×

มองการปรับตัวของ ‘โออิชิ’ ท่ามกลางกระแสโควิด ด้วยการปล่อย ‘ร้านอาหารเคลื่อนที่’ เข้าถึงลูกค้า เริ่มประเดิมก่อนในปั๊มน้ำมัน

19.08.2021
  • LOADING...
โออิชิ

‘ธุรกิจร้านอาหาร’ กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ต้องปรับตัวมากที่สุดธุรกิจหนึ่ง เพราะการระบาดของโรคโควิดได้เข้ามาส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้หลักอย่าง ‘การนั่งกินในร้าน’ ที่ไม่สามารถเปิดรับลูกค้าได้อย่างปกติ

 

สำหรับ ‘โออิชิ’ หนึ่งในเชนร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ของไทย นอกเหนือจากการเปิดโมเดล Cloud Kitchen เพื่อรุกช่องทางเดลิเวอรีอันเป็นพฤติกรรมใหม่ของลูกค้าแล้ว ล่าสุดยังได้เพิ่มโมเดลใหม่นั่นคือ ‘ร้านอาหารเคลื่อนที่’ หรือ ‘โออิชิ ฟู้ดทรัก’

 

“ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางขายแบบซื้อกลับบ้าน (Take Home) และจัดส่ง (Delivery) มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีการปรับรูปแบบร้านให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดในปัจจุบัน โดยเน้นเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างครอบคลุมและรวดเร็ว ผ่านการเปิดตัวและขยายธุรกิจสู่ร้านอาหารประเภทฟู้ดทรักหรือรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่” ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจร้านอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

โออิชิ ฟู้ดทรัก นั้นจะมีเมนูอาหารจากร้านในเครือ โดยมีทั้งเมนูกลุ่มเบนโตะ เมนูกลุ่มดงบุริ และเมนูกลุ่มอาหารว่างและของทานเล่น ราคาเริ่มต้นที่ 69 บาท เบื้องต้นมีทั้งหมด 10 กว่าคัน โดยให้บริการภายในสถานีบริการน้ำมันซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้คนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ก่อน หลังจากนี้จะขยายไปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โออิชิได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2563-2564 พบว่ามีรายได้รวม 2,602 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 448 ล้านบาท หรือ 20.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิ 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79 ล้านบาท หรือ 95.8% จาก 83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน

 

เจาะเข้าไปธุรกิจเครื่องดื่ม มีรายได้ 1,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% ขณะที่ธุรกิจอาหารมีรายได้ 787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157 ล้านบาท หรือ 24.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศที่ยังไม่คลี่คลายจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งคาดว่ามูลค่ารวมของรายได้ธุรกิจร้านอาหารทั้งปี 2564 จะหายไปไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท

 

แต่ด้วยปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ในปี 2564 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 5.31-5.58 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวสูงถึง 18.4-24.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X