×

OECD คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้โต 3.1% ชี้ไร้ภาวะถดถอย แต่เผชิญปัจจัยท้าทายรุมเร้า

23.11.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 3.1% เท่านั้น ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวในปี 2021 ซึ่งอยู่ที่ 5.9% เหตุเผชิญปัจจัยท้าทายรุมเร้ารอบด้าน ทั้งภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ ทำให้ธนาคารกลาง โดยเฉพาะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยสหรัฐอเมริกาเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ

 

นอกจากนี้ OECD คาดการณ์ว่าแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าก็จะเติบโตได้อย่างเชื่องช้าเช่นเดียวกันกับปีนี้ แต่เลวร้ายยิ่งกว่า โดยจะสามารถขยายตัวได้เพียง 2.2% เท่านั้น 

 

Mathias Cormann เลขาธิการทั่วไปของ OCED ระบุว่า แม้องค์การฯ จะไม่ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนที่หลายสำนักคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า แต่การขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจโลกแค่ 2.2% ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ทำให้สบายใจหรือเบาใจได้เช่นเดียวกัน 

 

การวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจโลก พร้อมจัดทำรายงานเป็นระยะๆ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของ OECD ที่ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิก 38 แห่ง และมีเป้าหมายทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและความเจริญรุ่งเรือง 

 

ทั้งนี้ ในรายงานการคาดการณ์ฉบับล่าสุด OECD ชี้ว่า 18% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกทั้งหมดถูกใช้ไปกับพลังงาน หลังจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ช่วยผลักดันราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้สูงขึ้น กลายเป็นวิกฤตราคาพลังงานทั่วโลกที่ชะลอการเติบโตและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น 

 

Cormann อธิบายว่า ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งรุนแรงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูง ได้ขยายวงกว้างและสร้างผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายได้ที่แท้จริงของครัวเรือนในหลายประเทศอ่อนตัวลง แม้จะมีมาตรการสนับสนุนที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังดำเนินอยู่ก็ตาม

 

ในรายงานการคาดการณ์ล่าสุด ทาง OECD คาดการณ์ว่ามาตรการเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ซึ่งได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงถึง 6 ครั้งแล้วในปีนี้ จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ หยุดชะงักลง โดย OECD คาดว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะเติบโตเพียง 1.8% ในปีนี้ ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 5.9% ในปี 2021 และขยายตัวได้เพียง 0.5% ในปี 2023 ก่อนขยับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1% ในปี 2024

 

การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายราย แต่ส่วนใหญ่มองไว้เลวร้ายกว่าคือ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถอย โดย OECD ยังเห็นอีกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ แม้ว่าจะชะลอตัวลง แต่จะยังคงสูงกว่าเป้าหมายประจำปีของ Fed ที่ 2% ในปีหน้า และในปี 2024 อยู่ดี 

 

ในส่วนของ 19 ประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน และกำลังเผชิญผลกระทบกับวิกฤตพลังงานจากสงครามของรัสเซียโดยตรง ทาง OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ EU จะเติบโตโดยรวมเพียง 0.5% ในปีหน้า ก่อนที่จะเร่งขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.4% ในปี 2024 พร้อมชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะกดดัน EU ต่อไป โดยดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 2.6% ในปี 2021 จะเพิ่มขึ้น 8.3% ในปี 2022 ก่อนขยับลดลงมาอยู่ที่ 6.8% ในปี 2023

 

ขณะเดียวกัน OECD กล่าวว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะเติบโตแบบใดก็ตามในปีหน้า แต่การเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของเอเชีย โดยเมื่อรวมกันแล้วจะคิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของการเติบโตของโลกในปีหน้า ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจของอินเดียคาดว่าจะเติบโต 6.6% ในปีนี้ และ 5.7% ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กับยุโรปชะลอตัวอย่างรุนแรง

 

ขณะที่เศรษฐกิจจีน เศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะขยายตัวเพียง 3.3% ในปีนี้ และ 4.6% ในปี 2023 โดยเป็นผลกระทบจากความอ่อนแอของตลาดอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินที่สูง และนโยบาย Zero-COVID ที่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์จนทำให้การค้าหยุดชะงัก

 

รายงานระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายมหาศาลของภาครัฐ บวกกับอัตราการกู้ยืมที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ 

 

OECD อธิบายว่า ปัญหาของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลทั่วโลกกระตุ้นการใช้จ่าย บวกกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้เศรษฐกิจโลกทะยานขึ้นจากภาวะถดถอยก่อนหน้าอันเป็นผลจากการระบาดของโควิดในช่วงต้นปี 2020 ซึ่งการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งมากทำให้เกิดการขาดแคลนและราคาสูงขึ้น บวกกับการรุกรานยูเครนของรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้การค้าหยุดชะงัก และราคาพลังงานและอาหารเร่งตัวขึ้นอีก

 

ทั้งนี้ การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน ทำให้อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถคาดเดาได้ โดย OECD ชี้ว่า กลยุทธ์ทางการเงินอย่างการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจในแบบไม่คาดคิด 

 

นอกจากนี้ การเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของ Fed และธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ จะทำให้รัฐบาล ธุรกิจ และผู้บริโภคที่เป็นหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นของสหรัฐฯ จะสร้างผลกระทบต่อบริษัทต่างชาติที่กู้ยืมเงินในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จนขาดวิธีการชำระหนี้ที่มีราคาแพงกว่าในปัจจุบัน

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising