×

11 มกราคม 1838 ซามูเอล มอร์ส สาธิตการส่งโทรเลขครั้งแรก

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2020
  • LOADING...
ส่งโทรเลขครั้งแรก

ซามูเอล มอร์ส สาธิตการส่งโทรเลขครั้งแรกที่ Speedwell Ironworks ในเมืองมอร์ริสทาวน์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ก่อนจะกลายเป็นอุปกรณ์ส่งข้อความที่แพร่หลายในทศวรรษ 1920-1930 

 

เดิมทีมอร์สจบสาขาศิลปะจากมหาวิทยาลัยเยล เป็นจิตรกร นักเขียน และผู้บรรยาย แต่เขาก็มีความสนใจอีกด้านคือ ไฟฟ้า เวลาว่างชอบไปนั่งฟังเลกเชอร์เรื่องนี้ จนรู้จักผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์หลายคน ในปี 1832 การบรรยายของแพทย์และนักประดิษฐ์ ชาร์ลส์ โทมัส แจ็กสัน เกี่ยวกับวิธีการสร้างแม่เหล็ก และการขยายกระแสไฟฟ้าไปสู่ระยะไกลด้วยสายไฟ ได้จุดประกายให้มอร์สร่างต้นแบบของเครื่องส่งโทรเลข และใช้เวลาทดลองนานกว่า 5 ปี จนสำเร็จในปี 1838 

 

การส่งข้อความจะใช้รหัสมอร์ส (Morse Code) ซึ่งเป็นชุดสัญญาณเสียงตามจังหวะการกดคันเคาะบนเครื่องส่งโดยใช้ . (ดอต) และ – (แดช) แทนตัวหนังสือและตัวเลข ภายหลังการขอทุนจากสภาคองเกรสมาผลิตอุปกรณ์วางสายโทรเลข เขาได้สาธิตการส่งโทรเลขจากกรุงวอชิงตันถึงบัลติมอร์ในปี 1844 ด้วยข้อความว่า “What hath God wrought!”  

 

แม้ปัจจุบันเครื่องโทรเลขจะไม่มีผู้ใช้แล้ว และรหัสมอร์สจะถูกใช้ในวงการแคบๆ เช่น วงการวิทยุสมัครเล่น แต่สิ่งประดิษฐ์ทั้งสองก็ผ่านประวัติศาสตร์มาหลายเหตุการณ์ไม่น้อย เช่น คนไทยเคยเรียกเครื่องโทรเลขว่า ตะแล็บแก็บ (Telegraph) และได้ยกเลิกการใช้เมื่อ พ.ศ. 2551 ในสงครามเวียดนาม นายพลอเมริกัน เจเรไมอาห์ เดนตัน หนึ่งในเชลยศึก (American POWs) ในเวียดนามเหนือ ได้กะพริบตาเป็นรหัสมอร์ส ขณะถูกบังคับให้ออกแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ เพื่อสื่อสารถึงกองทัพอเมริกันว่า ‘Torture’ และในปี 2015 เคนจิ โกโตะ นักข่าวชาวญี่ปุ่น ที่ถูกกลุ่มไอซิส (ISIS) จับเป็นตัวประกัน ได้มีผู้สังเกตคลิปวิดีโอที่ไอซิสเผยแพร่ว่า เขาได้กะพริบตาเป็นรหัสมอร์ส 2 ชุด ซึ่งแปลงได้ว่า “ทิ้งผมไว้” และ “ไม่ต้องช่วย” แต่เหตุการณ์นี้ก็ได้มีผู้เชี่ยวชาญออกมาโต้แย้งแล้วว่า ไม่น่าเป็นความจริง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X