×

โอลลี วัตกินส์ จากเด็กทีมนอกลีก สู่ฮีโร่ตัวซีเคร็ตทีมชาติอังกฤษ

12.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จุดสตาร์ทของวัตกินส์ไม่ใช่การถูกแมวมองค้นพบตัว แต่เป็นความพยายามในแคมป์ฤดูร้อนของเอ็กซ์เตอร์ ที่นอกจากจะเป็นการสอนฟุตบอลให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนอย่างมีประโยชน์แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่แมวมองของสโมสรจะคัดเด็กที่มีแววมาเข้าอะคาเดมีด้วย
  • วัตกินส์ถูกส่งตัวไปให้กับทีมนอกลีกอย่างเวสตัน-ซูเปอร์-แมร์ (Weston-super-Mare) ยืมใช้งานในฤดูกาล 2014/15 เพื่อเสริมกระดูกให้แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับเกมระดับอาชีพก่อน
  • การฝึกซ้อมไม่ได้ทำในห้องซิมูเลเตอร์ราคาแพงอะไร แค่อุปกรณ์พื้นฐานที่สโมสรฟุตบอลมีกับเสาประตู โดยวัตกินส์จะต้องฝึกการยิงประตูให้แม่นยำที่สุด จับ-แต่ง-ยิง ทั้งเท้าขวาและเท้าซ้าย ทั้งมุมล่างและมุมบน ทำซ้ำไปแบบนี้จนกลายเป็นระบบอัตโนมัติ

เกมดำเนินมาถึงช่วงของการทดเวลาบาดเจ็บ แนวโน้มที่อังกฤษและเนเธอร์แลนด์จะต้องต่อสู้กันอีก 30 นาทีมีค่อนข้างสูง

 

แต่สำหรับ โอลลี วัตกินส์ เขามีอีกความคิดในใจ

 

“ผมบอกกับโคล (พาลเมอร์) ว่าเราจะได้ลงสนามด้วยกันทั้งคู่ และเขาจะเป็นคนผ่านบอลให้ผมตั้งแต่ช่วงครึ่งแรก” หัวหอกวัย 28 ปีบอก “ผมบอกกับตัวเองย้ำๆ แบบนี้จนในเกมผมเห็นเขากลับตัว ผมรู้ทันทีว่าผมต้องขยับตัวแล้ว โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ดังนั้นผมจำเป็นที่จะต้องเห็นแก่ตัว ผมต้องคว้ามันให้ได้”

 

ในวินาทีนั้นเองที่วัตกินส์ฉีกตัวเองไปรับบอลในกรอบเขตโทษ ที่แม้มุมจะไม่ได้เปิดกว้างมากนัก และมี สตีเฟน เดอ ฟราย ตามมาประกบจากข้างหลัง แต่เขาสัมผัสบอลแรกได้ดี ทั้งแตะหนีตัวประกบและเปิดองศาให้ตัวเอง

 

ก่อนที่วัตกินส์จะหวดแบบเต็มๆ ลูกพุ่งเรียดเบียดเสาไกลเข้าไปในมุมสุดที่จะเชื่อ “ผมไม่รู้ว่าผมเคยหวดบอลได้สวยขนาดนี้มาก่อนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือมันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากๆ สำหรับผม”

 

ช่วงเวลาที่กองหน้าดาวรุ่งคนหนึ่งที่เริ่มต้นเส้นทางของเขาในลีกทู หรือระดับดิวิชัน 4 ของอังกฤษ ไม่เคยคิดฝันมาก่อน

 

 

“ผมไม่เคยคิดว่าผมจะได้มาเล่นในยูโรให้กับทีมชาติอังกฤษหรอก” โอลลี วัตกินส์ กล่าว “ทุกคนฝันได้ แต่ผมเป็นพวกที่มองโลกตามความจริง สมัยนั้นผมคิดถึงแค่การกลับมาเล่นทีมชุดใหญ่ให้กับเอ็กซ์เตอร์แค่นั้นเอง”

 

เอ็กซ์เตอร์ที่เขาพูดถึงคือสโมสรฟุตบอลแห่งแรกในชีวิต สโมสรแรกที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากสำหรับเด็กที่ไม่ได้เก่งแบบโดดเด่นตั้งแต่เริ่ม

 

จุดสตาร์ทของวัตกินส์ไม่ใช่การถูกแมวมองค้นพบตัว แต่เป็นความพยายามในแคมป์ฤดูร้อนของเอ็กซ์เตอร์ ที่นอกจากจะเป็นการสอนฟุตบอลให้เด็กๆ ได้มีโอกาสใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนอย่างมีประโยชน์แล้ว ยังเป็นสถานที่ที่แมวมองของสโมสรจะคัดเด็กที่มีแววมาเข้าอะคาเดมีด้วย

 

การเข้าแคมป์ฤดูร้อนครั้งแรกของวัตกินส์คือตอนอายุ 10 ขวบ แต่ไม่สมหวัง เพราะฝีเท้ายังไม่เข้าตาแมวมอง จนถูกส่งตัวกลับบ้านไป 

 

แต่เด็กคนนี้ไม่ยอมแพ้ เช่นเดียวกับแม่ เดลซี เมย์ นักร้องอาชีพแห่งวง The Superstitions ที่กระเตงลูกข้ามเรือเฟอร์รีเป็นระยะทาง 20 ไมล์ เพื่อให้ได้มาซ้อมฟุตบอลทุกวัน

 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม วัตกินส์ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่อะคาเดมีของเอ็กซ์เตอร์จนได้ แต่ก็ต้องเริ่มจากระดับพื้นฐานที่สุดคือเลเวล 3 ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาเรื่อยๆ

 

ด้วยความที่เป็นสโมสรเล็กๆ ห้องฝึกซ้อมก็อยู่ติดกับโรงอาหาร ทุกคนใกล้ชิดกันหมด เขาจึงอยู่ในสายตาของ พอล ทิสเดล ผู้จัดการทีมเอ็กซ์เตอร์ในขณะนั้น และ สตีฟ เพอร์รีแมน ตำนานฮีโร่นัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพของท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ที่เป็นผู้อำนวยการสโมสร 

 

และเป็นคนหลังนี่เองที่มองเห็นประกายแสงแรกของวัตกินส์ในวันแรกของการพรีซีซัน ซึ่งมีการจัดให้ทีมชุดใหญ่ได้เจอกับทีมเยาวชนเพื่อทดสอบกันเองหน่อย

 

ในเกมนั้นเองมีจังหวะหนึ่งที่วัตกินส์ได้บอลแถวริมเส้นและทำท่าเหมือนเตรียมจะจับบอล ซึ่งถ้าจับแล้วเล่นช้าจะโดนเข้าบอลแน่นอน แต่ปรากฏว่าเขาวิ่งข้ามบอล ปล่อยให้ลูกลอดขาไป ก่อนที่จะสับเต็มฝีเท้า แบ็กตัวเก๋าของทีมชุดใหญ่เสียท่าและเสียหน้าอย่างจัง

 

“ไอ้หนูนี่มันน่าจะใช้ได้” เพอร์รีแมนคิดในใจเวลานั้น

 

 

แต่วัตกินส์ถูกส่งตัวไปให้กับทีมนอกลีกอย่างเวสตัน-ซูเปอร์-แมร์ (Weston-super-Mare) ยืมใช้งานในฤดูกาล 2014/15 เพื่อเสริมกระดูกให้แข็งแกร่ง พร้อมสำหรับเกมระดับอาชีพก่อน

 

เวสตัน-ซูเปอร์-แมร์ เป็นสโมสรในคอนเฟอเรนซ์เซาท์ ซึ่งอยู่นอกลีกเทียบได้กับดิวิชันที่ 6 ซึ่งในลีกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นอายุมากที่ลงเล่นเพียงเพื่อหารายได้ประคับประคองชีวิต แต่สำหรับวัตกินส์แล้ว ที่นี่คือโรงเรียนที่สอนให้เขาได้รู้จักกับด้านมืดที่น่าชิงชังของเกมฟุตบอล

 

ทั้งคนที่หมดไฟ และเกมที่หนัก การตุกติก การเอาเปรียบชิงไหวชิงพริบ ที่หากเป็นกองหน้าไก่อ่อนธรรมดาก็คงถอดใจไปนานแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อะคาเดมีที่ไหนก็ไม่สามารถสอนเขาได้

 

วัตกินส์เติบโตอย่างเข้มแข็งในช่วงหนึ่งของฤดูกาลนั้น ก่อนจะได้กลับมาเอ็กซ์เตอร์อีกครั้ง และคราวนี้ในวัย 19 ปีเขาพร้อมแล้วที่จะลุย เช่นเดียวกันกับ พอล ทิสเดล ผู้จัดการทีมที่ยังอยู่กับทีม และมองเห็นพัฒนาการของเด็กคนนี้ที่พร้อมจะให้โอกาส

 

ทิสเดลอ่านขาดว่าตอนนี้ศักยภาพของวัตกินส์ไม่ใช่ผู้เล่นในระดับลีกทู แต่ฝีเท้าน่าจะถึงขั้นเล่นพรีเมียร์ลีกได้ แต่เขาต้องการการชี้แนะบางอย่าง

 

ในเกมดาร์บีแมตช์ระหว่างเอ็กซ์เตอร์กับพลีมัธ ทิสเดลเรียกวัตกินส์มาคุย ก่อนบอกว่าเขาจะต้องไปเล่นตำแหน่งอื่นก่อน พร้อมให้คำแนะนำที่จำเป็นบางอย่าง

 

ตำแหน่งอื่นที่ว่าคือ การยืนเป็นกองกลางฝั่งซ้ายในระบบการเล่นแบบ ‘ไดมอนด์’ หรือกองกลางยืน 4 คนเป็นรูปเพชร เกมนั้นเขาเล่นได้อย่างสุดยอด เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำแมตช์ ก่อนที่ในอีก 10 นัดต่อมาวัตกินส์จะยิงระเบิดถึง 8 ประตู

 

ความโดดเด่นของเขาทำให้แมวมองจากสโมสรในพรีเมียร์ลีกอย่างสเปอร์สและบอร์นมัธมาดูฟอร์ม แต่เป็นเบรนท์ฟอร์ดที่ยื่นข้อเสนอจริงจัง 3 แสนปอนด์ ซึ่งถูกปฏิเสธในทีแรก แต่สุดท้ายพวกเขากลับมาใหม่กับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ 1.8 ล้านปอนด์

 

โดยที่ในสัญญานั้นระบุเงื่อนไขในการปล่อยตัววัตกินส์เอาไว้ว่า ถ้าใครอยากจะได้ตัวไปต้องจ่าย 30 ล้านปอนด์

 

เงิน 1.8 ล้านปอนด์ที่ได้มาพลิกชีวิตเอ็กซ์เตอร์ สโมสรที่เคยล้มละลายในปี 2003 พวกเขาสามารถพลิกโฉมสนามซ้อมให้ทันสมัย ขณะที่เบรนท์ฟอร์ดก็ได้กำไรมหาศาล เพราะวัตกินส์ยิงระเบิดในระดับแชมเปียนชิป จนแอสตัน วิลลา จ่ายเงิน 30 ล้านปอนด์เพื่อคว้าตัวตามเงื่อนไขในสัญญา

 

 

และหลังจากที่พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเขาคือกองหน้าในระดับลีกสูงสุดที่แท้จริงมาหลายปี ภายใต้การดูแลของ อูไน เอเมรี ยอดกุนซือชาวสเปน วัตกินส์ได้รับการฝึกฝนในทักษะบางอย่างที่เขาอาจจะดีไม่พอคือ เรื่องของการจบสกอร์ที่เฉียบขาดโดยไม่ต้องใช้โอกาสให้สิ้นเปลือง

 

การฝึกซ้อมไม่ได้ทำในห้องซิมูเลเตอร์ราคาแพงอะไร แค่อุปกรณ์พื้นฐานที่สโมสรฟุตบอลมีกับเสาประตู โดยวัตกินส์จะต้องฝึกการยิงประตูให้แม่นยำที่สุด จับ-แต่ง-ยิง ทั้งเท้าขวาและเท้าซ้าย ทั้งมุมล่างและมุมบน ทำซ้ำไปแบบนี้จนกลายเป็นระบบอัตโนมัติ

 

ผลของการฝึกซ้อมอย่างหนักทำให้ในฤดูกาล 2023/24 ที่ผ่านมา วัตกินส์ทำผลงานได้ร้อนแรงที่สุดให้กับแอสตัน วิลลา โดยยิงไปถึง 27 ประตู พาสโมสรกลับไปเล่นในระดับแชมเปียนส์ลีกได้อีกครั้งนับจากยุคสมัยที่ ปีเตอร์ วิธ อดีตโค้ชทีมชาติไทย ที่เคยพาทีมจากมิดแลนด์คว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพในยุค 80

 

ก่อนที่จะกลายเป็นฮีโร่ของทีมชาติอังกฤษ พาทีมเข้าชิงยูโร 2024 ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

 

เพียงแต่นี่ไม่ใช่ตอนจบในเรื่องราวของวัตกินส์ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ของฮีโร่ที่เคยเป็นคนธรรมดาๆ เหมือนทุกคนมาก่อน

 

โดยที่เขาทำได้ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นความจริงที่พึ่งพิงสองขากับหนึ่งหัวใจของตัวเองล้วนๆ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X