ปี 2024 ที่ผ่านมา ไม่มีมหกรรมกีฬาไหนที่ใหญ่ไปกว่าการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทั้งฝ่ายจัดการแข่งขันและคณะกรรมการโอลิมปิกสากลตั้งเป้าให้ปารีส เจ้าภาพในครั้งนี้สร้างมาตรฐานใหม่ และรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ให้กับมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในหลายแง่มุมพวกเขาทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับโลกกีฬา ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงกีฬาชนิดอื่นๆ จนถึงไลฟ์สไตล์ในโลกกีฬาที่ต้องปรับตัวตาม
ปารีส 2024 สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับวงการกีฬาโลก และในปี 2025 เราคาดว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดบ้างในอุตสาหกรรมกีฬา?
โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 และพาราลิมปิกเกมส์ สมัยแรกหลังวิกฤตโควิด-19
พิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวปี 2021 ฝ่ายจัดการแข่งขันส่งมอบธง และจัดการแสดงเพื่อนำทางไปสู่ปารีส 2024 โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นปาร์ตี้ครั้งใหญ่ของโลกเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ หลังพวกเขาผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ
ก่อนการแข่งขันเริ่มต้น ปารีสใช้โอกาสนำเสนอไอเดียใหม่ๆ สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ทั้งพิธีเปิดการแข่งขันครั้งแรกนอกสนามกีฬา โดยไปจัดที่แม่น้ำแซนใจกลางกรุงปารีส ไปจนถึงการใช้สนามกีฬาและสถานที่สำคัญที่มีอยู่แล้ว มาใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาต่างๆ ภายใต้คอนเซปต์ เกมส์ที่เปิดกว้างที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ (Games wide Open)
นอกจากนี้พวกเขายังสร้างสนามกีฬาใหม่สำหรับการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เพียงแค่ 2 สนาม ส่งผลให้งบการลงทุนจัดการแข่งขันของปารีส 2024 ต่ำสุดนับตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ปี 2000 (งบปารีส 2024 อยู่ที่ 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครั้งล่าสุดที่ต่ำกว่านี้ต้องย้อนไปถึงปี 2000 ที่ซิดนีย์เป็นเจ้าภาพและใช้งบไป 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แต่แง่มุมที่สร้างปรากฏการณ์ได้มากที่สุดคือการออกแบบ ตั้งแต่ชุดพิธีมอบเหรียญรางวัล ไปจนถึงโปสเตอร์การแข่งขัน และ Look of the Games หรือธีมของปารีส 2024 ที่ปีนี้สร้างแรงบันดาลใจไปถึงการออกแบบชุดประจำชาติที่กลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก โดยเฉพาะของไทยที่โดนวิจารณ์เรื่องชุดพิธีการอย่างหนัก จนต้องออกมายืนยันว่าพวกเขาใช้ชุดแกรนด์สปอร์ตในการรับเหรียญรางวัล ไม่ใช่ชุดพิธีการดังกล่าว
ภาพ: Paris 2024
ซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อ LVMH ผู้สนับสนุนหลักของปารีส 2024 เห็นว่ากีฬาสามารถใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดในรูปแบบใดได้บ้าง ผ่านการออกแบบทั้ง คบเพลิง (ออกแบบโดย แมธทิว เลฮานเนอร์ – Mathieu Lehanneur) เหรียญรางวัล (Chaumet บริษัทเครื่องประดับในเครือ LVMH) โปสเตอร์การแข่งขัน (อูโก กัตโตนี – Ugo Gattoni) ที่ทำให้พวกเขามองเห็นโอกาสสำคัญในโลกกีฬา และนำไปสู่การเซ็นสัญญาประวัติศาสตร์ในปี 2024 กับโลกกีฬาเช่นเดียวกัน
F1 🤝 LVMH ดีลสะท้อนมูลค่าของมอเตอร์สปอร์ตยุคใหม่
ภาพ: F1
หลังจบปารีส 2024 ทั้งโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ได้ไม่นาน LVMH ก็ประกาศเซ็นสัญญาสนับสนุนศึกฟอร์มูลาวัน การแข่งขันรถยนต์ความเร็วสูงที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หลังความสำเร็จของสารคดีกีฬา Formula 1: Drive to Survive ที่ทำให้คนดูทั่วโลกเข้าใจและเข้าถึงการแข่งขันรถยนต์ความเร็วสูงที่สุดในโลก
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 3.3 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขขั้นต่ำที่สื่อหลายสำนักรวมไปถึง Bloomberg และ Forbes การันตีว่าศึกฟอร์มูลาวันชิงแชมป์โลกจะได้รับการสนับสนุนจาก LVMH ในดีลที่เพิ่งได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา
เหมือนกับโอลิมปิกเกมส์ ทุกมหกรรมกีฬาชั้นนำของโลก และการแข่งขันกีฬาลีกสูงสุดของโลก สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือวัฒนธรรมและฤดูกาล ที่เป็นเหมือนกับโครงสร้างทางปฏิทินที่ทำให้แบรนด์สามารถหาช่องทางเข้ามาใช้เป็นพื้นที่ในการสื่อสารได้ทุกเรซวีคหรือทุกฤดูกาล
ยกตัวอย่างเช่นการให้ ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ศิลปินชื่อดังระดับโลกชาวไทยมาโบกธงตาหมากรุกที่เส้นชัยในการแข่งขันศึก F1 สนามที่ 6 ของฤดูกาล 2024 ไมอามีกรังด์ปรีซ์ ที่สนามไมอามี อินเตอร์เนชันแนล ออโตโดรม เมืองไมอามี ฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ก็เป็นหนึ่งในโอกาสของการสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้สื่อทั่วโลกนำไปพูดถึงโดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณา หรือการซื้อสื่อเพื่อให้ลงข่าวเกี่ยวกับฟอร์มูลาวัน (เช่นเดียวกับการที่ลิซ่าปรากฏตัวมาร่วมเชียร์ทีมชาติไทยพบเกาหลีใต้ในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย)
การเข้ามาครั้งนี้ของ LVHM พวกเขาเปิดโอกาสให้แบรนด์ที่อยู่ภายใต้การดูแลที่มีอยู่ถึง 75 แบรนด์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน F1
ทั้ง Louis Vuitton, Moët Hennessy และ TAG Heuer ต่างก็มีความพยายามที่จะเจาะตลาดกีฬา ซึ่งใน F1 นับเป็นกีฬาที่มีมูลค่าทางตลาดสูง เพราะการเข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่ทีม ไปจนถึงการสร้างนักแข่ง และการเป็นเจ้าภาพจัดเรซ ต่างก็ต้องอาศัยการลงทุนอย่างมหาศาล ทำให้พวกเขาจะเข้าถึงกลุ่มชนชั้นสูงในโลกกีฬาได้ตลอดทั้ง 10 ฤดูกาลต่อจากนี้
ปี 2024 F1 ยังมี Ferrari Trento เป็นผู้สนับสนุนหลักในแง่ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแน่นอนว่ารวมถึงแชมเปญที่นักขับนำมาฉีดใส่กันในช่วงการฉลองแชมป์ด้วย ขณะที่ Rolex ยังเป็นแบรนด์ที่ขึ้นเวลาหน้าจอถ่ายทอดสด หรือตามจุดสตาร์ทในการแข่งขัน ซึ่งทั้งสองแบรนด์จะหมดสัญญากับ F1 ในปี 2024 พร้อมกัน ทำให้ Moët Hennessy และ TAG Heuer ก็มีโอกาสสูงที่จะเข้ามาทดแทนในส่วนนี้
ดีลระหว่าง F1 กับ LVMH จึงแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันของพวกเขาผ่านความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ทำให้ผู้ชนะไม่จำเป็นต้องมีเพียงคนเดียวบนโพเดียมอีกต่อไป
เพราะพวกเขาสร้างสถานการณ์ที่ Win-Win สำหรับทุกฝ่ายได้อย่างลงตัว
Liberty Media เข้าเทค MotoGP กับความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ที่จังหวัดบุรีรัมย์
เมื่อต้นปี 2024 ในช่วงสงกรานต์ของไทย Liberty Media เจ้าของกิจการ F1 เข้ามาเทค MotoGP โดยเข้ามาซื้อหุ้น 86% จาก Dorna Sport ทำให้พวกเขาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การแข่งขันรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ความเร็วสูง
นับตั้งแต่ Liberty Media เข้ามาซื้อกิจการ F1 ในปี 2016 พวกเขาสร้างความนิยมให้กับ F1 ได้เป็นอย่างมาก และการเข้ามาสู่ MotoGp ก็คาดว่าจะสามารถทำได้เช่นเดียวกันในปี 2025 ซึ่งเป็นปีแรกที่ Liberty Media จะเข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว
นับตั้งแต่ Liberty Media เข้ามา เราเริ่มเห็นคอนเทนต์ต่างๆ ที่ F1 และ MotoGP เข้ามาร่วมกันมากขึ้น
“เมื่อคุณมองไปยังสุดสัปดาห์ของการแข่งขัน MotoGP เรามีทั้งสปรินต์โมโตทู, โมโตทรี และโมโตจีพี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับการสร้างเอ็นเกจเมนต์ รวมถึงยังเปิดโอกาสให้กับการถ่ายทอดสดถึง 25 ชั่วโมงตลอดทั้งสัปดาห์” เกร็ก มาฟเฟย์ ประธานและ CEO ของ Liberty Media กล่าวถึงโอกาสที่เขามองเห็นในการเข้ามาบริหาร MotoGP
“นี่คือธุรกิจที่ยอดเยี่ยม และเป็นโอกาสสำคัญที่เราได้เข้ามาดำเนินการในลีกกีฬาชั้นนำของโลก ซึ่งเต็มไปด้วยมูลค่าทางลิขสิทธิ์และโอกาสสร้างรายได้ที่หลากหลาย
“แฟนกีฬาก็เติบโตขึ้นตั้งแต่ก่อนที่ Liberty จะเข้ามา เรามียอดเข้าชมที่สนามสูงขึ้น 9% จากปีที่แล้ว เฟรนช์กรังด์ปรีซ์มียอดผู้เข้าชมการแข่งขันสูงเป็นประวัติศาสตร์ที่ 297,000 คน อายุเฉลี่ยของคนดูผ่านโทรทัศน์และดิจิทัลสูงขึ้น 5% อีกด้วย
“เรายังมีโอกาสที่จะเจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ของแฟนๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และคว้าโอกาสในการเล่าเรื่องการแข่งขัน และการทำการตลาดที่เราเคยประสบความสำเร็จกับ F1 มาแล้ว เราเชื่อว่าในสหรัฐฯ เรามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำได้”
ต้นปีหน้า (2025) MotoGP จะมาแข่งสนามแรกที่ไทย พร้อมพรีซีซันเทสต์ 2 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2025-2026 โดยจะมีงานแถลงข่าวเปิดฤดูกาลที่กรุงเทพมหานครด้วย
ทำให้ไทยมีโอกาสสูงที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคใหม่ของมอเตอร์สปอร์ต ภายใต้การบริหารของ Liberty Media แบบเต็มตัว
2025: More Green More Clean and More Stylish Sport
F1, MotoGP และ Olympic ตลอดปี 2024 มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและช่วยลดภาวะโลกร้อน (Global Warming)
โดยฝ่ายจัดโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 สร้างสนามใหม่เพียงแค่ 2 สนาม เพื่อลดมลภาวะที่เกิดขึ้นจากการสร้างสนามใหม่ และพยายามนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่จะสร้างอาคารแห่งใหม่เพื่อรองรับโอลิมปิกเกมส์และทิ้งมันไปเมื่อการแข่งขันจบลง
และจากที่เรามีโอกาสได้ไปทั้งโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 และ UTMB Mont-Blanc 2024 การแข่งขันวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ชาโมนิกซ์ เราพบว่านโยบายลดการสร้างขยะเกินความจำเป็น โดยเฉพาะขวดน้ำพลาสติกของพวกเขามีความจริงจังมาก ถึงขนาดแจกขวดเหล็กเพื่อให้ทุกคนสร้างนิสัยพกขวดน้ำของตัวเองติดตัวตลอดเวลา เพื่อมาเติมน้ำดื่มตามจุดต่างๆ และลดการซื้อขวดน้ำพลาสติกแบบ Single-use
ขณะที่ F1 ก็มีแผนที่จะทำให้การแข่งขันของพวกเขาตลอดทั้งฤดูกาลเป็น Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือสภาวะการเกิดสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยการดำเนินกิจกรรมการลดและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกส่วนที่เหลือภายในปี 2030 ซึ่งในปี 2026 F1 มีกฎที่จะให้รถทุกคันใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงที่มีความยั่งยืนอีกด้วย
ปิดท้ายที่สไตล์ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกกีฬา หลังจากที่ ลูอิส แฮมิลตัน ประกาศอำลาทีมเมอร์เซเดสในปี 2024 และจะไปร่วมทีมเฟอร์รารีในปี 2025 ทีมเมอร์เซเดสประกาศรับสมัครตำแหน่งสไตลิสต์ของนักแข่งมาร่วมงานทันทีในปี 2025 เพื่อทดแทนการขาดหายไปของสไตล์การแต่งตัวอันโดดเด่นของลูอิสก่อนเข้าสนามแข่ง
สื่อต่างประเทศมองว่า โอกาสที่สูญเสียไปในส่วนนี้คือการได้รับพื้นที่สื่อสำหรับนักแข่ง F1 เพราะหากพวกเขาแต่งตัวโดดเด่นและเป็นที่พูดถึง เช่นเดียวกับนักฟุตบอลทีมชาติฝรั่งเศสอย่าง ฌูลส์ กุนเด หรือเหล่านักบาสเกตบอล NBA ที่สร้างวัฒนธรรมการแต่งตัวอันโดดเด่นระหว่างเดินเข้าสนาม นั่นถือเป็นการคว้าชัยชนะไปแล้วหนึ่งก้าวก่อนเกมจะเริ่ม เพราะพื้นที่สื่อคือส่วนสำคัญ และเชื่อว่าวัฒนธรรมกีฬา นักกีฬาที่เป็นไอดอล ไปจนถึงช่วงเวลาของการแข่งขัน จะถูกนำมาสร้างประโยชน์ทางการตลาดได้อย่างมหาศาลในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึง