×

หรือโลกจะไม่ได้หันขวา? ถอดบทเรียนความเพลี่ยงพล้ำของพรรคฝ่ายขวาเมื่อหน้าข่าวมีผลต่ออุดมการณ์

16.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • ความเพลี่ยงพล้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพรรคการเมืองและผู้สมัครฝ่ายขวาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งกลางปีนี้ ทำให้ต้องกลับไปตั้งคำถามว่า หรือโลกจะไม่ได้ ‘หันขวา’ อย่างที่คิด
  • เมื่อปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคงเกิดจาก ‘คนอื่น’ การแก้ปัญหาจึงเป็นการผลักดันให้ ‘คนอื่น’​ หมดไป ดังนั้นนโยบายของพรรคฝ่ายขวาจึงไม่มีกลุ่มเป้าหมายหรือแนวทางที่ชัดเจน นอกจากการย้อนเวลากลับสู่สังคมก่อนที่จะมี ‘ความเป็นอื่น’
  • จะเห็นได้ว่าความนิยมของพรรคฝ่ายขวาเป็นผลมาจากการสร้างความรู้สึก ‘เกลียดชัง’ และ ‘หวาดกลัว’ มากกว่ารากฐานทางด้านอุดมการณ์ดังที่เราเข้าใจ
  • การสนับสนุนฝ่ายขวาในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความหวาดกลัวจากการเสพข่าวสารที่ถูกนำเสนอโดยทั่วไป มากกว่าการเลือกเสพข่าวอันมาจากอุดมการณ์ที่ยึดถือ ดังนั้นความหวาดกลัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์โดยตรงนี้อาจยั่งยืนน้อยกว่า

     เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา นายนอร์เบิร์ต โฮเฟอร์ ผู้สมัครจากพรรคเสรีภาพพลิกโผแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรีย แม้ผลการสำรวจจะชี้ว่าเขามีโอกาสชนะสูงมาโดยตลอด

     เมื่อเดือนมีนาคม เคียร์ต ไวลเดอร์ส หัวหน้าพรรคเพื่อเสรีภาพ เจ้าของแนวคิดขวาจัด ต่อต้านศาสนาอิสลาม และสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรป ผู้ได้ฉายาว่า ‘ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์’ พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคประชาชนเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย แม้ว่าจะมีคะแนนนำอย่างต่อเนื่อง

     เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม มารีน เลอ แปน ผู้สมัครจากพรรคแนวร่วมแห่งชาติซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งทั้งทางด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ แพ้ให้กับ เอ็มมานูแอล มาครง ซึ่งมีนโยบายสายกลางมากกว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

     ปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน ผลสำรวจการยอมรับการทำงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลดฮวบฮาบเหลือเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ หลังมีข่าวว่าทรัมป์เปิดเผยข้อมูลลับให้นักการทูตรัสเซีย และยุ่มย่ามกับการสืบสวนของเอฟบีไอ โดยเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เขาได้รับการเลือกตั้ง ต่ำกว่าการยอมรับการทำงานของประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่สำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนหลังได้รับการเลือกตั้ง และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการยอมรับการทำงานของประธานาธิบดีทุกคน

     และล่าสุดแม้ว่าพรรคอนุรักษนิยมซึ่งนำโดย เทเรซา เมย์ จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ แต่เป็นการชนะที่ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลดลงจากที่นั่งที่มีก่อนการเลือกตั้ง ทำให้พรรคอนุรักษนิยมต้องจับมือกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลต่อความไม่แน่นอนของกระบวนการออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งมีนโยบายกลางค่อนไปทางซ้ายและมีผู้นำที่เปิดตัวว่าซ้ายสุดโต่งกลับได้ที่นั่งเพิ่มมากขึ้น

     ความเพลี่ยงพล้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพรรคการเมืองและผู้สมัครฝ่ายขวาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งกลางปีนี้ ทำให้ต้องกลับไปตั้งคำถามกับการคาดการณ์เรื่องกระแสความนิยมของฝ่ายขวาว่า หรือโลกจะไม่ได้ ‘หันขวา’ อย่างที่คิด

 

ถอดรหัสประชานิยมปีกขวา

     ย้อนกลับไปเมื่อปีที่ผ่านมา การชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ในสหรัฐฯ การตัดสินใจโหวตออกจากสหภาพยุโรปในสหราชอาณาจักร และคะแนนความนิยมที่เพิ่มขึ้นสูงของผู้สมัครฝ่ายขวาในหลายประเทศในยุโรป ก่อให้เกิดความกังวลต่อการเติบโตของกระแส ‘ประชานิยมปีกขวา’

     ‘ประชานิยม’ เป็นคำที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง โดยมากพูดถึงพรรคการเมืองที่มีนโยบายเอาอกเอาใจชาวรากหญ้า คำคำนี้มีที่มาที่ไปจากการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวอเมริกันในช่วงทศวรรษที่ 1890 ที่ต้องการท้าทายการเมืองสองพรรค ซึ่งยึดถือผลประโยชน์ด้านการเงินของชนชั้นนำทางการเมืองเป็นสารัตถะสำคัญ สุดท้ายการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ถูกควบรวมเข้าสู่พรรคเดโมแครต และทำให้ฐานนโยบายของพรรคเดโมแครตขยับไปทางซ้ายยิ่งขึ้น

     ดังนั้นคำว่าประชานิยมจึงมีรากฐานมาจากการวางตัวอยู่ตรงกันข้ามกับกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง

     ‘ประชานิยมปีกขวา’ แม้ไม่ใช่คำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่เสียทีเดียว แต่ถูกใช้อย่างแพร่หลายเพื่ออธิบายความนิยมที่เพิ่มขึ้นของกระแสฝ่ายขวาในช่วงปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วประชานิยมปีกขวาวางตัวอยู่ตรงข้ามกับกลุ่มบุคคลที่มีอัตลักษณ์แปลกแยกกับอัตลักษณ์กระแสหลักของชาติ ซึ่งรวมถึงผู้อพยพ ผู้นับถือศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาหลักของชาติ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งความหลากหลายนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีนโยบายสายกลางสนับสนุน

     นอกจากนี้ประชานิยมปีกขวายังพยายามทำลายกรอบบรรทัดฐานเรื่องความเหมาะสมทางสังคม โดยเฉพาะการใช้ภาษาให้ ‘ถูกต้องทางการเมือง’​ (Political Correctness: PC) ซึ่งเป็นกรอบคิดที่ถูกมองว่าพัฒนามาจากกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองในปัจจุบันเช่นเดียวกัน

     ส่วนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ที่แม้ว่าจะถูกนำมาพูดถึงในการหาเสียงของพรรคฝ่ายขวาของแต่ละประเทศเช่นเดียวกัน แต่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องรอง เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับการยกขึ้นมาล้วนถูกเชื่อมโยงกับปัญหาอัตลักษณ์ที่เป็นอื่น

     ในกรณีสหรัฐฯ ทรัมป์พยายามชูว่าปัญหาคนตกงานเกี่ยวข้องกับการล้นทะลักของแรงงานจากเม็กซิโก ซึ่งนับเป็น ‘คนอื่น’ ส่วนในยุโรป พรรคฝ่ายขวาเชื่อมโยงปัญหาทางเศรษฐกิจกับการแบกรับค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือกับผู้อพยพ ซึ่งก็เป็น ‘คนอื่น’

     เมื่อปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือความมั่นคงเกิดจาก ‘คนอื่น’ การแก้ปัญหาจึงเป็นการผลักดันให้ ‘คนอื่น’​ หมดไป ดังนั้นนโยบายของพรรคฝ่ายขวาจึงไม่มีกลุ่มเป้าหมายหรือแนวทางที่ชัดเจน นอกไปเสียจากว่าจะย้อนเวลากลับสู่สังคม ‘ก่อน’ ที่จะมี ‘ความเป็นอื่น’

     อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลจากการเน้นย้ำวาทกรรมเรื่อง ‘คนอื่น’ หรือ ‘ความเป็นอื่น’ คือการวาดภาพ ‘ตัวร้าย’ ของสังคม ตัวร้ายที่ทุกคนควรจะหวาดกลัว ตัวร้ายที่ทุกคนควรกำจัด และเมื่อสังคมเกิดความหวาดกลัว สังคมจึงให้ความชอบธรรมกับการดำเนินนโยบายของฝ่ายขวา

     เช่นนี้แล้วจะเห็นได้ว่าความนิยมของพรรคฝ่ายขวาเป็นผลมาจากการสร้างความรู้สึก ‘เกลียดชัง’ และ ‘หวาดกลัว’ มากกว่ารากฐานทางด้านอุดมการณ์ดังที่เราเข้าใจ

 

เพราะเป็นอารมณ์จึงไม่จีรัง

     จริงอยู่ที่อารมณ์ของคนมีความเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่าที่คิด ผลวิจัยของนักจิตวิทยาพบว่าคนที่มีแนวคิดค่อนขวาจะรับรู้เรื่องภัยคุกคาม ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกหวาดกลัวได้ง่ายกว่า ในขณะที่คนที่มีแนวคิดค่อนไปทางซ้ายมักจะรับรู้ถึงโอกาส และมีความหวังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า

     ความรู้สึกหวาดกลัวหรือมีความหวังนี้ยังส่งผลต่อการเลือกรับข่าวสารของคน เช่น คนที่รู้สึกหวาดกลัวก็จะเลือกรับข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคาม ซึ่งยิ่งทำให้หวาดกลัวยิ่งขึ้น และคนที่มีความหวังก็จะเลือกรับแต่ข่าวสารที่พูดถึงโอกาสในการแก้ปัญหาใหม่ๆ

     แต่ในช่วงที่ข่าวสารกระแสหลักเต็มไปด้วยเรื่องราวของการก่อการร้ายและการอพยพอย่างเช่นที่ผ่านมา สมควรที่เราจะตั้งคำถามว่าคนมีทางเลือกในการรับข่าวสารมากน้อยแค่ไหน และถ้าคำตอบคือคนมีทางเลือกในการรับข่าวสารลดน้อยลงแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าความหวาดกลัวที่แพร่ขยายในช่วงที่ผ่านมาเป็นความกลัวที่ยึดโยงกับอุดมการณ์น้อยกว่าที่เราคิด

     หากสมมติฐานนี้เป็นจริง เราจะเห็นว่าการสนับสนุนฝ่ายขวาในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากความหวาดกลัวจากการเสพข่าวสารที่ถูกนำเสนอโดยทั่วไป มากกว่าการเลือกเสพข่าวอันมาจากอุดมการณ์ที่ยึดถือ

     แม้ว่าทั้งสองกรณีจะนำไปสู่ความหวาดกลัวที่ส่งผลต่อการสนับสนุนนโยบายอนุรักษนิยมเช่นเดียวกัน แต่ความหวาดกลัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์โดยตรงนี้อาจยั่งยืนน้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อมูลที่ถูกนำเสนอในหน้าข่าวเปลี่ยนแปลงไป คนเหล่านี้ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดได้อย่างรวดเร็ว

     และเมื่อถามว่าข้อมูลอะไรที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนใจนี้ แน่นอนคงชี้ชัดลงไปได้ยาก แต่นโยบายอันน่างุนงงของสหรัฐอเมริกาภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจทำให้หลายคนเฉลียวใจได้ไม่น้อย

 

ภาพประกอบ: AeA oranun

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X