ในเดือนธันวาคม ปี 2015 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันตระหนักรู้สึนามิโลก (World Tsunami Awareness Day) โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสึนามิและแบ่งปันแนวทางใหม่ๆ ในการลดความเสี่ยง ซึ่งในวันนี้ประเทศต่างๆ จะมีการจัดกิจกรรมสนับสนุนให้ผู้คนตระหนักถึงภัยสึนามิและเผยแพร่การรับรู้บนโซเชียลมีเดีย
จุดเริ่มต้นของวันตระหนักรู้สึนามิโลกมีที่มาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเผชิญประสบการณ์อันขมขื่นจากสึนามิที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา และได้สั่งสมความเชี่ยวชาญที่สำคัญในด้านต่างๆ เช่น การเตือนภัยสึนามิล่วงหน้า การดำเนินการต่อสาธารณะ และการก่อสร้างให้ดีขึ้นหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อลดผลกระทบในอนาคต
ทั้งนี้ สึนามิเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมามีสึนามิเกิดขึ้นทั้งหมด 58 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2.6 แสนคน หรือเฉลี่ย 4,600 คนต่อภัยพิบัติแต่ละครั้ง ซึ่งมากกว่าภัยธรรมชาติอื่นๆ
หนึ่งในเหตุการณ์สึนามิที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือ เหตุสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2004 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2.27 แสนคน ใน 14 ประเทศ โดยอินโดนีเซีย ศรีลังกา อินเดีย และไทย ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ผลกระทบจากเหตุสึนามิที่เกิดระหว่างปี 1998-2018 ส่งผลให้เกิดความสูญเสียคิดเป็นเงินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสึนามิจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่เพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
ภาพ: Chris McGrath / Staff / Getty Images