×

บุษบาลุยไฟ เรื่องของผู้หญิงธรรมดาที่มักถูกมองข้ามในหน้าประวัติศาสตร์

14.07.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • เรื่องของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ไทยอาจมีการพูดถึงอยู่บ้างทั้งในรูปแบบการเชิดชูวีรกรรมอย่างที่เราเคยได้เห็นกัน ทั้ง พระศรีสุริโยทัย, ท้าวสุรนารี หรือย่าโม, ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ฯลฯ หรือไม่ก็ถูกประณามเพราะริอ่านเข้ามายุ่งในเกมการเมืองอย่างท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่สำหรับ บุษบาลุยไฟ คือการหยิบจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ของ ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’ มาขยายความต่อถึงแนวคิดสตรีนิยมในยุครัชกาลที่ 3 ที่มักไม่มีใครพูดถึง
  • บุษบาลุยไฟ ยังพูดถึงชะตากรรมของผู้หญิงในยุคนั้นที่มีทางเลือกไม่มากนัก ผ่านตัวละครนวลและน้อยที่ต้องยอมแต่งงานกับเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงรุ่นราวคราวพ่ออย่างไม่เต็มใจ และใช้ชีวิตไปตามกรอบประเพณี ที่น่าตกใจคือเรื่องราวเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดียวกันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง 

เรื่องของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ไทยอาจมีการพูดถึงอยู่บ้างทั้งในรูปแบบการเชิดชูวีรกรรมอย่างที่เราเคยได้เห็นกัน ทั้ง พระศรีสุริโยทัย, ท้าวสุรนารี หรือย่าโม, ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ฯลฯ หรือไม่ก็ถูกประณามเพราะริอ่านเข้ามายุ่งในเกมการเมืองอย่างท้าวศรีสุดาจันทร์ แต่สำหรับ บุษบาลุยไฟ คือการหยิบจุดเล็กๆ ในประวัติศาสตร์ของ ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’ มาขยายความต่อถึงแนวคิดสตรีนิยมในยุครัชกาลที่ 3 ที่มักไม่มีใครพูดถึง

 

บุษบาท่าเรือจ้าง หรือ คุณพุ่ม เป็นธิดาของพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างจากผู้หญิงในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ต้องเรียบร้อยอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่คุณพุ่มได้ร่ำเรียนเขียนอ่านและเป็นกวีฝีปากกล้าต่อกลอนสักวากับผู้ชายได้อย่างถึงพริกถึงขิง เมื่อโตเป็นสาวก็เข้ารับราชการฝ่ายในจึงมีความสนิทสนมกับเจ้านายในวัง แต่ด้วยความที่เป็นคนรักอิสรเสรี ไม่ติดอยู่ในกรอบประเพณี จึงกราบถวายบังคมลากลับบ้านมาอาศัยอยู่ที่แพท่าพระ ในช่วงเวลานั้นมีเจ้านายผู้ชื่นชอบในบทกวีซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมาต่อกลอนกับคุณพุ่มอยู่เสมอ จนเธอมีชื่อเสียงไปทั่วทั้งพระนคร 

 

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นผู้หญิงสวย มีเสน่ห์ แต่คุณพุ่มก็ครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิต ส่วนที่มาของฉายาบุษบาท่าเรือจ้างก็มาจากการว่าสักวาเรื่อง อิเหนา โดยกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ว่าบทของอิเหนา ส่วนบทบุษบาก็คือคุณพุ่ม และท่าเรือจ้างก็คือบริเวณใกล้ๆ แพท่าพระนั่นเอง

 

 

บุษบาลุยไฟ เล่าเรื่องราวของ ลำจวน (เฌอปราง อารีย์กุล) เป็นลูกสาวของ นางจำปา (ลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ ) เมียรองของ นายสุ่น (เอ็กซ์-พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง) เจ้าของคณะละครนอก ลำจวนเป็นเด็กหัวไว ช่างจดจำและอยากเรียนหนังสือแตกต่างจากพี่สาวต่างมารดาคือ นวล (แพรว-หัสสยา อิสริยะเสรีกุล) และ น้อย (พิม-ลัทธ์กมล ปิ่นโรจน์กีรติ) ที่เป็นสาวเรียบร้อยรอวันมีสามีตามแบบฉบับของผู้หญิงในยุคนั้น สมัยยังเล็กลำจวนได้เจอกับ ฮุน (โทนี่ รากแก่น) ชายกำพร้าชาวจีนต่ำต้อยผู้ใฝ่ฝันจะเป็นช่างเขียนภาพ จนกระทั่งผ่านไป 6 ปี ฮุนได้พบกับลำจวนอีกครั้งและตกหลุมรักเธอ แต่ลำจวนเป็นที่หมายปองของ เจ้าคุณอินทรา (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงาน ลำจวนหนีไปเป็นลูกศิษย์ของบุษบาท่าเรือจ้างหรือ คุณพุ่ม (บัว-ภัทรสุดา อนุมานราชธน) โดยต้องปลอมตัวเป็นผู้ชายในชื่อเฉก แต่แล้วในงานว่าสักวาในคืนลอยกระทง หลวงอินทรากลับจำเธอได้ และต้องการจับตัวไปลงโทษ เรื่องราวจะจบลงอย่างไรต้องไปติดตามกันต่อในละคร 

 

ถ้าใครเคยชื่นชอบละครเรื่อง หมอหลวง เพราะความกลมกล่อมของเกร็ดประวัติศาสตร์สอดแทรกไปในเนื้อหาของละคร บุษบาลุยไฟ พร้อมเสิร์ฟสิ่งเหล่านั้น และออกจะเข้มข้นกว่าตามสไตล์ละคร Thai PBS ที่เคยมีผลงานยอดเยี่ยมอย่าง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ด้วยการหยิบประวัติศาสตร์จุดเล็กๆ มาตีแผ่ให้คนในวงกว้างได้รู้จัก ทั้งประวัติศาสตร์มหรสพไทยอย่างการที่ราชสำนักยกเลิกละครใน แล้วให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีคณะละครผู้หญิงของตัวเองได้ 

 

 

รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ผสมปนเปจนกลายเป็น ‘ไทย’ ไม่ว่าจะเป็นตัวของลำจวนที่เป็นลูกครึ่งไทย-สปป.ลาว จำปาที่ย้ายจากแคว้นจำปาสักมาอยู่ที่โคราชปักธงชัย ซึ่งนานๆ ทีจะมีตัวละครสาวอีสานเข้ามาแทนที่สาวล้านนาคั่งแค้นอย่างที่เห็นกันบ่อยๆ ในละคร ยิ่งไปกว่านั้นตัวละครจำปายังเป็นผู้หญิงที่มีอาชีพค้าขายผ้าไหม และต้องติดต่อกับคนจากหลายๆ วัฒนธรรมทั้ง ไทย จีน ฝรั่ง และมุสลิม สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของสังคมที่มีมานานแล้ว แต่จุดใหญ่ของเรื่องที่นำเสนอคือสิทธิสตรีผ่านการตั้งคำถามของลำจวนตั้งแต่ยังเล็ก รวมทั้งการวางคาแรกเตอร์ให้จำปาเป็นผู้หญิงที่มีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ในกรอบที่ต้องมีสามีอยู่ดี 

 

“โตขึ้นก็ทำมาค้าขายเหมือนแม่ จะได้หาผัวดีๆ” 

 

“แปลว่าสุดท้ายก็ต้องหาผัวอยู่ดี ทำมาหากินเก่งๆ ไม่ต้องหาผัวไม่ได้เหรอ” 

 

บทสนทนาระหว่างพระบุญลือ พี่ชายต่างบิดากับลำจวน ตอนที่เธอบอกถึงความใฝ่ฝันว่าอยากเกิดเป็นผู้ชาย จะได้เรียนหนังสือและจะเรียนให้เก่งจนถึงขั้นได้เป็นสมภาร ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในยุคที่เด็กผู้หญิงเล่นสมุดหนังสือก็ถือเป็นเรื่องต้องห้ามแล้ว 

 

 

บุษบาลุยไฟ ยังพูดถึงชะตากรรมของผู้หญิงในยุคนั้นที่มีทางเลือกไม่มากนักผ่านตัวละครนวลและน้อยที่ต้องยอมแต่งงานกับเจ้านายและข้าราชการชั้นสูงรุ่นราวคราวพ่ออย่างไม่เต็มใจ และใช้ชีวิตไปตามกรอบประเพณี ที่น่าตกใจคือเรื่องราวเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นจากคนกลุ่มเดียวกันเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง นอกจากนี้ในเรื่องยังพยายามสอดแทรกประเด็น Child Marriage ผ่านบทสนทนาของแม่สื่อในเรื่อง “มีระดูแล้ว เป็นใช้ได้” จึงไม่น่าแปลกใจที่ลำจวนพยายามหนีไปหาไอดอลหญิงคนเดียวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างคุณพุ่มหรือบุษบาท่าเรือจ้าง สาวโสดผู้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับคำติฉินนินทาของผู้คนในยุคนั้น 

 

นอกเหนือจากเรื่องสิทธิสตรี บุษบาลุยไฟ ยังพูดถึงคนตัวเล็กๆ ในประวัติศาสตร์อย่างเช่นตัวละคร ฮุน หนุ่มชาวจีนอพยพผู้ฝันอยากเป็นช่างเขียนว่ามีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร สอดแทรกเทคนิคการวาดภาพในสมัยนั้นที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงผ่านละครมากนัก และถึงจะมีเกร็ดความรู้สอดแทรกอยู่มากมาย ละครเรื่องนี้ก็ไม่ได้เคร่งเครียด และมีเรื่องราวดราม่าไม่ต่างจากละครสนุกๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

ในส่วนของโปรดักชันต้องชื่นชมในแง่องค์ประกอบศิลป์ที่ทำออกมาได้อย่างพอดิบพอดี รวมทั้งแคสติ้งตัวละครได้เหมาะสมกับบท ทั้งเฌอปรางซึ่งทำให้เราเชื่อได้ว่านี่คือเด็กสาวขี้สงสัย หน้าตาน่ารักชวนมองจนเป็นที่หมายปองของใครต่อใคร และที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษคือบทจำปาที่ลูกหว้า พิจิกา ถ่ายทอดความเป็นแม่ผู้อยากปกป้องลูก แต่ก็ไม่แกร่งพอจะต้านแรงสังคมออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

 

ถ้ากำลังมองหาละครพีเรียดไม่มีพิษมีภัยสอดแทรกความรู้เข้ากับเรื่องดราม่าได้อย่างกลมกล่อม บุษบาลุยไฟ เป็นตัวเลือกที่เหมาะมากๆ สำหรับคุณ ออกอากาศทุกวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 20.15 น. และชมย้อนหลังได้ที่แอปพลิเคชัน VIPA 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X