×

29 มิถุนายน 2494 – เกิดกบฏแมนฮัตตัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดดน้ำหนีระเบิด

โดย THE STANDARD TEAM
29.06.2021
  • LOADING...
กบฏแมนฮัตตัน

กบฏแมนฮัตตัน หรือกบฏทหารเรือ หรือกบฏ 29 มิถุนา เป็นปฏิกิริยาของฝ่ายทหารเรือที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลและผู้นำกลุ่มทหารบก รวมทั้งการที่รัฐบาลไม่สนับสนุนกิจการของกองทัพเรือเท่าที่ควร ฝ่ายทหารเรือได้เคยวางแผนการที่จะทำการต่อต้านรัฐบาลมาก่อนหน้านี้แล้วหลายครั้ง แต่ก็ล้มเหลวลงก่อนที่จะได้ปฏิบัติการ จนในที่สุดถึงขั้นก่อการกบฏเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494

 

วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เวลาประมาณ 15.30 น. ขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ไปเป็นประธานในพิธีรับมอบ เรือขุดแมนฮัตตัน (Manhattan) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่ไทย เพื่อให้รัฐบาลไทยนำเรือลำดังกล่าวไปใช้ในการขุดสันดอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ทหารเรือกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า ‘คณะกู้ชาติ’ จับตัว จอมพล ป. เป็นตัวประกัน ในขณะที่ จอมพล ป. ขึ้นไปเยี่ยมเรือขุดแมนฮัตตัน ณ ท่าราชวรดิฐ โดยนายทหารเรือกลุ่มดังกล่าวนำโดย น.ต. มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา เพื่อคุมขังนายกรัฐมนตรี

 

คณะผู้ก่อการกบฏได้ประกาศยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหารงานที่เหลวแหลกของรัฐบาล ซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากจะถูกโจมตีก่อน ต่อมาเมื่อถึงเวลา 04.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา 04.30 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของ พล.อ.อ. ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดย พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือและตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้นการเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ 

 

กระทั่งเวลา 15.00 น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยา ขณะที่ จอมพล ป. ยังอยู่บนเรือ 

 

แต่ จอมพล ป. ได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการกองทัพเรือฝั่งธนบุรีได้อย่างปลอดภัย

 

ภายหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันยุติลง รัฐบาลได้ดำเนินการให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ ทั้งทางด้านความสงบเรียบร้อยของประชาชน การทหาร และตำรวจ ซึ่งได้รับความเสียหายจากการสู้รบครั้งนี้ รวมทั้งมีการปรับปรุงตัดกำลังกองทัพเรือเสียใหม่ อาทิ

 

  • ยุบกรมนาวิกโยธินที่กรุงเทพฯ และสัตหีบทั้งหมด คงเหลือไว้เพียง 1 กองพัน และให้ปลดนายทหารที่เกินอัตราออกให้หมด เพื่อมิให้กองทัพเรือมีทหารนาวิกโยธินต่อไปอีก เนื่องจากเป็นกองกำลังที่เข้มแข็ง ไม่น่าไว้วางใจ
  • ย้ายกองบัญชาการกองทัพเรือ จากพระราชวังเดิมไปอยู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไม่ให้ทหารเรืออยู่ในเขตพระนครและธนบุรี เมื่อกองทัพเรือได้ย้ายออกไปแล้ว ได้ใช้เป็นสถานศึกษาหรือหน่วยงานฝ่ายพลเรือน
  • ย้ายกองเรือรบ ตลอดจนเรือรบในสังกัดทุกลำไปอยู่สัตหีบ และให้เปลี่ยนชื่อกองเรือรบเป็น ‘กองเรือยุทธการ
  • ให้กองสัญญาณทหารเรือย้ายออกจากศาลาแดงไปอยู่ที่อื่น 
  • ให้โอนกองบินทหารเรือที่จุดเสม็ด สัตหีบ ไปเป็นของกองทัพอากาศ เพราะเห็นว่ากองบินไม่จำเป็นสำหรับกิจการของทหารเรือ หากมีความจำเป็น กองทัพอากาศก็สามารถปฏิบัติการแทนได้ หรือใช้ร่วมกันได้
  • ที่ทำการกองเรือรบเดิมที่ท่าราชวรดิฐ ไม่ให้ทหารเรือหรือทหารเหล่าอื่นเข้าอยู่
  • โอนสถานที่ทำการหมวดเรือพระราชพิธีแจวบางส่วนให้ทหารบก 
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising