×

‘ค้าปลีกไทย’ ไหวอยู่ไหมในยุคกำลังซื้อชะลอตัว

24.12.2019
  • LOADING...

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัญญาณการหดตัวในทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ GDP ทั้งประเทศตลอดปี 2562 คาดว่าน่าจะเติบโตเพียง 2.6% จากการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าอุตสาหกรรมค้าปลีก ปี 2562 น่ามีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2%

 

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การที่การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่ง (Retail Consumption) อ่อนแอลงมาตลอด สาเหตุหลักคือ กำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน (Nondurable Goods) เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

 

ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi-Durable Goods) เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 8-12% ในช่วง 10 ปีผ่านมา เติบโตถดถอยลงมาอยู่ที่ 3.2%

 

ส่วนกลุ่มสินค้าคงทนถาวรเติบโตลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย โดยเฉพาะในหมวดสินค้า อิเล็กทรอนิกส์ อย่างกล้องถ่ายภาพ และสมาร์ทโฟน ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 40% ของหมวดสินค้าคงทน มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็แค่ทรงตัว เนื่องจากฤดูกาลที่ผันผวน ช่วงฤดูร้อนค่อนข้างสั้น และฤดูฝนก็เริ่มต้นเร็วกว่าปกติ ส่วนหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ยังไม่ฟื้นตัว ผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่หดตัวลง

 

เซกเมนต์ที่มีการเติบโตมากยังเป็นหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป้าหมายกลุ่มผู้บริโภคเป็นกลุ่มกลางขึ้นบนที่ยังมีกำลังซื้อสูงอยู่ และในจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

 

อีกเซกเมนต์ที่เติบโตก็คือ Health & Beauty ซึ่งมีการแยกย่อย (Fragment) เป็นหมวด Beauty Store, Drug Store, และ Health & Personal Store อย่างชัดเจนมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมากมายในหมวด Beauty ทั้งนี้การเติบโตเกิดจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากโครงสร้างประชากรชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น

 

Department Store ยังคงได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการจับจ่ายที่ยังไม่ปกติ และราคาสินค้าที่ไม่เอื้ออำนวยในการจับจ่ายแก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากภาระภาษีนำเข้าของสินค้าแบรนด์หรูยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีนโยบายให้เกิด Shopping Destination เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว

 

ส่วนหมวด Home Improvement และ Home Appliance and Electronic ยังไม่เติบโต ซึ่งเป็นผลจากความซบเซาของอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ แต่สำหรับ Home Improvement ที่มีเป้าหมายเจ้าของบ้านยังคงมีการเติบโตจากการขยายตัวของบ้านและคอนโดหรูระดับไฮเอนด์

 

หมวด Food Sector (Hypermart, Convenience) ที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงล่างยังคงประสบปัญหาการเติบโต เนื่องจากกำลังซื้อในกลุ่มกลางลงล่างยังอ่อนแอ มาตรการการผลักดันงบประมาณการใช้จ่ายภาครัฐผ่านบัตรสวัสดิการคนจนลงสู่รากหญ้า และมาตรการ ‘ชิมช้อปใช้’ ได้ผลเพียงระยะสั้นๆ และส่วนใหญ่ ผลพวงจากมาตรการจะไปอยู่ที่ร้านค้าปลีกภูธร ซึ่งส่งผลให้ร้านค้าปลีกภูธรเติบโตอย่างมีนัยทุกภูมิภาค

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising