×

อ่านทางเงินบาท ปี 2563 จะแข็งหรืออ่อนค่า? เมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยมองบาทแข็งสวนทางแบงก์ชาติ

11.12.2019
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

HIGHLIGHTS

1 Mins. Read
  • แบงก์พาณิชย์มองเทรนด์บาทแข็งค่าต่อเนื่องถึงปีหน้า สิ้นปี 2563 ธนาคารกรุงไทยคาดบาทแข็งค่าที่ 28.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนธนาคารกสิกรไทยคาดบาทอยู่ที่ระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองเทรนด์บาทแข็งค่า เพราะเชื่อว่าบาทแข็งเกินกว่าพื้นฐาน ไม่ใช่ Safe Haven และเห็นเทรนด์นักวิเคราะห์ต่างชาติมองบาทอ่อนลง

ปัจจุบันค่าเงินบาทยังแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง (11 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนหนึ่งเพราะพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย ทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เพราะมีรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ส่วนสกุลหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐยังผันผวนในทิศทางอ่อนค่าจากสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก 

 

ขณะเดียวกันเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก และคนไทยอีกจำนวนมาก ว่าแต่ทิศทางเงินบาทปีนี้และปี 2563 จะเป็นอย่างไร THE STANDARD รวบรวมมาให้แล้ว

 

ค่าเงินบาท

 

กสิกรไทย-กรุงไทย มองปี 2563 บาทแข็งค่า 

 

กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 7% และมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงปัจจัยโลกยังสูง เช่น สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน (Trade War) ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อระดับต่ำยังดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้า และกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น  

 

ทั้งนี้ ทางธนาคารคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทสิ้นไตรมาส 1/63 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปี 2563 จะแข็งค่าถึง 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำ การลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมจะไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทมากนัก ในขณะที่ตลาดฯ มองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดทุนสายงานธุรกิจตลาดเงินทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปี 2563 ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง โดยสิ้นไตรมาส 1/63 จะอยู่ที่ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะการเจรจาสงครามการค้ายังไม่สิ้นสุด ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 มีโอกาสอ่อนค่าลงเล็กน้อย

 

ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ ยื้อการเจรจาการค้ากับจีนเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง อาจเป็นประเด็นกดดันค่าเงินหยวน และเศรษฐกิจเอเชียทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยสิ้นปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 28.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้มี 3 ปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่ 

 

  • สงครามการค้า (Trade War) จะยืดเยื้อในช่วงครึ่งปีแรก 2563 และมีโอกาสที่จะเจรจากันได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
    กรณีที่ 1 หากคู่แข่งการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายต่างประเทศที่ผ่อนคลายกว่าทรัมป์ มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะพยายามหาข้อตกลงการค้าเพื่อกระตุ้นตลาดทุนก่อนเลือกตั้ง กรณีที่ 2 หากคู่แข่งเป็นคนที่มีนโยบายแข็งกร้าวกว่าทรัมป์ อาจชะลอการเจรจาเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง 
  • นโยบายการเงิน มองว่าทาง Fed จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้การลงทุนใน Emerging Market น่าสนใจ แต่หากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปั่นป่วนก่อนเลือกตั้ง เชื่อว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 0.25-0.50% ซึ่งก็จะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้อีก ทั้งนี้เชื่อว่า ธปท. จะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อประคองให้เงินบาทไม่แข็งค่าเร็วในกรณีนี้
  • การเลือกตั้งสหรัฐฯ ทางธนาคารมองว่าหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง อาจเห็นดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 3-5% ในช่วงไตรมาส 4/63 หากแพ้ตลาดฯ อาจเปลี่ยนไปถือเงินยูโรที่เศรษฐกิจมีท่าทีฟื้นตัวทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าได้ 

 

TMB ชี้โอกาสบาทอ่อนหาก กนง. ลดดอกเบี้ย

 

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ที่ผ่านมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางเดียว (One side) ในด้านการแข็งค่าต่อกันมา 20 เดือน ดังนั้น เห็นว่าจะมีการเคลื่อนไหว Downside Risk หรือโอกาสที่เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ที่ต้องแลกเปลี่ยนค่าเงิน (Trader) ไม่กล้าซื้อเงินบาท และขายดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากแล้ว

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2562 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีโอกาสที่จะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 2563 หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฯ คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.40-30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกจากนี้ ปี 2563 คาดการณ์ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯ ​จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งต้องจับตามองการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หากออกมาในทางที่ดีจะช่วยให้ตลาดนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากข้ึน และจะเห็นเม็ดเงินไหลกลับมาที่สินทรัพย์เสี่ยงหนุนให้เงินบาทอ่อนค่า

 

ธปท. มองเทรนด์บาทอ่อนค่า เพราะไทยไม่ใช่ Safe Haven อีกต่อไป 

 

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงเงินบาทแข็งค่าทาง ธปท. ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลค่าเงิน และชะลอการแข็งค่าที่รวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทาง ธปท. มองว่าในระยะถัดไปค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวสองทางมากขึ้น คือมีโอกาสทั้งขาอ่อนค่าและขาแข็งค่า ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันค่าเงินบาทอาจแข็งค่ามากกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และนักลงทุนอาจไม่ได้มองเงินบาทเป็น Safe Haven หรือสินทรัพย์ปลอดภัยอีกต่อไป รวมถึงเห็นว่านักวิเคราะห์ในต่างประเทศ (Bloomberg) เริ่มมองทิศทางค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในปี 2563 

 

โดยมุมมองนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา (BOTSS) บางส่วนมองว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงในปี 2563 เช่น JPMorgan Chase คาดว่าไตรมาส 4/63 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 30.60 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ, Standard Chartered คาดว่าไตรมาส 4/63 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 31.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น เช่น Morgan Stanley คาดว่าไตรมาส 4/63 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 29.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

ทั้งนี้ปัจจุบัน (11 ธันวาคม 2562) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

 

สุดท้ายแล้ว ค่าเงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า ยังมีปัจจัยหลักเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ดังนั้น นักธุรกิจหรือคนที่ต้องทำธุรกรรมกับต่างประเทศ ควรทำประกันป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเพื่อรักษากำไร และควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising