×

ปลัด สธ. แจงแก้ไขร่างฯ ยาบ้าเกิน 1 เม็ดเป็นผู้ค้า ชี้ป้องกันกลุ่มลอดช่องกฎหมาย เตรียมประชุมอีกรอบพรุ่งนี้

โดย THE STANDARD TEAM
01.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อเสนอการแก้กฎกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนจำนวนยาบ้าจาก 5 เม็ด เป็น 1 เม็ด ให้เป็นผู้ค้าว่า ตามอำนาจหน้าที่ในมาตรา 107 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการออกร่างกฎกระทรวง ซึ่งโดยหลักการมีอยู่ 2 ส่วนคือ ต้องแยกเป็นผู้เสพ ผู้ใช้ หรือผู้ติด หรือผู้ค้า โดยกฎหมายได้กำหนดวิธีการไว้ 2 ส่วน 

 

  1. ให้ดูตามจำนวนเม็ด ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

 

  1. ต้องดูพฤติกรรมประกอบ โดยเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำหนด

 

นพ.โอภาสกล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางจำนวนเม็ดนั้น กฎหมายหลายฉบับเขียนไว้ แต่ไม่เป็นตัวเลขเดียวกัน ซึ่งมีร่างประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่จะต้องทบทวนอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการบำบัดและรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 

 

รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการทางแพทย์ ระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสรุปตรงกันว่า การมียาเสพติดที่เดิมกำหนดไว้กี่เม็ด จึงเป็นช่องว่างให้ผู้ค้ายาเสพติด เช่น พกไปแค่ 4 เม็ดเพื่อนำไปขาย แต่เข้าข่ายเป็นเพียงผู้เสพ จึงทำให้เห็นตรงกันว่าการกำหนดจำนวนเม็ดไม่สามารถป้องกันและควบคุมให้ประชาชนปลอดภัยจากยาเสพติดได้

 

นพ.โอภาสกล่าวต่ออีกว่า ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นตรงกันว่าให้กำหนดไว้ 1 เม็ดเป็นปริมาณขั้นต่ำ แต่จะมีการประชุมคณะกรรมการกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (2 กุมภาพันธ์) 

 

สำหรับข้อดีจะเห็นว่าทำให้ประชาชนเกิดความระมัดระวังว่ายาเสพติดเป็นภัยต่อชีวิตและทำให้ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาได้มากขึ้น ซึ่งการบำบัดรักษาถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 

 

ระดับรุนแรงหรือสีแดง จะต้องบำบัดรักษาในสถานพยาบาล 

 

อาการปานกลางกลุ่มสีเหลือง จะรักษาในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

 

ส่วนผู้เสพอาการน้อยหรือผู้ใช้ ไม่ว่าจะเสพกี่เม็ดก็ต้องได้รับการดูแลในศูนย์บำบัดระดับชุมชน

 

“กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนไว้ครบวงจรแล้วจะทำให้คนเข้าถึงระบบรักษาได้มากขึ้น และให้สังคมตระหนักว่าไม่ควรมียาเสพติดเลย และเป็นการปิดช่องโหว่การครอบครองยาเสพติด” นพ.โอภาสกล่าว 

 

นพ.โอภาสยืนยันว่า ระบบการรักษาและบำบัดผู้ติดยาเสพติดขณะนี้ไม่มีปัญหา และยืนยันไม่มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล พร้อมกับย้ำว่าผลกระทบทางสุขภาพของผู้เสพยาเสพติดมีตั้งแต่ 1 เม็ดขึ้นไป พอมีการกำหนดจำนวนเม็ด ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าใจผิด ซึ่งในความเป็นจริงมีผลตั้งแต่การเสพเม็ดแรกแล้ว โดยมีผลทางวิชาการยืนยัน 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้พิจารณาว่าใครเป็นผู้เสพหรือผู้ค้านั้นคือใคร นพ.โอภาสกล่าวว่า โดยหลักแล้วจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะต้องพิจารณาทั้ง 2 ส่วน คือพฤติการณ์และการครอบครอง พร้อมย้ำว่าเป็นไปตามดุลพินิจของตำรวจ 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงสิ่งที่สังคมกังวลในเรื่องการยัดยาจนกลายเป็นผู้ค้านั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า สังคมต้องช่วยกันสอดส่อง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีการปฏิบัติและระมัดระวังอยู่แล้ว 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลเรื่องผู้ต้องหาจะล้นสถานที่กักขัง นพ.โอกาสกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความกังวลที่หลายฝ่ายออกมากล่าวว่าจะบำบัดรักษากันไม่ไหวนั้น นพ.โอกาสกล่าวว่า ระบบการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขคำนึงถึงปริมาณผู้ใช้ยาเสพติด คาดว่ามีอยู่กว่าล้านคน ซึ่งมีระบบการรักษาตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงโรงพยาบาล ส่วนการคุมขังนั้น กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้เป็นผู้พิจารณา แต่คำนึงถึงเพียงปริมาณการใช้ว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างไร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะนำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อใด นพ.โอกาสกล่าวว่า จะต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในวันพรุ่งนี้อีกครั้ง ตนไม่อยากพูดไปมากกว่านี้ เพราะเกินอำนาจหน้าที่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising