×

คณะกรรมการ ‘OPEC+’ ลงมติแนะชาติสมาชิกคงกำลังการผลิต พร้อมจับตาดีมานด์จากจีน

02.02.2023
  • LOADING...
OPEC

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า ทางคณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) มีมติแนะนำให้ชาติสมาชิกของกลุ่ม OPEC+ ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนโยบายการผลิตน้ำมันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

 

ข้อเสนอแนะดังกล่าวมีขึ้นระหว่างการประชุมออนไลน์เมื่อวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมที่จะต้องจัดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 

 

สำหรับมติคำแนะนำของคณะกรรมการ JMMC ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามโควตาการผลิตของ OPEC+ นี้ ไม่มีผลใดๆ ต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการผลิตของกลุ่ม OPEC+ แต่ความเห็นของ JMMC จะมีส่วนต่อการทบทวนนโยบายการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ต่อไป 

 

ทั้งนี้ สามคณะกรรมการ JMMC ระบุว่า ทางคณะกรรมการมีมติสนับสนุนปฏิญญาความร่วมมือของ OPEC+ ซึ่งเป็นข้อตกลงในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม OPEC และ non-OPEC (ONOMM) ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2022 พร้อมกระตุ้นให้ทุกประเทศที่เข้าร่วมปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสอดคล้องร่วมกัน

 

รายงานระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ชาติสมาชิก OPEC+ จะลดโควตาการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยตัวเลขการส่งมอบจะลดต่ำกว่าตัวเลขการผลิตดังกล่าว เนื่องจากการผลิตจริงล่าช้ากว่าเป้าการผลิต กำลังการผลิตและการลงทุนที่ลดน้อยลง และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

 

ในส่วนของประเด็นคำถามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะทำให้กลุ่ม OPEC+ ตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตของตนหรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการ JMMC ระบุว่า ยังคงต้องเฝ้าจับตามองสถานการณ์ความต้องการบริโภคน้ำมันของจีนอย่างใกล้ชิดต่อไปอีกสักระยะ 

 

ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับประมาณการณ์ตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งมีโอกาสจะเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 101.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งได้จากการที่จีนผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID และกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติได้อีกครั้ง 

 

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการ JMMC ยังระบุว่า OPEC+ ยังต้องติดตามผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อของบริษัทต่างๆ ที่มีต่อความต้องการบริโภคน้ำมัน โดยมีแนวโน้มว่าบรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed), ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ 

 

ขณะที่ปัจจัยด้านการผลิตและส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ชาติสมาชิกของกลุ่ม OPEC+ ซึ่งกำลังโดนคว่ำบาตรอย่างหนักจากชาติตะวันตกในขณะนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อนโยบายการผลิตของกลุ่มด้วยเช่นกัน 

 

ทาง IEA ประมาณการว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียลดลงจาก 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพฤศจิกายน เป็น 9.77 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนธันวาคม หลังมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (EU) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เพื่อระงับการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย โดยมาตรการดังกล่าวในระลอกสองจะมีผลในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ 

 

สำหรับมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ได้รับการออกแบบและเห็นชอบร่วมกันของสมาชิกกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) เพื่อรักษาอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ควบคู่ไปกับการจำกัดเส้นทางการเงินของรัฐบาลประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่จะนำไปใช้เป็นทุนสนับสนุนการรุกรานยูเครนอย่างเต็มกำลัง อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ไม่ใช่กลุ่ม G7 ยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันจากกลุ่ม OPEC ได้ตามปกติ ตราบเท่าที่ยอมรับเงื่อนไขการสั่งซื้อน้ำมันที่ราคา 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

รายงานระบุว่า จนถึงขณะนี้รัฐบาลรัสเซียยังไม่ได้มีการส่งสัญญาณใดๆ ที่จะขอยกเว้นโควตาการผลิต และยังคงเป็นทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานร่วมของกลุ่ม OPEC+ ร่วมกับซาอุดีอาระเบีย

  

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาการ JMMC ระบุว่า ทางกลุ่ม OPEC+ จะดำเนินนโยบายใดๆ และการตัดสินใจต่างๆ อย่างระมัดระวัง ท่ามกลางความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากปัจจัยพื้นฐานด้านอุปสงค์และอุปทานของตลาด แรงกดดันจากผู้บริโภคระหว่างประเทศที่ต้องการให้ช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือน และความจำเป็นในการจูงใจให้มีการลงทุนเพิ่มเติมในกำลังการผลิตน้ำมันสำรอง

 

ด้าน Amin Nasser ซีอีโอของ Aramco รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย แสดงความเห็นเมื่อวันที่ 18 มกราคม ระบุชัดว่าการลงทุนขณะนี้ยังไม่เพียงพอที่จะเพิ่มกำลังการผลิตที่จำเป็นสำหรับความต้องการในตลาด และการเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงที่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นเป็นผลชดเชยจากตัวเลขที่ลดลงไปก่อนหน้า จำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจากที่อื่นนอกเหนือจาก OPEC+ เพื่อให้เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการทั่วโลกต่อไป 

 

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้แทนคณะกรรมการ JMMC กล่าวว่า การประชุมครั้งต่อไปของทางคณะกรรมการจะมีขึ้นในวันที่ 3 เมษายนนี้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising