×

‘โออิชิ แกรนด์’ ยกเครื่องใหญ่ ปรับโฉมให้เป็น ‘โอมากาเสะ’ ที่มีซูชิสารพัดหน้าและซาชิมิแล่สด พร้อมขยับราคาเป็น 1,059-2,659 บาท

04.01.2023
  • LOADING...
โอมากาเสะ

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ ‘โออิชิ แกรนด์’ แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นที่พรีเมียมที่สุดของ ‘โออิชิ’ ได้เปิดขึ้นมา หลังจากวางตัวเป็นร้านที่เน้นอาหารนานาชาติที่เป็นวาไรตี้แบบบุฟเฟต์ แต่ครั้งนี้ได้หันกลับมาโฟกัสความเป็นญี่ปุ่น ด้วยการปรับคอนเซปต์ให้เป็นแบบ ‘โอมากาเสะ’

 

การปรับคอนเซปต์ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการย้ายมาตั้งยังทำเลแห่งใหม่อย่างบริเวณชั้น 4 โซนฟู้ด พาสสาจ (ฝั่งนอร์ธ) ที่สยามพารากอน โดยมีพื้นที่ 400 ตารางเมตร 120 ที่นั่ง ใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท โดยลดลงจากพื้นที่ 600 ตารางเมตร และ 200 ที่นั่งในทำเลเดิม กระนั้นร้านแห่งใหม่สามารถจัดโต๊ะได้หลายรูปแบบที่สามารถรองรับลูกค้าเป็นกลุ่มได้มากขึ้น 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ กล่าวว่า โออิชิ แกรนด์ ยกระดับครั้งใหญ่ สู่การเป็นภัตตาคารบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่นเต็มรูปแบบ โดยชูจุดเด่นด้านคุณภาพสินค้า/อาหาร นำเสนอผ่านซูชิสารพัดหน้า คุณภาพเทียบเท่าระดับโอมากาเสะ และซาชิมิแล่สดๆ

 

“จากเดิมเราเน้นความเป็นวาไรตี้ มีเมนูเยอะๆ ให้ลูกค้าได้เลือก แต่ตอนนี้เราจะเน้นญี่ปุ่น อันไหนที่ไม่ใช่ก็จะเอาออก โดยจะทำแบบเมดทูออร์เดอร์ ซึ่งนอกจากให้ประสบการณ์แบบโอมากาเสะแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) และขยะอาหาร (Food Waste) อีกด้วย”

 

โอมากาเสะในไทยกำลังเฟื่องฟู

การปรับตัวของโออิชิ แกรนด์ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากมองเข้าไปยังพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพและสุขภาพไปพร้อมกัน โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นแบบโอมากาเสะที่เติบโตอย่างมากในช่วงโควิด ที่คนไทยไม่สามารถบินไปกินถึงต้นตำรับได้

 

“แรงผลักดันเบื้องหลังความเฟื่องฟูของโอมากาเสะของประเทศไทยคือความเบื่อหน่ายกับการระบาดของโควิด และความปรารถนาที่จะเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงการเดินทางไปญี่ปุ่น ซึ่งผู้คนสามารถเพลิดเพลินกับอาหารรสเลิศ” วรรณรัตน์ วิศวสุขมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ฮาคูโฮโด (กรุงเทพฯ) จำกัด กล่าวกับ Nikkei Asia

 

“คนไทยที่มีเงินกำลังใช้จ่ายในประสบการณ์ที่ดีและอาหารที่ดีที่พวกเขาสามารถมีได้ เพราะไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ (ในตอนนี้)” เธอกล่าวเสริม “ด้วยอาหารแบบโอมากาเสะ พวกเขาสามารถหลบหนีจากความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้เล็กน้อย และสัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นแท้ๆ ระดับพรีเมียม”

 

ต้นทุนวัตถุดิบสูงยังเป็นความท้าทายของการฟื้นตัว

ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ระบุว่า ในปี 2565 ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,325 ร้าน เพิ่มขึ้นจาก 4,370 ร้านในปี 2564 หรือมีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 955 ร้าน คิดเป็น 21.9% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550

 

เมื่อจำแนกจำนวนร้านที่เปิดตำเนินการอยู่ด้วยราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว พบว่าระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 101-250 บาท เป็นช่วงราคาที่มีจำนวนร้านมากที่สุด ตามด้วยระดับราคา 251-500 บาท ซึ่งเหมือนกันทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ระดับราคาที่รองลงมาคือ 501-1,000 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และต่ำกว่า 100 บาทสำหรับต่างจังหวัด

 

รายงานยังระบุด้วยว่า จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับร้านอาหารญี่ปุ่น (ระยะเวลา 15 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม) หลายท่านให้ความเห็นว่ายอดขายของร้านอาหารญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นถึงประมาณ 70-90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เหตุผลหลักที่ฟื้นตัวยังไม่เต็มที่ที่หลายท่านพูดถึงคือ ตันทุนวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้น การฟื้นตัวของความต้องการงานเลี้ยงสังสรรค์ และจำนวนนักท่องเที่ยว เป็นต้น

 

ปรับราคาใหม่

เรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่นงนุชยอมรับว่าเกิดขึ้นกับร้านโออิชิ แกรนด์เหมือนกัน แต่ “เราต้องการเป็นคนเน้นย้ำภาพความเป็นผู้นำร้านอาหารญี่ปุ่น จึงต้องจัดเต็มกับวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่นเกือบทั้งหมด”

 

การปรับปรุงครั้งนี้ยังมาพร้อมกับราคาใหม่ จากเดิมราคาสุทธิคนละ 995 บาท ได้เพิ่มเป็น 3 ราคา ได้แก่ 1,059 บาท++, 1,659 บาท++ และ 2,659 บาท++ สามารถรับประทานอาหารในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

 

“โออิชิ แกรนด์ เราวางแผนที่จะขยายแน่นอน อาจจะเพิ่มอีกแค่ 1-2 สาขาเท่านั้น เพราะเราอยากให้เป็นเดสติเนชันที่ทุกคนอยากมา” นงนุชกล่าวทิ้งท้าย 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising