×

สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม: การลงทุนอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะ

โดย Heritage Matters
11.04.2024
  • LOADING...

มรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประเทศไทย มิได้เป็นเพียงแหล่งความเพลิดเพลินและความภาคภูมิใจของประชาชนเท่านั้น แต่ยังนับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของประเทศรองจากประชากร และมรดกเหล่านี้ยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้คน เป็นสิ่งเกื้อหนุนสวัสดิการทางสังคมและเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เป็นสิ่งควรค่าแก่การดูแล

 

แม้กระนั้น น่าเสียดายที่ระบบการอนุรักษ์มรดกของประเทศนั้นยึดโยงไว้กับนโยบายที่มีอายุเกินกว่า 6 ทศวรรษ เป็นระบบที่มีมาตั้งแต่ก่อนยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูและการขยายตัวของเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบัน พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตคับแคบ ซึ่งจำกัดการคุ้มครองเฉพาะแหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุ และสถาปัตยกรรมที่มีอายุเก่าแก่มาก ซึ่งโดยปกติจะมีอายุมากกว่า 100 ปี

 

มรดกที่มีค่ามากมายนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ และทั่วทุกถิ่นในประเทศไทยมรดกดังกล่าวนั้นได้ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันตลอดจนวัฒนธรรมร่วมสมัย ให้ลองระลึกถึงย่านเมืองเก่า ชุมชนตึกแถว ชุมชนริมน้ำ วัด แผงลอยขายของ ตลาดสด บ้านไม้เก่าแก่ อาคารสาธารณะ และมรดกทางอุตสาหกรรม เช่น สถานีรถไฟเก่า และโกดังสินค้า

 

ถึงแม้มรดกเหล่านี้จะมีคุณค่าสูง แต่ส่วนใหญ่ขาดการคุ้มครองจากทางการหรือขาดงบประมาณสำหรับการอนุรักษ์ กรมศิลปากร สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับงบประมาณประจำปี 2566 เพียง 2.2 พันล้านบาท แต่มีภารกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการอนุรักษ์ กรมศิลปากรมีการออกคำเตือนเพื่อคุ้มครองสินทรัพย์ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่หน่วยงานอื่นๆ นั้นมักขาดกำลังความสามารถหรือขาดความตั้งใจในการดำเนินการ

 

ด้วยระบบอันล้าสมัย ประเทศไทยจึงสูญเสียทรัพยากรที่เป็นมรดกอันล้ำค่าไปในทุกๆ ปี ในขณะเดียวกัน การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมก็ไม่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระดับชาติ เฉกเช่นในหลายประเทศ เรื่องเหล่านี้มักไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับภาคประชาชน หน่วยงานราชการ หรือผู้นำทางการเมือง ซึ่งทำให้บรรษัทข้ามชาติ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และสถาบันต่างๆ มีอิสระในการแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นจนทำให้มรดกเหล่านี้ทรุดโทรมก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมในระยะยาว

 

สถานการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนี้ รัฐบาลควรพัฒนาแนวทางใหม่ที่มีพลวัตมากขึ้น โดยปรับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย เพื่อปฏิรูปนโยบาย กฎหมาย และข้อบังคับด้านมรดกของชาติ ภายใต้แผนระยะยาว มรดกทางวัฒนธรรมของทุกจังหวัดควรได้รับการสำรวจ โดยมีสิ่งจูงใจ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณและการมีส่วนร่วมจากท้องถิ่น ประเทศไทยควรจัดตั้งสถาบันเฉพาะทางขึ้น เช่นเดียวกับองค์กรพิทักษ์มรดกแห่งชาติแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (National Trust of Korea) หรือองค์กรเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอินเดีย (Indian National Trust for Art and Cultural Heritage)

 

เมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างโครงการยักษ์มูลค่ากว่าล้านล้านบาท การลงทุนในสินทรัพย์ด้านมรดกทางวัฒนธรรมจะมีต้นทุนที่ต่ำมาก เพราะในความเป็นจริงแล้ว มรดกเหล่านี้ได้ถูกสร้างไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม การรักษามรดกเหล่านี้ไว้จะเป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าในทุกจังหวัด ตัวอย่างในประเทศไทยและทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า มรดกทางวัฒนธรรมนั้นช่วยส่งเสริมการศึกษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อาชีพ ชุมชน ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่น และคุณภาพชีวิต

 

การจัดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้ง

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

รากเหง้าแห่งความสร้างสรรค์

 

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวอย่างที่ดี ชาวไทยที่เป็นสถาปนิก นักออกแบบ ศิลปิน นักจัดนิทรรศการ นักดนตรี นักแสดง ผู้สร้างภาพยนตร์ และบุคลากรด้านสร้างสรรค์อื่นๆ มักดึงเอาแรงบันดาลใจจากทรัพยากรมรดกทางวัฒนธรรมมาใช้เป็นทุนในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อยู่เสมอ พิพิธภัณฑ์ อาคารเก่า และสถานที่อันร่ำรวยด้วยประวัติศาสตร์ล้วนเป็นแหล่งบ่มเพาะแรงบันดาลใจที่ทรงพลัง ทั้งศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย ดนตรี การฟ้อนรำ เทศกาล วรรณกรรม และอาหารท้องถิ่น ล้วนเป็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างสรรค์มาหลายทศวรรษหรือหลายศตวรรษที่ผ่านมา แต่กลับยังคงสร้างคุณค่าอยู่จนถึงทุกวันนี้

 

ทั้งหมดนี้ได้รับการฟื้นคืนชีวิตชีวาขึ้นมาที่ในงานไทยแลนด์เบียนนาเล่ (Thailand Biennale) หรืองานแสดงศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติ ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายจนถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม งานนี้นำโดยทีมนักจัดนิทรรศการชาวไทยผู้มีประสบการณ์ยาวนาน และมีการนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอย่างละเอียดอ่อน โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพและวัฒนธรรมเป็นอันดับแรก แทนที่จะเป็นด้านการค้าและการท่องเที่ยว

 

ศิลปินกว่า 60 คนจากประเทศไทยและอีก 25 ประเทศทั่วโลกได้ทำงานร่วมกันกับช่างฝีมือท้องถิ่น นำวัสดุ ตลอดจนเรื่องราวท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมาในบริบทของเชียงรายโดยเฉพาะ ผลงานศิลปะเหล่านี้จะกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดบนพื้นที่ภูเขา มากกว่า 20 แห่ง ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ โรงเก็บยาสูบเก่า ขบวนรถไฟ ศูนย์ปฏิบัติธรรม และเจดีย์โบราณ นอกจากนี้ ชุมชนต่างๆ ยังจัดแสดงผลงานของศิลปินอีกหลายร้อยท่าน เปิดโอกาสให้เข้าชมสตูดิโอได้อย่างใกล้ชิด มีทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การฉายหนังกลางแปลง อาหารริมทาง กิจกรรมสำหรับเด็ก และการแสดงดนตรี นาฏกรรม ครบครันแบบเทศกาลไทยแท้ 

 

พลังแห่งความหลากหลาย

 

เพื่อความชัดเจน งานไทยแลนด์เบียนนาเล่ไม่ใช่โครงการอนุรักษ์ แต่เป็นเพียงโครงการทดลองและจัดขึ้นแบบชั่วคราว ไม่ได้มุ่งเน้นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่เสี่ยงถูกทำลาย บันทึกประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าสืบต่อกันมา หรือวิจัยโบราณวัตถุ แนวทางการอนุรักษ์ดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกจังหวัด แต่กิจกรรมเบียนนาเล่ของประเทศไทยจะช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่าให้เป็นที่ประจักษ์ ช่วยยกย่องพลังของชุมชน ความหลากหลาย มุมมองเชิงวิพากษ์ และการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

แนวทางการจัดงานเชิงทดลองนี้สะท้อนถึงธรรมชาติของศิลปะร่วมสมัย ทุกวันนี้ศิลปะไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของภาพวาดและประติมากรรมที่สวยงามเท่านั้น ศิลปินปัจจุบันต้องการเปิดผัสสะและจิตใจให้กับประสบการณ์ใหม่และมุมมองเกี่ยวกับตัวตนและโลก ณ งานเบียนนาเล่ ศิลปินได้รวมเอามรดกทางวัฒนธรรมมารังสรรค์ลวดลายอันละลานตาด้วยโลกทัศน์อันหลากหลายของอดีตที่ผ่านมา

 

ตัวอย่างหนึ่งคือภาพยนตร์สารคดี เรื่อง ‘พลัดถิ่น ดินแดนใคร’ (Displaced in Whose Land?) ของ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล ศิลปินไทย-อินเดียจากเชียงใหม่จังหวัดใกล้เคียง ในภาพยนตร์เรื่องนี้ตัวเขาได้เดินทางไปพบปะพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้านอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างร่วมรับประทานก๋วยเตี๋ยวสูตรเฉพาะที่สืบทอดกันมาของแต่ละครอบครัว เขาได้เรียนรู้เรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานของบรรพบุรุษของผู้คนเหล่านั้น ภาพยนตร์นั้นเผยให้ทราบว่าบางชุมชนในพื้นที่นั้นมีความคล้ายคลึงกับผู้คนชาวเมียนมา ลาว และจีนมากกว่ากับคนกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านได้อพยพเข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นเวลานับพันปีแล้ว ภัณฑารักษ์ต่างเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น’ (Translocalism) ซึ่งเป็นความเป็นจริงของจังหวัดที่อยู่ชายแดน นอกจากนี้ นาวินยังได้วาดป้ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่สไตล์บอลลีวูดเพื่อแสดงภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

 

รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ศิลปินผู้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale เล่าเรื่องผลงานศิลปะของตนเองที่ช่วยให้ชาวบ้านได้อนุรักษ์บ้านไม้สักเก่า 

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจคือ กลุ่ม 101 เฮือนโบราณล้านนา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าบ้านไม้เก่าแก่ของไทยนั้นยังคงถูกรักษาเอาไว้ได้ ศิลปินนามว่ารุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ได้อุทิศเวลานับปีในการช่วยเหลือครอบครัวต่างๆ ให้อนุรักษ์บ้านพักอาศัยของพวกเขา แทนที่จะขายไม้สักเป็นเศษซาก ผลงานจิตรกรรมของเขาสะท้อนถึงความงดงามของสถาปัตยกรรมอันมีความสำคัญเหล่านี้

 

ชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงมักจะถูกนำเสนอในแคมเปญการท่องเที่ยวและโครงการเพื่อการกุศล แต่ที่งานเบียนนาเล่ครั้งนี้ ชาวเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสสื่อสารด้วยตนเอง บู๊ซือ อาจอ ศิลปินชาติพันธุ์อาข่าผู้ซึ่งเรียนรู้ศิลปะด้วยตนเอง นำเสนอผลงานจิตรกรรมแนวศิลปะเอ็กซ์เพรสชันนิสม์บนหนังสัตว์ เล่าเรื่องราวของวิญญาณบรรพบุรุษ ซึ่งในเดือนเมษายนเบียนนาเล่จะจัดงานเทศกาลดนตรีของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองบนพื้นที่สูงด้วย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการผลงานของศิลปินมุสลิมจากภาคใต้ตอนลึกของประเทศไทยด้วย

 

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินจากจังหวัดเชียงรายและหนึ่งในผู้จัดงาน ได้กล่าวว่า การให้โอกาสทุกคนอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดของงานเบียนนาเล่ในครั้งนี้ ในระดับนานาชาติงานศิลปะเบียนนาเล่มักจะเป็นงานสำหรับชนชั้นสูง จัดขึ้นในเมืองใหญ่ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ โดยมีมหาเศรษฐี คนมีชื่อเสียง และศิลปินดาวเด่นมาร่วมงาน ผลงานศิลปะชิ้นใหญ่จะถูกขนส่งมาด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาลและปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

การจัดแสดงผลงานศิลปะกลางแจ้งที่อำเภอเชียงแสน นำเสนอภาพวาดเก่าแสดงวิธีการจับปลาบึกแม่น้ำโขง

(ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

คนท้องถิ่นต้องมาก่อน

 

ทีมงานชาวไทยจึงเลือกจะแทนที่ด้วยการเชิญศิลปินทั้งหลายส่วนใหญ่มาสร้างสรรค์ผลงานที่สถานที่จัดงาน โดยร่วมมือกับช่างปั้นหม้อ ช่างปักผ้า ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ และช่างทอผ้าท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น หวังเหวินจี้ ศิลปินชาวไต้หวัน ได้สั่งซื้อไม้ไผ่จำนวน 20,000 ลำจากผู้จำหน่ายในจังหวัดเชียงราย และร่วมงานกับช่างฝีมือท้องถิ่นในการสร้างศาลาไม้ไผ่ที่สวยงามสำหรับจัดแสดงงานประติมากรรม ช่างฝีมือไทยและไต้หวันจึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคจากกันและกัน

 

ชุมชนหลากหลายของจังหวัดเชียงราย ได้เปิดรับโอกาสในการสำรวจประวัติศาสตร์ความเป็นมาและความคิดสร้างสรรค์ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติผู้มีชื่อเสียงจากการสร้างวัดร่องขุ่น สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ซึ่งเป็นสถานที่หลักในการจัดงานครั้งนี้ นักธุรกิจท้องถิ่นรายหนึ่งบริจาคเงิน 9 ล้านบาท พร้อมที่ดิน 6 ไร่ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครนับร้อยคนมาช่วยงานนี้

 

“ชาวเชียงรายรู้สึกเสมือนว่าตนเองเป็นเจ้าภาพผู้จัดงาน ว่าพวกเขาต่างหากที่เป็นหัวหน้างาน ไม่ใช่รัฐบาล” อังกฤษกล่าว “ผู้คนบอกผมว่า นักจัดงานนั้นทำงานหลายสิ่งเหลือเกิน แต่มีอีกหลายโครงการที่พวกเราไม่เคยได้รู้เลยด้วยซ้ำ มันเหมือนเราได้ปลูกต้นไม้และรดน้ำ แล้วตอนนี้ต้นไม้และดอกไม้ก็เติบโตขึ้นมาอยู่รอบไปหมด”

 

เบียนนาเล่ในอนาคตจะหมดสีสันหากมรดกท้องถิ่นยังคงทยอยสูญหายไป การลงทุนระดับชาติในด้านทรัพยากรสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศไทยจะช่วยเป็นหลักประกันได้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมจะยังคงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะไปอีกหลายทศวรรษ

 


 

ผู้เขียน: ไบรอัน เมอร์เทนส์ เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งคอลัมน์ Heritage Matters และเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือ Architecture of Thailand 

 

คำอธิบายภาพเปิด: การแสดงนาฏศิลป์ดั้งเดิมโดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ด้านหน้าผลงานศิลปะภาพบิลบอร์ดโรงภาพยนตร์ โดยศิลปิน นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย (ภาพ: ไบรอัน เมอร์เทนส์)

 

บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X