่แป้กแล้ว ยังเรียกเสียงหัวเราะได้ครื้นเครง หรือหลายครั้งก็เป็นมุกแบบจิกกัดตัวเอง ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเหมือนดัชนีชี้วัดระดับความมีสติสัมปชัญญะของตัวหนังโดยปริยาย
อย่างที่เอ่ยข้างต้น นี่เป็นหนังที่ชื่อเรื่องบอกหมดแม้กระทั่งตอนจบ กระนั้นก็ตาม สิ่งที่น่าครุ่นคิดและหนังก็สอดแทรกไว้ให้นึกเล่นๆ พอเป็นกษัยก็คือ นอกจากตำแหน่งแชมเปียนจะมีราคาค่างวดของมัน (การทะเลาะเบาะแว้ง ความเหนื่อยยาก การไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ) เคล็ดลับความสำเร็จที่หนังเจตนาโปรโมตจริงๆ ก็ย้อนกลับไปที่เรื่องข้างต้นนั่นเอง
นั่นคือ ‘ทีมสปิริต’ ซึ่งเอาเข้าจริงมันไม่ได้หมายความเฉพาะความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่รวมถึงการต้อง ‘โลดเต้นอย่างเต็มที่’ ในตำแหน่งที่แสงสปอตไลต์อาจส่องไปไม่ถึง ไม่ว่าจะในฐานะตัวประกอบแถวสองของทีม หรือภารโรง
Let’s Go, Jets! (2017)
กำกับ:คาวาอิ ฮายาโตะ
นักแสดง: ฮิโรเสะ ซึสึ, มัคเคนยู, อามามิ ยูคิ