×

Spotlight Effect ทฤษฎีจิตวิทยาที่ทำให้เราไม่ต้องนอยด์อีกต่อไป เมื่อเกิดเรื่องน่าอาย

14.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘Spotlight Effect’ หรือสถานการณ์เมื่อเราสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และมักเข้าใจไปว่าทุกคนจะต้องให้ความสนใจสิ่งนั้นๆ อยู่เหมือนกัน
  • เรามักคิดไปเองว่าคนรอบตัวจะสนใจตัวเราก็ต่อเมื่อตัวเราเองสนใจในสิ่งๆ นั้นมากๆ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เราอับอายหรือสูญเสียความมั่นใจ เหตุการณ์นั้นจะทำให้เรายิ่งเพิ่มความสนใจ แล้วคิดไปเองว่าคนรอบตัวจะต้องสนใจความผิดพลาดนั้นๆ มากเท่ากับตัวเราเอง
  • นักจิตวิทยาระดับตำนานอย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า คนขี้อายคือคนที่หลงตัวเอง (Shy people are narcissists) เพราะแม้พวกเขาจะไม่ชอบเป็นจุดสนใจในสายตาคนอื่น แต่กลับเป็นจุดสนใจ (อย่างมาก) ในจิตใจของตัวเอง

     ตอนเด็กๆ ใครหลายคนอาจจะเคยใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียนในวันที่เพื่อนทั้งห้องใส่ชุดพละกันหมด หรืออาทิตย์ที่แล้วเดินสะดุดกลางออฟฟิศ จากนั้นก็อายเสียจนเก็บมาคิดตลอดวัน (หรือบางทีผ่านมาเป็นปีแล้ว นึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เหล่านั้นก็ยังน่าอายอยู่ดี) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่มีชื่อว่า ‘Spotlight Effect’ หรือสถานการณ์เมื่อเราสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และมักเข้าใจไปว่าทุกคนจะต้องให้ความสนใจสิ่งนั้นๆ อยู่เหมือนกัน

     ปี 2000 โทมัส กิโลวิช (Thomas Gilovich) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ได้ทำการทดลองภายใต้หัวข้อ ‘Spotlight Effect’ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มักเชื่อว่าคนอื่นรอบตัวสนใจพวกเขาเหมือนที่พวกเขาสนใจตัวเอง โดยกิโลวิชได้รวบรวมนักศึกษามาเป็นกลุ่มตัวอย่าง แล้วแบ่งกลุ่มให้พวกเขาทำแบบสำรวจในห้องประชุม โดยในแต่ละกลุ่มจะมีการสุ่มเลือกนักศึกษาถูกหนึ่งคนที่จะได้รับเวลานัดหมายช้ากว่าคนอื่น 5 นาที เมื่อเขามาถึง ทุกคนในห้องจะนั่งทำแบบสำรวจกันอย่างพร้อมเพรียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     หน้าห้องประชุม กิโลวิชยังขอให้นักศึกษาที่มาสายคนนั้นสวมเสื้อยืดสกรีนลายแบร์รี แมนิโลว์ (นักร้องชาวอเมริกันยุค 70s) ก่อนเข้าห้อง เหตุผลที่กลุ่มผู้ทำวิจัยเลือกศิลปินคนนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าทุกคนจะต้องรู้จัก เนื่องจากเขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในหมู่นักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเสื้อที่ทุกคนจะอับอายเมื่อต้องสวมใส่

     ก่อนจะปล่อยตัวนักศึกษาที่มาสายเข้าห้องพร้อมกับเสื้อลายแบร์รี แมนิโลว์ ทีมผู้ทำวิจัยได้ถามเขาว่า “คุณคิดว่าในห้องจะมีสักกี่คนที่สามารถจะบอกชื่อ หรือจดจำนักร้องบนเสื้อยืดคุณได้” ซึ่งจากผลการศึกษา โดยเฉลี่ยแล้วนักศึกษาที่ถูกบังคับให้ใส่เสื้อยืดสกรีนลายแบร์รี แมนิโลว์ จะคิดว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนในห้องนั้นสามารถจดจำเสื้อยืดของพวกเขาได้ แต่แท้จริงแล้วมีเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของคนในห้องเท่านั้นที่สังเกตเห็น!

     สรุปได้ว่า นักศึกษาที่มาสายมักจะเข้าใจไปเองว่าคนรอบตัวจะต้องสนใจเสื้อยืดอันน่าอับอายของตัวเองมากกว่าความเป็นจริง

     ในอีกการทดลองหนึ่ง กิโลวิชให้นักศึกษาสวมเสื้อยืดแบร์รี แมนิโลว์ นานขึ้น ก่อนจะปล่อยให้เดินเข้าห้องประชุมจนนักศึกษาที่สวมเสื้อเริ่มคุ้นเคยกับมัน ผลลัพธ์คือพวกเขาประเมินว่าจำนวนคนที่จะสนใจเสื้อยืดนั้นน้อยลง นั่นเป็นเพราะกลไกจิตใจที่เรามักคิดว่าคนรอบตัวจะสนใจก็ต่อเมื่อเราสนใจในสิ่งนั้นๆ มากๆ นี่เอง

     นี่อาจจะเป็นหนึ่งเหตุผลหลักของคนที่มักบอกว่าตัวเอง ‘ขี้อาย’ จนไม่กล้าเข้าสังคม เพราะพวกเขาอาจเผชิญกับจินตนาการในหัวตัวเองว่ากำลังถูกจ้องมองโดยคนรอบข้างจนทำให้ไม่กล้าที่จะตัดสินใจเริ่มทำอะไรสักอย่าง เช่น ไม่กล้าเดินเข้าไปทักอีกฝ่ายก่อน เพราะกลัวเขาจะจำไม่ได้ และอาจจะดูหน้าแตกในสายตาคนอื่น หรือแม้แต่การไม่กล้าลุกไปเข้าห้องน้ำขณะอยู่ในที่ประชุม เพราะกลัวว่าทุกคนจะต้องสนใจตอนที่คุณลุกขึ้นจากโต๊ะ

     ยังมีอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่มนุษย์เราหมกมุ่นกับตัวเองเสียจนไม่กล้าที่จะตัดสินใจทำอะไร นักจิตวิทยาระดับตำนานอย่างซิกมัน ฟรอยด์ เคยกล่าวไว้ว่า คนขี้อายคือคนที่หลงตัวเอง (Shy people are narcissists) เพราะแม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบเป็นจุดสนใจในสายตาคนอื่น แต่กลับเป็นจุดสนใจอย่างมากในจิตใจตัวเอง ทำนองเดียวกัน เวลาที่เราพูดหรือทำอะไรที่เกิดความภูมิใจจนคิดว่าคนอื่นจะต้องจดจำสิ่งนั้นๆ ได้ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาก็อาจจะไม่ได้สนใจขนาดนั้น

     เมื่อไรก็ตามที่คุณเจอเหตุการณ์ที่ไม่อยากจำ หรือเผลอทำสิ่งผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจจนต้องเก็บเข้าไปอยู่ในหมวดความทรงจำที่น่าอับอาย เรามีวิธีฝึกสมองให้คุณไม่ต้องจมปลักกับเหตุการณ์เหล่านั้นอีกต่อไป

     จากการศึกษาในปี 2014 โดยฟลอริน ดอลกอส (Florin Dolcos)ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอิลลินอยส์ ได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างแล้วให้พวกเขาลองจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อจิตใจ ฟลอรินใช้เครื่อง MRI ในการสแกนดูระบบการทำงานของสมองเมื่อมีการนึกถึงเหตุการณ์เหล่านั้น โดยผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกขอให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ อย่างละเอียด ทั้งสถานที่ เวลา สภาพอากาศ และบุคคลโดยรอบที่อยู่ในเหตุการณ์

     หลังจากนั้นทีมวิจัยจึงนำผลการสแกนสมองมาเปรียบเทียบดู และพบว่าเมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยนึกถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ส่งผลต่อความรู้สึกของเขา ปฏิกิริยาในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ก็ลดลงตาม วิธีการโฟกัสไปยังรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้จะช่วยลบความรู้สึกอับอาย หรือความทรงจำแย่ๆ ได้ง่ายขึ้น

     หลักการง่ายๆ เพียงแค่นึกถึงเหตุการณ์น่าอายที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของคุณ แล้วเปลี่ยนไปสนใจรายละเอียดในเรื่องที่ไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจแทน เช่น ลองจินตนาการถึงวันที่คุณออกไปนำเสนองานหน้าที่ประชุม แต่ดันพูดผิดพูดถูกจนทำให้สูญเสียความมั่นใจ หากคุณเริ่มรู้สึกอับอายขึ้นมาเมื่อไร ให้ลองเปลี่ยนจากมุมมองของนักแสดงหลักในเหตุการณ์นั้นมาเป็นมุมมองของผู้กำกับแทน ลองย้ายความสนใจไปยังคนที่อยู่ในที่ประชุมว่ามีใครนั่งอยู่บ้าง พวกเขาแต่งตัวอย่างไร สภาพอากาศวันนั้นฝนตกหรือเปล่า ทรงผมของเจ้านายที่ดูแปลกตา หรือสิ่งที่คุณเคยมองข้ามอื่นๆ ก็จะช่วยคลี่คลายปมน่าอับอายในอดีตได้ง่ายขึ้น

     หากใครมีปมน่าอับอายในอดีตที่ลืมไม่ได้สักที หรือกำลังมีปัญหาในการเข้าสังคมเพราะมัวแต่กังวลสายตาคนรอบข้าง ก็ลองนึกถึงหลักการของ Spotlight Effect เอาไว้ว่า ‘ไม่มีใครสนใจคุณเท่ากับที่คุณสนใจตัวเองหรอก เพราะพวกเขาก็กำลังสนใจตัวพวกเขาเองเหมือนกัน’

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising