×

โหวตศิลปินไป MTV คือเกียรติยศของชาติ? เมื่ออาเซียนก้าวไม่พ้นชาตินิยม

30.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • น่าแปลกคือแม้หลายครั้งดนตรีที่ว่าจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็น ‘ชาติ’ แต่เพราะศิลปินเป็นคนใน ‘ชาติ’ ความรู้สึกว่าต้องผูกติด ‘ชาติ’ เข้ากับศิลปินผู้นั้นกลับเกิดขึ้น และที่น่าแปลกยิ่งกว่าคือแม้ความรู้สึกร่วมในความเป็นชาติอาจจะเกิดขึ้นบ้างอย่างน้อยนิดในตะวันตก แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้กลับรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเอเชีย และโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • มหกรรรมการโหวตหาผู้ชนะรางวัล Best Southeast Asia Act ในเวที MTV Europe Music Award (MTV EMA) เป็นเครื่องตอกย้ำความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเป็นการแข่งขันที่รวมศิลปินจากหลากหลายชาติ การแปะป้ายตีตราว่าศิลปินแต่ละคนเป็นสมบัติของแต่ละชาติจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ในปีนี้ผู้ที่เข้าชิงรางวัล Best Southeast Asia Act ได้แก่ Dam Vinh Hung (เวียดนาม), Faizal Tahir (มาเลเซีย), Isyana Sarasvati (อินโดนีเซีย), James Reid (ฟิลิปปินส์), Slot Machine (ไทย), The Sam Willows (สิงคโปร์)​ และผลิตโชค อายนบุตร (ไทย) โดยในแต่ละประเทศมีวิธีการรณรงค์การโหวตแตกต่างกันออกไป

     ‘ดนตรีไม่มีพรมแดน’ คือประโยคคลาสสิกที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายลักษณะพิเศษของดนตรี ที่สามารถหลอมรวมผู้คนจากต่างชาติ ต่างภูมิหลัง ต่างวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน สุนทรียภาพทางดนตรีทำลายข้อจำกัดทางภาษา เพราะถึงแม้ผู้ฟังจะไม่เข้าใจเนื้อเพลงแม้เพียงสักนิด ความงดงามที่เกิดจากท่วงทำนองก็ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเพลงที่ฟังได้

     แต่ดนตรีก็เหมือนกับสินค้าเพื่อความบันเทิงชนิดอื่นๆ ที่เมื่อสามารถใช้เพื่อก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ ก็สามารถใช้เพื่อก่อกำแพงทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเพลงชาตินิยมที่มักสร้างความฮึกเหิม ปลุกความทรงจำร่วมของคนในชาติ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในประเทศ ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่แปลกนักที่ดนตรีไม่ได้ทำหน้าที่หลอมรวมความหลากหลาย

     ที่น่าแปลกคือแม้หลายครั้งดนตรีที่ว่าจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็น ‘ชาติ’ แต่เพราะศิลปินเป็นคนใน ‘ชาติ’ ความรู้สึกว่าต้องผูกติด ‘ชาติ’ เข้ากับศิลปินผู้นั้นกลับเกิดขึ้น และที่น่าแปลกยิ่งกว่าคือแม้ความรู้สึกร่วมในความเป็นชาติอาจจะเกิดขึ้นบ้างอย่างน้อยนิดในตะวันตก แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้กลับรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเอเชีย และโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังโหมกระแสความร่วมมือในอาเซียนอย่างหนัก

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

จากรางวัลศิลปินยอดเยี่ยมสู่เกียรติยศของชาติ

     มหกรรรมการโหวตหาผู้ชนะรางวัล Best Southeast Asia Act ในเวที MTV Europe Music Award (MTVEMA) เป็นเครื่องตอกย้ำความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา MTV EMA เริ่มแจกรางวัลให้กับศิลปินจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น Best Japanese Act, Best Korean Act, Best Middle East Act โดยศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดรวมให้ชิงรางวัลในประเภทเดียวกันคือ Best Southeast Asia Act และเมื่อเป็นการแข่งขันที่รวมศิลปินจากหลากหลายชาติ การแปะป้ายตีตราว่าศิลปินแต่ละคนเป็นสมบัติของแต่ละชาติจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ในปีนี้ผู้ที่เข้าชิงรางวัลดังกล่าว ได้แก่ Dam Vinh Hung (เวียดนาม), Faizal Tahir (มาเลเซีย), Isyana Sarasvati (อินโดนีเซีย), James Reid (ฟิลิปปินส์), Slot Machine (ไทย), The Sam Willows (สิงคโปร์)​ และผลิตโชค อายนบุตร (ไทย) โดยในแต่ละประเทศมีวิธีการรณรงค์การโหวตแตกต่างกันออกไป

     สำหรับประเทศเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมามีศิลปินได้รับรางวัลนี้ทั้งหมด 3 จาก 4 ครั้งตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้ขึ้น มีการลงข่าวเกี่ยวกับการเข้าชิงรางวัลนี้ในสื่อบันเทิงหลายแขนง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อในรอบสุดท้ายนี้มาจากการโหวตแข่งกันภายในประเทศก่อน จนแฟนคลับของแต่ละคนถึงกับต้องซื้อซิมโทรศัพท์หลายซิม เพื่อผลัดเปลี่ยนกันโหวตให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชมเป็นตัวแทนไปแข่งต่อในระดับภูมิภาค สื่อบันเทิงบางฉบับถึงกับเสนอวิธีการโหวตในระดับภูมิภาคด้วยการอธิบายว่า หาก Dam Vinh Hung ชนะก็เท่ากับเป็นเกียรติยศของชาติ

     ในประเทศฟิลิปปินส์ การรณรงค์การโหวตเป็นไปอย่างเข้มข้นกว่า นำโดยกลุ่มแฟนคลับของ James Reid ที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นบนโลกออนไลน์ แฟนคลับกลุ่มนี้มีการสืบค้นข้อมูลการโหวตของประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และยังจ้องจับผิดวิธีการโหวตของประเทศอื่นๆ เพื่อยื่นฟ้องกับทาง MTV ให้ตัดสิทธิ์ศิลปินคนนั้นๆ หากวิธีการโหวตดูไม่ตรงไปตรงมาตามกฎกติกา ส่วนวิธีการรวมพลังการโหวตภายในประเทศก็มีตั้งแต่การนัดโหวตพร้อมกัน จนไปถึงกับการบอกว่าชัยชนะของ James Reid เปรียบเสมือนชัยชนะของชาติ

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

     ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะนอกจากจะมีการนัดแนะการโหวตแบบเป็นกลุ่มอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการกระตุ้นการโหวตแบบ ‘ขุดมันม่วง’ เพื่อเป๊ก ผลิตโชคกันตลอดเวลา แม้โดยมากกลุ่มแฟนคลับชาวไทยจะมีการยึดโยงความเป็นชาติเข้ากับชัยชนะของศิลปินน้อยกว่า เพราะมัวแต่มุ่ง ‘ส่งสามีไปลอนดอน’ แต่ก็มีจำนวนไม่มากที่ใช้ข้อมูลการรณรงค์ของประเทศอื่นเชิงเปรียบเทียบเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน ขณะที่บางครั้งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยึดโยงเรื่องชาติและสงครามเช่น ‘อีปริก’ ‘สยามประเทศ ‘ข้าศึก’ ถูกนำมาเปรียบเทียบในเชิงขบขันเพื่อเร่งการโหวตในหมู่แฟนคลับ

 

 

สังคมรวมหมู่และหล่มชาตินิยมในอาเซียน

     แน่นอน หลายคนคงมองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าจะแข่งกีฬา ประกวดนางงาม การแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งของชาติก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่อย่าลืมว่ารางวัล Best Southeast Asia Act ของ MTV EMA นี้ไม่เหมือนกับการแข่งขันอื่นๆ ตรงที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้เข้าแข่งขันในนามประเทศ แต่เข้าแข่งขันในนามปัจเจก แต่ก็ไม่พ้นที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับศักดิ์ศรีและเกียรติยศของชาติอยู่ดี จนอาจต้องขบคิดว่าเหตุใดความสำเร็จของ ‘บุคคล’ กับความสำเร็จของ ‘ชาติ’ ถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกันเช่นนี้

     เป็นไปได้ว่าคติรวมหมู่ยังคงมีความสำคัญกับสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ไม่น้อย ในสังคมเช่นนี้ ความสำเร็จของปัจเจกจึงถูกเหมาว่าเป็นความสำเร็จของสังคมโดยรวมจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผนวกกับความรู้สึกความเป็นชาติที่ยังแรงกล้า อันเป็นมรดกตั้งแต่ยุคสร้างชาติที่ต่อเนื่องมาจนกระทั่งการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ที่ทำให้แต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกว่ายังคงต้องแข่งขันกันตลอดเวลา การวางอัตลักษณ์ของชาติด้วยการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ทำให้การกระตุ้นแรงฮึดด้วยการแข่งขันกับชาติเพื่อนบ้านใช้ได้ผลเสมอ

 

 

     ดังนั้น หากความต้องการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านยังไม่หมดไป การแข่งขันทางวัฒนธรรมใดๆ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีหรือเกียรติยศของชาติโดยตรง และอาจไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ชาติ’​ ด้วยซ้ำ ก็คงถูกตีความว่าเป็นการแข่งขันในระดับชาติได้เสมอ

     หากถามว่าสำนึกเช่นนี้เปลี่ยนได้หรือไม่ คำตอบคือคงเป็นเรื่องยากและใช้เวลานานในระดับแค่การประชาสัมพันธ์ว่าจากนี้เราจะคือ ‘ประชาคมอาเซียน’​ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้

     แต่ ‘ดนตรี’​ เครื่องมือเดียวกันกับการขีดเส้นแบ่งความเป็นชาตินี้ ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือในการสลายความเป็นชาติหรืออย่างน้อยเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับชาติอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวแบบเช่นนี้เห็นได้ในการแข่งขัน ‘ยูโรวิชั่น’ ของยุโรป ที่ให้ประเทศต่างๆ ส่งตัวแทนมาแข่งขันในแต่ละปี โดยผู้ชนะขึ้นอยู่กับ ‘การโหวต’ แต่ประชาชนไม่สามารถโหวตให้กับตัวแทนจากประเทศตัวเองได้ ดังนั้นนอกจากชาวยุโรปจะได้ชมการร้องเพลงจากตัวแทนของแต่ละประเทศแล้ว ความรู้สึกว่าต้องสู้เพื่อชาติก็ถูกกร่อนลงไป เหลือเพียงความสามารถของศิลปินแต่ละคนเท่านั้น

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

     ดังนั้นจากนี้ หากจะ ‘ขุดมันม่วง’ ให้ เป๊ก ผลิตโชค กันต่อที่ www.mtvema.com/en-asia/artists/9zo3mg/palitchoke-ayanaputra จึง ไม่ใช่การโหวตเพื่อชาติ ไม่ใช่การโหวตเพื่อให้ประเทศไทยเหนือกว่าประเทศอื่นๆ แต่เป็นการโหวตให้กับ ‘ศิลปิน’ ที่เชื่อว่ามีคุณภาพจะได้รับรางวัลในระดับนานาชาติเท่านั้นเอง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising