5 พฤศจิกายน 2564 จะกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของ ‘บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ’ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงทีวีมานานกว่า 31 ปี เมื่อ ‘เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์’ หรือ ONEE บริษัทที่เขานั่งตำแหน่งแม่ทัพอยู่กำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ติดนามสกุลมหาชนอย่างเป็นทางการ
เมื่อถูกถามว่าตลอดเวลาการทำงานในวงการทีวีมาเขามองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ONEE ให้คำตอบแก่ THE STANDARD WEALTH ว่า ทุกๆ 3-4 ปีมีการเปลี่ยนแปลงของคอนเทนต์อยู่แล้วตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนดู แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือในช่วง 6-7 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วง ‘ดิจิทัล ดิสรัปชัน’ เมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนเยอะ
ดังนั้น “การทำคอนเทนต์ต้องมองของทุกมุม ส่วนตัวจะถือตลอดว่า อดีตคือรากฐานที่สำคัญมาก ประสบการณ์ชีวิตของคนแต่ละคนคือรากฐานที่สำคัญมากที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเดินทาง การเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้”
ขณะเดียวกัน ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโรคโควิดได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่ผู้คนเสพคอนเทนต์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทีวี โซเชียลมีเดีย และ OTT Platform ซึ่งช่องทางหลังนี้กำลังเป็นสมรภูมิที่ร้อนระอุในประเทศไทย เพราะแพลตฟอร์มจากต่างประเทศได้เดินหน้าบุกเข้ามามากขึ้น
สำหรับ ONEE ซึ่งแม้จะมีรายได้หลักมาจากช่องทีวี แต่ OTT Platform ก็เป็นอีกโอกาสที่มองเห็น เพราะ “เราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์ออกไปในหลากหลายแพลตฟอร์ม ซึ่ง OTT Platform ก็เป็นโอกาสให้เราทำงานมากขึ้น”
และแม้ว่าจะมีหลากหลายผู้เล่นอยู่ในสมรภูมินี้ก็ตาม แต่ ONEE “กำลังศึกษาการมี OTT Platform เป็นของตัวเองเช่นกัน เตรียมการกันอยู่ ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อไร แต่อาจจะได้เห็นเร็วๆ นี้” ถกลเกียรติกล่าว
สำหรับการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นั้นมาจากการที่ “เราคิดว่า 6-7 ปีที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่ใหญ่มากที่ได้ช่องทีวีมา แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเปลี่ยนเช่นกัน คิดว่าตอนนั้นเราเริ่มใหม่ เรียนผิดเรียนถูกกัน ซึ่งที่สุดแล้วเราก็รู้ว่าเรามีโอกาส เราเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เพียงแต่ว่าเราจะจัดให้ถูกที่ถูกทางอย่างไร จนวันนี้เราแม่นยำมากขึ้นแล้ว เราแข็งแรงมากขึ้น แต่โอกาสยังมีอยู่อีกเยอะ เลยอยากจะ IPO ที่จะได้ขยายธุรกิจได้อย่างสะดวกมากขึ้น”
โดย ‘เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์’ สรุปราคา IPO ที่ 8.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 4,218 ล้านบาท นับเป็นการเสนอขายหุ้น IPO ในหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุดในตลาดทุนไทย
โดย “หลังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เราอยากเอาคอนเทนต์ไปตลาดโลกมากขึ้น จึงต้องมีความเนี้ยบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชัน การแสดง การวิจัย การตีความ รวมไปถึงเทคโนโลยี จึงต้องใช้การลงทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถขยายตัว และพอเราออกสู่สายตาให้คนเห็นมากขึ้นแล้ว ก็จะมีโอกาสให้เราได้ทำอะไรได้เพิ่มมากขึ้นอีก”
เงินดังกล่าวจะถูกใช้สร้างกลยุทธ์การเติบโตในช่วง 3-5 ปีจากนี้ ประกอบด้วย
- ลงทุนผลิตรายการและเพิ่มรายการ 500 ล้านบาท ภายในปี 2567 ลงทุนระบบไอทีและพัฒนาช่องทางออนไลน์ 130 ล้าน และจ่ายเงินค่าซื้อกิจการกลุ่ม GMMCH 2,200 ล้านบาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
- พัฒนารายการและเพิ่มงบผลิตคอนเทนต์ทางทีวีช่อง one31 เพื่อรักษาเรตติ้งไพรม์ไทม์อันดับ 3 และผลิตรายการให้กับทีวีช่องอื่นๆ
- ร่วมลงทุน (Co-Invest) หรือร่วมผลิตรายการ (Co-Produce) กับพันธมิตรระดับโลก 3-4 ราย เพื่อผลิตคอนเทนต์เผยแผร่ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ไทยมีจุดเด่นความแตกต่างความเป็นไทยที่ชาวโลกสนใจ และเน้นการเล่าเรื่องให้เป็นอินเตอร์ เพื่อไปทำตลาดระดับโลกและสู้คู่แข่งได้
- ขยายการผลิตคอนเทนต์ตลาดต่างประเทศให้ครอบคลุมมากขึ้น จาก 4 ประเทศ เป็น 11 ประเทศ ในอีก 3-5 ปี
ทั้งนี้ ONEE มีเป้าหมายสัดส่วนรายได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วยรายได้จากช่องทางโทรทัศน์ (TV) จะมีสัดส่วนที่ 40-45% จากเดิม 48%, ช่องทางออนไลน์ จะมีสัดส่วนที่ 25-28% จากเดิม 21%, ช่องทางตลาดต่างประเทศ จะมีสัดส่วนที่ 7-10% จากเดิม 5% และช่องอื่นๆ จะมีสัดส่วนที่ 27% จากเดิม 12-25%
ถกลเกียรติย้ำว่า “คนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ได้ต้องมี Know-how ในการบาลานซ์ Commercial กับ Art ซึ่งความท้าทายของเราคือการทำโปรเจกต์ที่สร้างทั้งรายได้และชื่อเสียงไปพร้อมๆ กัน”
อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปี 2564 ที่ ONEE ยื่น Filing เตรียม IPO โดยพบว่า ‘บี้ สุกฤษฎิ์’ นักร้องและนักแสดงชื่อดังเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 5 กว่า 2.5 ล้านหุ้น ซึ่งได้สร้างเสียงฮือฮาเป็นอย่างมาก
ถกลเกียรติอธิบายถึงที่มาที่ไปว่า เดิมช่อง one31 ถูกประมูลโดย GMM Grammy (ราคาประมูลในครั้งนั้นคือ 3,320 ล้านบาท) หลังจากนั้นจึงถูกเรียกให้มาบริหาร ผ่านไป 1-2 ปี จึงได้มีการคุยกับบี้และขยับจากการร่วมงานมาเป็นการร่วมทุนแทน
“ในวันที่เรากำลังจะเข้าไปร่วมทุน ในกลุ่มของผมและคนทำงานจึงมีการถามว่า ใครอยากเข้ามาร่วมทุนบ้าง ตอนนั้นบี้ก็เป็นหนึ่งในทีมทำงานด้วย เลยถามว่า อยากลงไหมแต่มีความเสี่ยงนะ เพราะไม่รู้จะออกหัวหรือก้อย ซึ่งที่สุดแล้วบี้ก็อยากเสี่ยงด้วย เลยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น”
โดยภายหลังการ IPO สัดส่วนหุ้นที่บี้ สุกฤษฎิ์ถืออยู่จะลดลงจาก 0.13% มาเป็น 0.10% ซึ่งหากคำนวณด้วยราคา IPO กับจำนวนหุ้นที่ถืออยู่จะพบว่า มูลค่าหุ้นที่อยู่ในมือของบี้ สุกฤษฎิ์จะอยู่ที่ 21,250,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ONEE สรุปราคา IPO ที่ 8.50 บาท ขึ้นแท่นกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์มูลค่าเสนอขายสูงสุดในตลาดทุนไทย เตรียมเทรดวันแรก 5 พฤศจิกายนนี้
- ‘ONEE’ ปักธงแพลตฟอร์มทีวีฐานรายได้หลักใน 3-5 ปี ท่ามกลางสงครามคอนเทนต์และการดิสรัปชัน กับ 2 ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรรู้
- ช่อง one31 ยื่น Filing เตรียม IPO แล้ว พบ ‘บี้ สุกฤษฎิ์’ ถือหุ้นในลำดับที่ 5 กว่า 2.5 ล้านหุ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP