นับเป็นครั้งแรกหลังจากที่โออิชิออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ได้มีการจัดแถลงข่าว ซึ่งในครั้งนี้เป็นการทำแคมเปญฉลองก้าวสู่ปีที่ 25 ซึ่งจะมีการทำกิจกรรมตลอดทั้งปี
“เราให้ความสำคัญกับการนำเสนอประสบการณ์และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค ที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ด้วยการพัฒนาที่มีคุณภาพ ผสานการสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ ตรงใจ เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ดีขึ้นอยู่เสมอ นับตั้งแต่วันแรกของการดำเนินธุรกิจเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 เป็นต้นมา” นงนุช บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
ไฮไลต์ของแคมเปญนี้อยู่ที่เมนูใหม่จากยอดเชฟแนวหน้าของเมืองไทย ทั้ง เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ท็อปเชฟไทยแลนด์ และมาสเตอร์เชฟ มาทำเมนูอาหารญี่ปุ่นจานพิเศษคาว-หวานต่างๆ ในเครือโออิชิ
สำหรับจำนวนสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566)
ร้านอาหารระดับพรีเมียม
– OISHI GRAND (โออิชิแกรนด์) จำนวน 1 สาขา
– HOU YUU (โฮว ยู) จำนวน 5 สาขา
– SAKAE (ซาคาเอะ) จำนวน 1 สาขา
ร้านอาหารระดับพรีเมียมแมส
– OISHI EATERIUM (โออิชิ อีทเทอเรียม) จำนวน 10 สาขา
– OISHI BUFFET (โออิชิ บุฟเฟต์) จำนวน 6 สาขา
– NIKUYA By OISHI (นิกุยะ) จำนวน 5 สาขา
– SHABU By OISHI (ชาบู บาย โออิชิ) จำนวน 2 สาขา
ร้านอาหารระดับแมส
– SHABUSHI (ชาบูชิ) จำนวน 173 สาขา
– OISHI RAMEN (โออิชิ ราเมน) จำนวน 47 สาขา
– KAKASHI By OISHI (คาคาชิ) จำนวน 12 สาขา
– OISHI BIZTORO (โออิชิ บิซโทโระ) จำนวน 19 สาขา
รวมจำนวนสาขาทั้งหมด 281 สาขา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในการแถลงทิศทางประจำปี ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากนำโออิชิออกจากตลาดหุ้น ก็ได้เริ่มจัดโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ทั้งการพัฒนาแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม และการขยายไปในตลาดใหม่ ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการชัดเจนมากขึ้น
เป้าหมายใหญ่ของทั้งเครื่องดื่มและอาหารภายใต้เครือโออิชิ คือการออกไปเติบโตในต่างประเทศ เริ่มจากกลุ่มเครื่องดื่ม จะนำโออิชิ กรีนที บุกหนักในตลาดเวียดนาม โดยจะนำอินโนเวชันด้านรสชาติใหม่ๆ เข้าไปสู้การแข่งขันในตลาดเวียดนาม
“ยอมรับว่าตลาดชาพร้อมดื่มในเวียดนามเป็นตลาดใหญ่ และแข่งขันรุนแรงมาก ซึ่งมีหลากหลายแบรนด์ ส่วนใหญ่จะเน้นแข่งเรื่องรสชาติและราคาเป็นหลัก ซึ่งเรามองว่าเป็นโอกาสเข้าไปชิงส่วนแบ่งตลาด”
ส่วนธุรกิจอาหาร หลังจากโควิดคลี่คลายลง ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้น เทรนด์การใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มขึ้น ดังนั้นร้านอาหารในเครือไทยเบฟจะต้องเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคมากขึ้น
รายงานของ SCB EIC ระบุว่า ธุรกิจบริการอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโตราว 11% ในปีหน้า เนื่องจากการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรง จะส่งผลให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นตาม เนื่องจากธุรกิจบริการอาหารเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำจำนวนค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจบริการอาหารยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด