×

อ่านครบจบที่เดียว สถานการณ์เศรษฐกิจ-ธุรกิจไทยปี 2019

27.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • เศรษฐกิจไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ทำให้คนไทยมีความกังวล 3 เรื่องหลัก มาตรการเศรษฐกิจกระตุ้นไม่ขึ้น-บาทแข็งค่า-โรงงานปิดตัว
  • จับตาดีลแบงก์ใหญ่ ไทยพาณิชย์ขายธุรกิจประกันชีวิต, การควบรวมระหว่างธนชาตและทหารไทย รวมถึงธนาคารกรุงเทพที่หาช่องทางขยายตลาดต่างประเทศผ่านการซื้อธนาคารในอินโดนีเซีย
  • ปี 2562 ดัชนีหุ้นไทยแน่นิ่ง นักวิเคราะห์เร่งขยายพอร์ตลงทุนต่างชาติ สรุปบริษัทใหญ่ปรับตัวหาธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มรายได้

ปี 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาลยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวชัดเจน โดยให้เหตุผลว่าการส่งออกติดลบ เพราะปัจจัยจากต่างประเทศอย่างเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Trade War) ทำให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน 

 

ปี 2562 เศรษฐกิจไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

 

3 ความกังวลคนไทย ‘มาตรการเศรษฐกิจกระตุ้นไม่ขึ้น-บาทแข็ง-โรงงานปิด’ 

 

ปี 2562 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากภาครัฐปรับลดประมาณการ GDP ไทยหลายครั้ง ล่าสุดทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินว่า GDP ไทยปี 2562 อยู่ที่ 2.6% ซึ่งภายในปีนี้มีการปรับลดประมาณการถึง 2 ครั้ง โดยเดือนสิงหาคมมองว่าทั้งปี 2562 จะเติบโต 2.7-3.2% ปรับลดลงจากช่วงต้นปีที่มองว่า GDP ปี 2562 จะอยู่ที่ 3.3-3.8%

 

ทั้งนี้รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ โดยมติคณะรัฐมนตรี ครม. อนุมัติ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 เป็นแพ็กเกจใหญ่ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2562 และออกมาตรการอื่นๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง อาทิ

  • การสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการดูแลผู้สูงอายุ 
  • มาตรการภาคเกษตร เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตร ขยายเวลาการชำระเงินกู้เกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้ง ฯลฯ
  • การสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย (SMEs) ผ่านธนาคาร ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือออกโครงการสำหรับกู้ยืม
  • มาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง โครงการบ้านดีมีดาวน์ที่ออกเงินให้ 5 หมื่นบาทให้ผู้ที่กู้ซื้อ และโอนบ้านในช่วงเวลาที่กำหนด  
  • มาตรการกระตุ้นภาคบริโภค เช่น ชิมช้อปใช้   

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้มากนัก และนักวิเคราะห์คาดว่ามาตรการของภาครัฐจะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ในระยะสั้นและอยู่ในวงจำกัด เช่น มาตรการชิมช้อปใช้ จะมีผลถึงเดือนมกราคม 2563 บ้านดีมีดาวน์จะมีผลถึง 31 มีนาคม 2563 ทำให้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมีอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น

 

ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องมาถึง 20 เดือน ทั้งนี้เดือนธันวาคม 2562 ค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 7% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยให้มีรายได้ลดลง ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนพบว่าสินทรัพย์ในตลาดอาจดูแพงขึ้นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ปี 2562 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงบ้างเล็กน้อย 

 

ทั้งนี้มูลค่าส่งออกของไทยช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบที่ 2.77% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และปัญหาระหว่างประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, Brexit ฯลฯ 

 

อีกปัญหาที่คนไทยให้ความสนใจในปีนี้คือ การปิดกิจการโรงงาน และการเลิกจ้าง โดยเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2562 มีโรงงานเลิกกิจการ 1,989 โรงงาน และมีคนงานในโรงงานที่ปิดกิจการ 49,157 ราย ซึ่งตัวเลขทั้ง 2 สูงกว่าปี 2559-2561 ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่มีโรงงานปิดกิจการสูงสุดในรอบ 12 ปี (2551-ปัจจุบัน) คือปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร มีโรงงานปิดกิจการ 2,561 แห่ง ซึ่งมีคนงานในโรงงานรวม 81,009 ราย

 

 

ธุรกิจธนาคารปรับตัวยกใหญ่ขายกิจการ-ควบรวม-ซื้อแบงก์นอก

 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ปรับตัวจาก Digital Disruption อย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดจำนวนสาขา การปรับรูปแบบสาขา ฯลฯ  ขณะเดียวกันยังเป็นปีที่ธนาคารมีดีลใหญ่ที่น่าสนใจ ได้แก่ 

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ขายหุ้นทั้งหมดใน บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) มูลค่า 92,700 ล้านบาท ให้แก่ กลุ่มเอฟดับบลิวดี (FWD Group Financial Services Pte., Ltd.) ซึ่งให้บริการประกันชีวิต คาดว่าจะทำสัญญาซื้อขายเสร็จสิ้นในปี 2562 

 

หลังจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์จะทำสัญญาเป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านธนาคารระยะยาว 15 ปี ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์จะมีรายได้จากการเป็นนายหน้าขายประกันฯ ทดแทน 

  • การควบรวมระหว่างธนาคารธนชาต (TBANK) และธนาคารทหารไทย (TMB) คาดว่าดีลจะเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2564 หลังการควบรวมนี้ธนาคารใหม่จะมีสินทรัพย์ราว 1.9 ล้านล้านบาท มีฐานลูกค้า 10 ล้านราย แต่ชื่อธนาคารใหม่ยังไม่มีการสรุปออกมา

ทั้งนี้การควบรวมทั้งสองธนาคารถือเป็นการผสานจุดแข็งเข้าด้วยกัน ปัจจุบันธนาคารธนชาตมีจุดเด่นเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อรถ (TMB ไม่มี) ขณะที่ธนาคารทหารไทยมีฐานข้อมูลสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ เช่น สินเชื่อบ้าน ฯลฯ 

  • ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (เพอร์มาตา) ในอินโดนีเซีย ตั้งเป้าหมายซื้อหุ้นทั้ง 100% คิดเป็นมูลค่า 90,909 ล้านบาท เพื่อขยายช่องทางเพิ่มรายได้ในต่างประเทศ

ทั้งนี้ตลาดอินโดนีเซียมีความน่าสนใจ เพราะจำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคน และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่เป็นตัวเลขสำคัญของธุรกิจธนาคาร มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 3% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 2.4%  

 

 

ปี 2562 ดัชนี SET นิ่ง แต่ธุรกิจไทยต้องปรับตัว 

 

ด้านตลาดหุ้นไทย ปัจจุบัน (26 ธันวาคม 2562) ดัชนี SET อยู่ที่ 1,579 จุด มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย 0.58% จากต้นปี ทำให้นักวิเคราะห์แนะนำการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น 

 

ในภาพรวมกลุ่มหุ้นที่ราคาปรับลดลงค่อนข้างมาก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน ไฟฟ้า ฯลฯ ขณะที่กลุ่มหุ้นที่ยังไม่มีแนวโน้มเติบโต ได้แก่ กลุ่มเกษตรที่ราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ภาพรวมยอดขายติดลบ และธุรกิจธนาคารที่รายได้ค่าธรรมเนียมลดลง คู่แข่งจากนอกธุรกิจมีมากขึ้น 

 

ด้านธุรกิจค้าปลีกยังทรงตัว ปีนี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ได้แก่ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN เปิดโครงการ เซ็นทรัล วิลเลจ (Central Village) เป็นเอาต์เล็ตเจาะกลุ่มลักชัวรีแห่งแรกในไทย มีมูลค่าโครงการราว 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าว่า บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ CRC จะเสนอขายหุ้น IPO โดยวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ประกาศนับหนึ่งไฟลิ่งกับ ก.ล.ต. แล้ว

 

ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการซื้อกิจการ เช่น ไทยเบฟเวอเรจ ลงทุนผ่าน F&N Retail Connection ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Maxim’s Caterers ในชื่อ Coffee Concepts Thailand ซึ่งจะบริหารธุรกิจร้านสตาร์บัคส์ในประเทศไทย

บมจ. เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป (M) ขยายพอร์ตในกลุ่มอาหารครอบครัวโดยให้บริษัทลูกชื่อ บจ. คาตาพัลท์ ซื้อหุ้นบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด (ที่มีร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด) กว่า 65% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 

 

ด้าน สิงห์ คอร์เปอร์เรท มีบริษัทในเครือ อย่าง ‘ฟู้ด แฟคเตอร์’ ซื้อกิจการร้านสเต๊กซานตา เฟ่ จากบริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) จำกัด เพื่อขยายธุรกิจอาหารหลังจากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคู่แข่งมากขึ้น

 

สุดท้ายแล้วปี 2563 ภาคธุรกิจยังต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากมาตรการของภาครัฐที่ยังไม่มีการกระตุ้นกำลังซื้อในระยะยาว และความหวังหลักของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน 

 

สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ไทยปี 2563 จะเติบโต 2.7-3.7% และคาดว่าการส่งออกจะเติบโต 2.3% เพราะเห็นทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และการปรับตัวของภาคการส่งออกในไทย

 

แต่ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 

อ่านทิศทางปี 2020 เพิ่มเติมที่ 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising