นี่มันยุคไหนกันแล้วนะครับที่เรายังล้อเลียนด้านกายภาพกันอยู่ มันตลกดีนะครับที่คนเราหนึ่งคนเป็นอะไรตั้งมากมายแต่ดันมาถูกจำกัดความอยู่แค่คำคำเดียวอย่างอ้วน ผอม ตุ๊ด เกย์ ชาย หญิง ฉลาด โง่ ไฮโซ ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ขาว ดำ สลิ่ม แก่ ป้า ฯลฯ
Q: เพื่อนร่วมงานชอบเอาความอ้วนของเราไปล้อเล่นอยู่บ่อยๆ ค่ะ ยิ่งเราด่าเขาก็ยิ่งสนุกปาก เรารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเลย คนไม่อ้วนไม่เข้าใจหรอกค่ะ อ้วนแล้วไปหนักส่วนไหนกันคะ จะทำอย่างไรดีให้เขาเลิกแซวเราดีคะ
Q: เพื่อนชอบมาเมนต์แรงๆ กัดเราในเฟซบุ๊กค่ะ ตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร แต่บ่อยๆ เข้าก็รำคาญและโกรธ อยากจะด่ากลับไปแรงๆ เหมือนกันแต่ก็ทำไม่ลง ควรทำอย่างไรให้เขาเลิกกัดเราเสียทีคะ
Q: เพื่อนร่วมออฟฟิศชอบแซวผมว่าแต่งตัวเหมือนเกย์ แต่ผมไม่ได้เป็นเกย์ ผมแค่ชอบแต่งตัว แล้วหน้าผมก็ดันเหมือนเกย์ บุคลิกผมเหมือนเกย์ ผมควรทำอย่างไรดีครับให้เพื่อนเลิกแซวผมสักที
A: ผมเห็นว่าปัญหาของทั้งสามท่านนี้มีจุดเชื่อมโยงร่วมกันบางอย่างในเรื่องการถูกแซวหรือจิกกัดในเรื่องส่วนตัวจนรู้สึกขาดความมั่นใจ และอยากถีบหน้าคนแซว เอ้ย! อยากให้อีกฝ่ายหยุดแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ผมขออนุญาตรวบตึงมาตอบด้วยกันเลยนะครับ
เมื่อก่อนผมก็เป็นคนอ้วนมาก เคยหนักเกือบจะร้อยกิโล เพราะฉะนั้นผมพอจะเข้าใจว่าเวลาตกเป็นเป้าของการโดนแซวรู้สึกอย่างไร และถึงไม่ใช่เรื่องอ้วน ผมคิดว่าทุกคนก็คงเคยมีประสบการณ์โดนแซวจนเรารู้สึกไม่มั่นใจ คือบางครั้งเราน่ะไม่ได้มีปัญหากับเรื่องที่เขาแซวเลย แต่มันดันไปเป็นปัญหาของคนอื่น จนคนอื่นนี่แหละมาสร้างปัญหาให้เรา เหมือนอย่างที่คุณบอกนั่นแหละครับว่า เราอ้วนของเราอยู่ดีๆ อยู่ๆ ก็มีคนมาเดือดร้อนในความอ้วนของเราเองโดยไม่ได้รับเชิญ
นี่มันยุคไหนกันแล้วนะครับที่เรายังล้อเลียนด้านกายภาพกันอยู่ มันตลกดีนะครับที่คนเราหนึ่งคนเป็นอะไรตั้งมากมายแต่ดันมาถูกจำกัดความอยู่แค่คำคำเดียวอย่างอ้วน ผอม ตุ๊ด เกย์ ชาย หญิง ฉลาด โง่ ไฮโซ ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ขาว ดำ สลิ่ม แก่ ป้า ฯลฯ ผมว่ามันดูตื้นเขินไปหน่อยที่เราจะมองมนุษย์แค่มิติเดียวแบบนั้น คนเราเป็นอะไรได้ตั้งมากมายแต่มาลดความเป็นมนุษย์ของเขาเหลือแค่คำคำเดียวว่า ‘อ้วน’ เนี่ยนะ?
ผมคิดว่าคนหนึ่งคนก็เป็นหนึ่งจักรวาลในตัวเขา มีเขาแบบนี้คนเดียวในโลก ไม่มีใครเหมือน หนึ่งคนก็คือหนึ่งตัวตนซึ่งเราไม่ควรไปแบ่งแยกว่าเขาเป็นอะไรเพียงเพื่อสร้างคำจำกัดความให้เขา เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามให้คำจำกัดความตัวเขาให้เหลือเพียงแค่คำคำเดียว ไม่ว่าจะเป็น อ้วน ผอม หล่อ สวย ชาย หญิง เกย์ ฯลฯ เราจะละเลยที่จะมองเขาในมิติอื่นๆ เพราะหนึ่งชีวิตนั้นกลายมาเป็นเพียงแค่คำคำเดียว มิติเดียว
เมื่อคนเรามีความหลากหลาย แน่นอนครับว่าจะต้องมีคนที่ไม่เข้าใจ มีคนที่แปะสติกเกอร์ตัวตนเราให้เหลืออยู่แค่คำคำเดียว ทีนี้มันก็อยู่ที่ว่าเราคิดว่าคำพูดของเขามีราคากับเรามากแค่ไหนล่ะครับ
เวลาจะเมนต์อะไรในเฟซบุ๊กต้องระวังนะครับ เพราะทุกสิ่งที่เราโพสต์มีคนเห็นหมด ลองคิดดูว่าถ้าเราเมนต์อะไรไปไม่ดี มันมีหน้าเราอยู่ตรงนั้น มีชื่อเราอีก คลิกเข้ามาดูก็มีข้อมูลทุกอย่างว่าเราเป็นใคร มีความสัมพันธ์กับใคร เป็นมาอย่างไร เผลอๆ รู้หมดว่าใครเป็นพ่อแม่เรา ฯลฯ ก่อนจะทำอะไรในโซเชียลมีเดียเราน่าจะคิดดีๆ ว่า ทำอะไรไปมันมีหน้าเราอยู่นะ อายนิดหนึ่ง — ไม่สิ ต้องเซนสิทิฟกับความอายให้มากๆ
เวลามีคนมาเมนต์อะไรแรงๆ หรือจิกกัดเราทั้งในโลกความจริงหรือโลกโซเชียล มันง่ายมากนะครับที่เราจะโกรธและตอบโต้เขากลับไปแรงๆ ลึกๆ แล้วเราก็อยากจะด่าให้สาแก่ใจนี่แหละ แรงมาแรงกลับ บางทีพูดออกไปมันได้แค่ความสะใจ แต่เราไม่รู้เลยว่าคำพูดเราจะไปทำร้ายคนอื่นหรือเปล่า ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราด่าเขากลับว่า “อ้วนแล้วไขมันไปหนักบนหัวพ่อแกเหรอ!” แล้วปรากฏว่า เออว่ะ…พ่อเขาไม่อยู่แล้ว แล้วคำพูดเรามันไปจี้จุดที่เปราะบางของเขาล่ะ เราก็กำลังสร้างบาดแผลให้เขามากกว่าเดิมนะครับ จริงไหมครับ
เป็นไปได้ไหมครับว่า ลึกๆ แล้วคนที่เมนต์แรงๆ แซวแรงๆ เขาอาจจะมีปมบางอย่างที่ทำให้ต้องใช้การ ‘กด’ คนอื่นเพื่อปิดบาดแผลของตัวเองก็ได้ จริงๆ แล้วเขาอาจจะเปราะบางมากนะครับ และต้องใช้ความแรงมาปกปิดความอ่อนแอของเขา ผมว่าจริงๆ คนเหล่านี้น่าสงสาร โตป่านนี้แล้วยังไม่รู้กาลเทศะอีก
อ่านถึงตรงนี้ผมคิดว่าไม่ได้แปลว่าจะกัดใคร แซวใครไม่ได้นะครับ คนกัดเก่งแซวเก่งนี่ฉลาดนะครับ มีวาทศิลป์เป็นเลิศ สมองต้องไวมากถึงจะคิดมุกมากัดคนอื่นได้ แต่นอกจากฉลาดเรื่องวาทศิลป์แล้วต้องฉลาดเรื่องกาลเทศะด้วย ถ้าความสนุกของเรามันไปทำลายคนอื่นก็ไม่ควรทำ คนเราต้องมีมารยาทและห่วงใยความรู้สึกคนอื่น
ถ้าจะทำอะไรได้สักอย่าง ผมคิดว่าเราแค่ไม่ให้ราคากับคำพูดของเขาครับ อยากพูดอะไรมาเราจะเฉย ปล่อยเบลอ แล้วเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นหมดครับยกเว้นคนที่ไม่รู้กาลเทศะแบบนี้ อยากเมนต์อยากกัดอะไรตามสบาย เพราะผมถือว่าเขากล้าพิมพ์มาแบบนั้นแล้ว หน้ากับชื่อตัวเองก็อยู่แบบนั้น ให้คนอื่นเห็นไปนั่นแหละ พิมพ์อะไรมามันก็ฟ้องเองว่าเขาเป็นคนแบบไหน มีทัศนคติอะไรในชีวิต ตัวเราเองไม่ต้องไปใส่ใจกับสิ่งที่เขาเขียน มองบนแล้วผ่านไป แต่กลับกันนะครับ ถ้าเขาเมนต์มาแรงๆ แล้วเกิดผมโต้กลับไปแรงๆ อันนั้นจะซวยผมแล้ว เพราะสิ่งที่ผมพิมพ์มันก็ฟ้องว่าตัวผมเป็นคนอย่างไร มันอาจจะได้แค่ความสะใจ แต่คนอื่นที่มองมาเขาจะคิดว่าเราเป็นคนอย่างไรล่ะครับ
ถ้าประเมินแล้ว เพื่อนร่วมงานคนนี้น่าจะพอปรับปรุงตัวได้ พอจะมีคุณค่ากับเราอยู่ อาจจะลองบอกเขาตรงๆ ก็ได้ แต่ต้องบอกอย่างสุภาพ บอกด้วยความรู้สึกของกัลยาณมิตร บอกในเวลาที่อารมณ์เราไม่ขึ้น
ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด มันทำลายความรู้สึกของเรา เราก็ต้องไม่ใช้วิธีการเดียวกับเขามาเล่นงานเขาครับ เราวางเฉย ปล่อยเบลอ ไม่สนใจ ไม่ให้ราคาใดๆ แค่นี้เราชนะแล้วครับ ไม่ใช่แค่ชนะเขานะครับ ชนะตัวเราเองด้วยที่เราไม่ลากตัวเราเองไปทำอะไรต่ำๆ ตามเขา ถ้าเขาคิดได้ก็เป็นประโยชน์กับชีวิตเขาเองครับ เพราะแปลว่าเขาจะไม่ได้ทำร้ายคนเพิ่ม
หรือถ้าประเมินแล้ว เพื่อนร่วมงานคนนี้น่าจะพอปรับปรุงตัวได้ พอจะมีคุณค่ากับเราอยู่ อาจจะลองบอกเขาตรงๆ ก็ได้ แต่ต้องบอกอย่างสุภาพ บอกด้วยความรู้สึกของกัลยาณมิตร บอกในเวลาที่อารมณ์เราไม่ขึ้น และควรเป็นการคุยกันแค่สองคนนะครับ บอกเขาว่าคำพูดของเขาทำให้เราไม่สบายใจ ถ้าเขาให้คุณค่ากับความรู้สึกของเรา เขาจะขอโทษและพร้อมจะปรับปรุงตัว และเราก็ต้องพร้อมจะให้อภัยเขาด้วย แต่ถ้ากลายเป็นว่าเขาโกรธหรือมองว่าแค่แซวเล่นๆ ขำๆ ไม่เห็นต้องจริงจังขนาดนั้นเลย เราก็ได้รู้ว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเราจริงๆ ที่เหลือก็แล้วแต่คุณแล้วว่าจะยังให้ความสำคัญกับคำพูดของเขาไหม
แต่จะคิดได้หรือไม่ได้นั่นเป็นเรื่องของเขา เราควบคุมไม่ได้ อย่าคาดหวัง ไม่อย่างนั้นนอกจากโดนเขาแซวแล้วยังต้องมาทุกข์กับการคาดหวังว่าเขาจะคิดได้อีก เหนื่อยแย่ เรามาจัดการความรู้สึกของเราเองดีกว่า
ผมได้ปรึกษากับครูออน-ญาณิมา ศรีมังคละ ที่ปรึกษาภาพลักษณ์ ครูออนให้คำแนะนำไว้ด้วยทฤษฎี E + R = O
“ทฤษฎี E + R = O หรือ Evidence + Response = Output โดยที่ Evidence คือเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตของเรา เช่น มีคนมาว่าเรา R คือสิ่งที่เราตอบสนอง เช่น ด่าคืน โกรธแค้น ปัญหาที่เกิดขึ้นเกือบทั้งโลกเป็นเพราะเราต้องการไปเปลี่ยน E ซึ่งมันเป็นไปได้ยาก สิ่งที่เราทำได้คือ การเปลี่ยน R ด้วยตัวเราเอง เพื่อให้ O หรือผลลัพธ์เปลี่ยนไปด้วย เพราะฉะนั้น อยากได้ผลลัพธ์แบบไหน ให้ทำ R ที่ตัวเราให้เป็นแบบนั้น
เช่น ถ้า E คือมีเพื่อนมาเมนต์กัดเราในเฟซบุ๊ก R ของเราจะมีได้หลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนำไปสู่ O ที่มีความเป็นไปได้แตกต่างกัน เมื่อเราเห็น O แต่ละแบบแล้ว ต้องมาถามตัวเองว่าอยากได้แบบไหน และรับผิดชอบกับ O ที่ออกมาได้หรือเปล่า
R1 บล็อกเพื่อนซะ! — O คืออาจจะเข้าหน้ากันไม่ติดในที่ทำงาน
R2 ด่าออกสื่อเลย! — O คือทุกคนเห็นกันหมดว่าสองคนนี้ตีกัน เป็นขี้ปากของคนที่ออฟฟิศอีก กินป๊อปคอร์นรอเลยจ้า!
R3 ช่างเขา เราไม่สน — O คือเราชนะตัวเองไปได้อีกเรื่อง
R4 เข้าใจว่าคนที่สร้างทุกข์ให้คนอื่น ผู้นั้นคือคนทุกข์มาก น่าสงสาร — O คือเราเข้าใจและยกระดับจิตใจตัวเองด้วยการเมตตาคนอื่น
เมื่อมีคนว่าเรา แล้วเราไม่รับ คำด่าว่านั้นจะตกเป็นของใคร ถ้าเราเจ็บปวดกับคำวิจารณ์แสดงว่ามันมีความจริงในนั้น เราต้องกลับมาดูว่าคำวิจารณ์นั้นเป็นไปเพื่อพัฒนาตัวเราหรือมันทำให้เราล้าหลัง ฟังแล้วเราจะทำตัวให้ดีขึ้นหรือเก็บมาคิดแล้วโทษตัวเองหรือคนอื่น
ถ้าเราแสดงออกว่าเรามีความมั่นใจในสิ่งที่เราเป็น เรามีความสุขอยู่แล้ว เราไม่ได้มีปัญหากับสิ่งที่เราเป็น เราไม่ได้รังเกียจตัวเอง และเราเชื่อว่าสิ่งที่เราเป็นไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ใครมาพูดอย่างไรเราก็ไม่กระเทือนนะครับ แต่ถ้าเรายังไม่หนักแน่นกับตัวเองพอ หรือมองไม่เห็นข้อดีของตัวเอง ใครพูดอะไรมาก็กระเทือนเราได้หมดแหละครับ
ส่วนเรื่องโดนแซวว่าเหมือนเกย์ ผมนึกถึง คริส อีแวนส์ นักแสดงฮอลลีวูดที่สวมบทกัปตันอเมริกา เขามีน้องชายเป็นเกย์ และก็โดนคนตั้งข้อสงสัยในเพศสภาพของเขา เพราะสมัยเข้าวงการใหม่ๆ เขายังไปเที่ยวบาร์เกย์กับน้องชายและกลุ่มเพื่อนๆ เกย์อยู่ แต่เดี๋ยวก็มีภาพควงสาวแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาคริสก็ไม่เคยปฏิเสธเรื่องเป็นเกย์หรือไม่เป็นเกย์ เขาให้เหตุผลแบบนี้ครับว่า ถ้าเขาเป็นเดือดเป็นร้อนกับการถูกมองว่าเป็นเกย์ก็แปลว่าเขายอมรับว่าน้องชายที่เป็นเกย์และเกย์อีกทั่วโลกเป็นความผิดปกติ ซึ่งถ้าเขาจะเป็นเกย์จริงขึ้นมาก็แล้วไงล่ะ เพราะเขาไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติเสียหน่อย
สิ่งที่น่าสนใจและน่าตั้งคำถามกับสังคมก็คือ ทำไมการถูกมองว่ามีรูปร่าง เพศสภาพ สีผิว ชาติพันธุ์ สำเนียง หรืออะไรก็ตามที่เรามักจะถูกแปะป้ายถึงมาพร้อมกับทัศนคติที่ไม่ดี ก็ต้องกลับมาสำรวจตัวเองด้วยเหมือนกันนะครับว่า ทำไมเราจึงรู้สึกเดือดร้อนกับคำที่คนอื่นมอบให้กับเรา เป็นเพราะเราเองก็มีอคติต่อสิ่งเหล่านั้นไหมมันเลยทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด ถ้าเราไม่รู้สึกว่าความอ้วนเป็นสิ่งไม่ดี ใครมาบอกว่าเราอ้วน เราก็คงจะเฉยๆ เหมือนที่เรามองดู โอปราห์ วินฟรีย์ แล้วเห็นความเก่งของเธอ ไม่ได้โฟกัสว่าน้ำหนักของเธอเท่าไร ทุกครั้งที่เธอพูดเราต้องหยุดฟังเสมอ เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่รู้สึกว่าการเป็นเกย์เป็นเรื่องผิดปกติหรือด้อยกว่าการเป็น Straight ใครมาบอกว่าเราเป็นเกย์ เราก็คงไม่ได้รู้สึกลบอะไร ไม่ได้เป็นก็จบ เราไม่เห็นแคร์เลยว่า เดวิด โบวี มีเพศสภาพอะไรในเมื่อเขาเก่งขนาดนั้น เดวิด เบ็คแฮม เองก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรที่จะต้องเข้าร้านทำเล็บ
ในอีกมุมหนึ่ง การถูกแซวมันทำให้เราได้สำรวจมายาคติในสังคมไปในตัว ผมคิดว่าในขณะที่เราเจ็บปวดจากการที่ถูกคนอื่นแซวในสิ่งที่เราเป็นแล้ว บางทีเราน่าจะทบทวนตัวเองว่าเราเจ็บปวดเพราะลึกๆ แล้วเรามีทัศนคติอย่างไรต่อสิ่งที่เขามองว่าเราเป็น เรารังเกียจที่ถูกเหยียด แต่เราก็ไม่ควรเหยียดในเหยียดอีกที เช่น เราไม่ชอบให้คนว่าเราว่าอ้วน แต่เรารังเกียจความอ้วนไหม เราไม่ชอบให้คนมองว่าเราเป็นเกย์ แล้วเราคิดอย่างไรกับเกย์ล่ะ เราไม่ชอบเลยที่คนมาแซวเราว่าเราเป็นคนบ้านนอก แล้วเราภูมิใจในตัวเองไหมที่เป็นคนต่างจังหวัด เราอายเวลาคนแซวว่าเราผิวดำ แล้วเรากัดตัวเองเรื่องสีผิวบ้างไหม หรือเราเปรียบเทียบสีผิวตัวเองกับคนอื่นไหม อันนี้น่าคิดนะครับ
ใครจะเหยียดเราก็ตาม แต่เราต้องไม่เหยียดตัวเอง และต้องไม่เป็นคนไปเหยียดคนอื่น
* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai