×

‘โกดังพลุระเบิดตลาดมูโนะ’ กับคำถามที่ชาวบ้านคาใจ

11.08.2023
  • LOADING...

เสียงตะโกนดังออกมาจากรถ เรียกชื่อผมซ้ำๆ อย่างน่าสะพรึง “ที่บ้านผมโดนระเบิด พี่ชายผมโดนระเบิด ตอนนี้บ้านผมไม่มีแล้ว หายหมดแล้ว” 

 

ผมประคองเพื่อนขณะวิดีโอคอลกับพี่ชายของเขาที่บ้านในหมู่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ที่กลายเป็นข่าวดังชั่วข้ามคืนจากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดให้นั่งลงและค่อยๆ ตั้งสติสอบถามถึงอาการคนเจ็บ 

 

ระหว่างวิดีโอคอล เพื่อนผมหันกล้องให้ดูสภาพบ้านและบริเวณรอบๆ ในหมู่บ้านที่พังพินาศ โดยมีเสียงพลุดังขึ้นระหว่างการพูดคุยตลอดเวลา เพื่อนผมก็ชี้ให้เห็นว่าสภาพบ้านของเขาไหม้หมดเกือบทั้งหลัง เหลือเพียงเสาบ้าน ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะบ้านหลังนั้นผมเคยไปพักนอน และเยี่ยมเยียนอยู่บ่อยครั้ง 

 

หลังจากตั้งสติได้ เพื่อนก็รีบขับรถจากเมืองปัตตานีไปที่หมู่บ้านมูโนะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง และโทรมาบอกผมว่าเข้าหมู่บ้านไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้เข้าหมู่บ้าน และพูดย้ำกับผมว่า สภาพเหมือนสงครามเลย การจัดการรับมือต่างๆ ดูสับสนไปหมด ชาวบ้านก็อยากเข้าไปดูบ้านตัวเอง ถึงแม้รู้ว่าบ้านตัวเองมอดไหม้หมดแล้ว แต่ก็อยากเห็นบ้าน ผมจินตนาการไม่ออกจริงๆ ได้แต่รับฟังอย่างตั้งใจ และสอบถามถึงเรื่องคนตายและเจ็บเพิ่มเติม 

 

ทำไมมีโกดังพลุในชุมชน 

 

หมู่บ้านมูโนะ เป็นหมู่บ้านที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย มีเพียงแม่น้ำเล็กๆ กั้นระหว่างเขตแดนไทยและมาเลเซีย หมู่บ้านแห่งนี้เมื่อเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้วก็เกิดน้ำท่วมหนักจมทั้งหมู่บ้านเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ นอกจากฝนตกหนักแล้ว อีกสาเหตุคือพนังกั้นน้ำแตก ชาวบ้านบอกว่าหลังจากมีโครงการสร้างพนังกั้นน้ำก็ทำให้น้ำท่วมหนักกว่าเดิม คำถามคือ มีใครตรวจสอบโครงการสร้างพนังกั้นน้ำนี้หรือไม่ โดยเฉพาะการรับฟังเสียงร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

 

ตลาดมูโนะ คือแหล่งตลาดสำคัญของผู้คนในหมู่บ้านมูโนะ เป็นพื้นที่ของการซื้อขายสินค้า ไม่ว่ามาจากประเทศมาเลเซียหรือไทย ถือว่าเป็นตลาดสำคัญของผู้คนในพื้นที่แถวนั้น มีการเปิดขายกันในช่วงเย็น โดยเฉพาะวันศุกร์ที่มีการเปิดขายทั้งวัน

 

การมีโกดังสินค้าประเภทพลุหลังตลาด ชาวบ้านแถวนั้นรู้ว่ามีโกดังเก็บสินค้า แต่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครทราบรายละเอียดมากนัก มีแต่เพียงข้อมูลว่าโกดังดังกล่าวเป็นของคนนอกพื้นที่ คำถามจึงมีอยู่ว่า ใครเป็นผู้อนุญาต การจัดจำหน่ายพลุ ประทัด ฯลฯ ถือว่าต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเจ้าหน้าที่รับผิดชอบคือนายทะเบียนท้องที่ ที่ต้องกำกับดูแล อนุญาต ตรวจสอบ ในการจัดจำหน่ายพลุ

 

หมู่บ้านมูโนะที่มีพื้นที่ติดชายแดนมาเลเซีย สามารถใช้ช่องทางธรรมชาติโดยการข้ามเรือเล็กก็ไปได้ง่าย นอกจากด่านสุไหงโก-ลกที่เป็นด่านปกติ ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า ในช่วงก่อนจะถึงเทศกาลใหญ่ๆ ของประเทศมาเลเซีย จะมีการสั่งสินค้าประเภทพลุ ประทัด จากพื้นที่ไปจัดจำหน่าย หากพิจารณาในช่วงเวลานี้อีกไม่ถึงเดือน ก็จะเป็นวันชาติมาเลเซีย จะมีการจุดพลุกันอย่างยิ่งใหญ่ (วันที่ 31 สิงหาคม เป็นวันชาติของประเทศมาเลเซีย) ชาวบ้านบอกว่าอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีพลุในโกดังจำนวนมาก

 

คำถามที่สำคัญจากคนในพื้นที่ ทำไมโรงงานโกดังพลุจึงตั้งอยู่ท้ายตลาดของหมู่บ้าน มาตรการความปลอดภัยอยู่ตรงไหน? หากนับรวมถึงความสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ เช่น ใครเป็นเจ้าของ ใครจะรับผิดชอบ สินค้ามาได้อย่างไร ใครหรือ หน่วยงานใดเป็นองค์กรตรวจสอบ เจ้าหน้าที่รัฐอยู่เต็มพื้นที่แต่ไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้ สิ่งที่ร้ายแรงสุดคืออุบัติเหตุครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 10 คน บาดเจ็บเป็นร้อย ไม่นับรวมทรัพย์สินที่ต้องเสียหายจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านรู้ดีว่าพื้นที่แห่งนี้ยากที่ความยุติธรรมจะเข้าถึง

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์โกดังพลุระเบิด ท่ามกลางคำถามถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อีกมุมหนึ่งก็มีการตั้งคำถามถึงธุรกิจสีเทาที่อยู่ชายแดน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน บุหรี่ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด ฯลฯ ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อำนาจรัฐที่ล้นมือของเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้ แต่กลับเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งให้ธุรกิจนี้ คำถามที่เชื่อมโยงถึงแง่มุมทางเศรษฐกิจการเมือง และความโปร่งใสของการบริหารจัดงานในพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้จึงถูกจุดขึ้นในคืนเดียวกันในฐานะสาเหตุของเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดนี้ 

 

เมื่อไม่นานมานี้ งานวิชาการที่โด่งดังเผยให้เห็นธุรกิจในพื้นที่สีเทาในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือของประเทศ คือหนังสือที่ชื่อว่า ‘ส่วยชายแดน มานุษยวิทยากับการศึกษาคอร์รัปชัน’ โดย ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานศึกษาชิ้นนี้ได้เผยให้เห็นว่า ส่วย สินบน และการรีดไถนั้นดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นรูปแบบของการแลกเปลี่ยนชนิดหนึ่ง ที่บุคคลใช้เพื่อเชื่อมโยงกับรัฐด้วยวิธีที่หลากหลาย ถึงแม้ว่าส่วยชายแดนมักจะถูกจัดให้เป็นคอร์รัปชันขนาดย่อย ที่มีขนาดของจำนวนเงินที่ไม่มากนัก แต่กว้างขวางมากพอที่จะครอบคลุมความสัมพันธ์ในแทบทุกระดับ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั้งมีปืนและไม่มีปืน ทุนท้องถิ่น ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อย 

 

จากการศึกษาที่ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นตัวอย่างของแนวทางงานศึกษา ส่วยชายแดน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับนักวิชาการที่ต้องการศึกษาปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจทำให้เห็นพลวัตของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

 

การสืบสวนข้อเท็จและการเยียวยา

 

การสืบสวนข้อเท็จจริงให้รอบด้านถึงสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดที่มูโนะ จังหวัดนราธิวาสในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยคณะกรรมการในการสืบสวนข้อเท็จจริงต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชน ภาควิชาการ และภาคการเมือง ไม่ใช่แค่เพียงหน่วยงานราชการและเจ้าหน้าที่รัฐโดยตำแหน่งแต่เพียงอย่างเดียว พร้อมกับดำเนินการเยียวยาประชาชนที่ได้ความเดือดร้อนโดยตรง ไม่ว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 200 ครัวเรือน ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ 

 

มาตรการทั้งสองอย่างจะช่วยให้ประชาชนมีความไว้วางใจและความหวังต่อการทำงานของภาครัฐ ท่ามกลางคำถามจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้โกดังพลุอยู่ในหมู่บ้านได้อย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising