ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาทองคำและน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวกลับขึ้นมา โดยเป็นสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับแต่เดือนมีนาคม 2655 โดยราคาทองคำเพิ่มขึ้นราว 4% ขึ้นไปแตะระดับ 1,729 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นราว 11% ไปเกือบ 89%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่หนุนให้ราคาทองคำและน้ำมันพุ่งขึ้นมาในสัปดาห์นี้ เป็นผลจากการที่ค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ย่อตัวลงมาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- โอเปกพลัส ‘OPEC+’ ประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มุ่งหนุนราคาน้ำมัน เริ่มเดือนพฤศจิกายนนี้
- ทองคำแท่ง ที่มีราคาเป็นปอนด์ไต่ขึ้นใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังชาวอังกฤษแห่ซื้อเพื่อหนีวิกฤตค่าเงิน
“ปัจจุบันราคาทองคำแปรผกผันกับค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ประมาณ 90% ขณะที่ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากการที่ OPEC ตัดสินใจลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงพอสมควร”
อย่างไรก็ตาม ณัฐชาตมองว่า ในระยะสั้นยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ แก่ทองคำและน้ำมันมากนัก ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะรายงานตัวเลขการจ้างงานและตัวเลขเงินเฟ้อในสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เดือนพฤศจิกายนนี้
“ปัจจุบันนักลงทุน 70-80% ในตลาด Price-in การขึ้นดอกเบี้ยระดับ 0.75% หมายความว่ายังมีช่องว่างให้นักลงทุนอีกส่วนหนึ่ง Price-in เพิ่มเติม หาก Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จริง ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สูงขึ้นได้อีกเล็กน้อย”
ราคาทองคำและน้ำมัน รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ จะกลับตัวเป็นขาขึ้นได้ต่อเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จบลง นอกจากทองคำและน้ำมันแล้ว จะเห็นว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ยังไม่ได้ฟื้นตัวมากเท่าใดนัก โดยเฉพาะสินค้าอย่างโลหะอุตสาหกรรมซึ่งล้อไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จะเห็นว่าราคายังอยู่ในระดับล่าง
ด้าน Bloomberg รายงานว่า ตลาดน้ำมันยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียได้กล่าวว่าไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน
ขณะที่นักลงทุนกำลังรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่จะถูกรายงานออกมาหลังจากนี้ เช่น รายงานขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ขณะที่การใช้นโยบายตึงตัวของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยังก่อให้เกิดความกังวลว่าความต้องการใช้น้ำมันจะลดลง
ในด้านอุปทาน ตลาดยังคงจับตาดูว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของยุโรปจะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ Goldman Sachs และ Morgan Stanley ต่างมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อราคาน้ำมันว่าอาจจะพุ่งกลับไปสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ภายหลังการลดกำลังการผลิตของ OPEC+
ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เช่น ภาวะแห้งแล้งของแม่น้ำมิสซิสซิปปีในสหรัฐฯ ทำให้ผลผลิตของข้าวโพดอาจจะลดลง และอาจจะกระทบต่อการขนส่งสินค้าอย่างพืชผลการเกษตร ปิโตรเลียม ปุ๋ย และโลหะ
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-06/oil-poised-for-biggest-weekly-rally-since-march-on-opec-move?srnd=markets-vp&sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-07/gold-set-for-largest-weekly-gain-since-march-amid-mixed-us-data?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-07/commodities-roared-into-the-new-quarter-now-comes-the-hard-bit?sref=CVqPBMVg