×

สิ่งแวดล้อมไทย 2564: น้ำท่วม ฝุ่น คดีสัตว์ป่า สู่การต่อสู้ทวงสัญญา และหาทางออกเพื่อชุมชน

29.12.2021
  • LOADING...
สิ่งแวดล้อมไทย

ปี 2564 มีหลายสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้นในประเทศไทย และในหลายสถานการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับ ‘สิ่งแวดล้อม’ ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมและปัญหาฝุ่นละอองที่ยังคงมีอยู่ ตลอดจนประเด็นชาวบ้านบางกลอย การชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น และกลุ่ม Save นาบอน ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับความสนใจ และคดี ‘เสือดำ’ ก็ถึงจุดสิ้นสุดในปีนี้เช่นกัน

 

จากภัยธรรมชาติ ภัยฝุ่น และคดีสัตว์ป่า สู่การต่อสู้เรียกร้องทวงสัญญาจากภาครัฐ และหาทางออกเพื่อวิถีชุมชน นี่คือ 6 เรื่องใหญ่สิ่งแวดล้อมไทยประจำปีนี้ ที่หลายเรื่องน่าจะต้องตามความคืบหน้ากันต่อในปี 2565

 

สิ่งแวดล้อมไทย

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ปีนี้ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงในหลายจังหวัดในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะจากอิทธิพลพายุเตี้ยนหมู่ พายุไลออนร็อก พายุคมปาซุ และร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนเป็นต้นมา ทำให้หลายจังหวัดทั่วประเทศได้รับผลกระทบ เช่น ​​สุพรรณบุรี, นครปฐม, อุบลราชธานี, พระนครศรีอยุธยา, ปทุมธานี, หนองบัวลำภู, อ่างทอง, ขอนแก่น, มหาสารคาม, นครราชสีมา, สิงห์บุรี, ลพบุรี, ปราจีนบุรี, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, สุโขทัย, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, กำแพงเพชร, เลย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ยโสธร, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, จันทบุรี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สระบุรี, ชลบุรี, สมุทรปราการ ฯลฯ และจนถึงกลางเดือนธันวาคม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ยังคงรายงานว่ามีบางจังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบอยู่ ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เห็นภาพการนำความช่วยเหลือเข้าไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ สำนักข่าวหลายแห่ง อาทิ มติชน และไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนว่า กลุ่มชาวบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรียื่นฟ้องกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกค่าเสียหายจากการที่กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำผิดพลาด ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงและน้ำท่วมขังในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทั้งที่พักอาศัยและที่ทำกินอีกด้วย

 

กระทั่งในช่วงปลายปี ความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 23 พฤศจิกายน ถึงในเดือนธันวาคม ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่นับสิบจังหวัด เป็นต้น 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบจากอุทกภัยในรอบปีนี้ และเป็นคำถามถึงการบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไป

 

สิ่งแวดล้อมไทย

ภาพ: ศักดิภัท ประพันธ์วรคุณ

 

ส่วนฝุ่น PM2.5 ก็ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 มีจังหวัดที่พบจำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานลดลง เพิ่มขึ้น ตลอดจนบางจังหวัดมีค่าไม่เกินมาตรฐานเลย 

 

อย่างไรก็ตาม ในจังหวัดกลุ่มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเพียงนนทบุรีเท่านั้นที่มีจำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานลดลงเทียบกับปี 2563 ส่วนนครปฐม จำนวนวันคงเดิม และกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี จำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้น หรือในจังหวัดกลุ่มภาคเหนือ มี 12 จังหวัดพบจำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานลดลงเทียบกับปี 2563 แต่ก็มีอีก 5 จังหวัดที่พบจำนวนวันดังกล่าวเพิ่มขึ้น และค่าสูงสุดของฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในภาคเหนืออยู่ระหว่าง 67-402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

สิ่งแวดล้อมไทย

ส่วนคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร หรือ ‘คดีเสือดำ’ ของ เปรมชัย กรรณสูต และพวกรวม 4 คนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ก็เดินทางมาถึงบทสรุป โดยในวันที่ 8 ธันวาคม มีคำพิพากษาศาลฎีกาสั่งลงโทษจำเลยแต่ละคนแตกต่างกันไป โดยเปรมชัย จำเลยที่ 1 รวมจำคุก 2 ปี 14 เดือน ส่วนยงค์ โดดเครือ (คนขับรถ) จำเลยที่ 2 จำคุกรวม 2 ปี 17 เดือน, ธานี ทุมมาศ (พราน) จำคุกรวม 2 ปี 21 เดือน มีเพียง นที เรียมแสน (แม่ครัว) จำเลยที่ 3 เท่านั้นที่คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ปรับ 40,000 บาท แต่ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ในฐานความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่า เนื่องจากมีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 55 ทำให้ยกเลิกฐานความผิดนี้ไป นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายทางแพ่งที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

 

สิ่งแวดล้อมไทย

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ปี 2564 ประเด็นชาวบ้านบางกลอย กลุ่มกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ ณ ใจกลางป่าแก่งกระจาน กลายเป็นที่รับรู้ของสังคมอีกครั้ง (อ่านที่มาตั้งต้นของประเด็นนี้และรู้จักชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้ที่ https://thestandard.co/key-messages-bang-kloi-fight-and-kaeng-krachan-world-heritage/)

 

เมื่อเดือนมกราคม ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจำนวนหนึ่งเดินเท้ากลับขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอยบน เพราะแรงกดดันจากปัญหาที่ทำกินและสถานการณ์โควิด กระทั่งชาวบ้านเผยว่ามีการตั้งจุดสกัดของเจ้าหน้าที่ และทำให้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการชุมนุมที่ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นำชาวปกาเกอะญอบ้านบางกลอยพร้อมกลุ่มประชาชนมายื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างหลายฝ่าย อาทิ ชาวบ้าน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ฯลฯ โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ และข้อเสนออื่นต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อีกรวม 6 ข้อ

 

จากนั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เกิด ‘ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร’ ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า พบผู้บุกรุกพื้นที่ป่าบางกลอยบน พบว่ามีการถางและเผาป่าหลายพื้นที่ โดยในปฏิบัติการนี้มีการนำชาวกะเหรี่ยงที่กลับ ‘ใจแผ่นดิน’ ลงมา อย่างไรก็ตาม มีแถลงการณ์จากภาคี #Saveบางกลอย ชี้ว่ามีการนำภาพพื้นที่การเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชาวบ้านไปบิดเบือน สร้างความเข้าใจผิด ผลิตซ้ำมายาคติกดทับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง และระบุว่าชาวบ้านไม่ได้ขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม และข้อกล่าวหาเผาป่านั้นแท้จริงเป็นการเผากำจัดเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม ไม่ได้สร้างมลภาวะหรือเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น ดังที่มีงานทางวิชาการหลายด้านรองรับแล้ว

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ประชาไทรายงานว่ามีการจัดประชุมแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ และตัวแทนชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน แต่การเจรจาไม่ปรากฏข้อสรุปที่ลงตัว ต่อมาต้นเดือนมีนาคม ปรากฏข่าวปฏิบัติการสนธิกำลังเข้าจับกุมชาวบ้านได้ 22 ราย รวมถึงมีการนำชาวบ้านกลับลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดินรวม 87 ราย ซึ่งวันที่ 7 มีนาคม ศาลจังหวัดเพชรบุรีอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกจับกุม 22 คนโดยไม่มีหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามกลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่กลุ่มภาคี #Saveบางกลอย และกลุ่มพีมูฟ จัดชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลกระทั่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามใน 4 ข้อเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามที่ชาวบ้านบางกลอยเสนอผ่าน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ชุมนุมจึงเดินทางกลับ

 

และในปีนี้ ‘กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ก็ได้รับการบรรจุเข้าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของโลกเป็นที่เรียบร้อยบนปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน ด้านหนึ่งคือความยินดีของฝ่ายรัฐ แต่อีกด้านคือการจัดกิจกรรมของกลุ่ม #Saveบางกลอย เพื่อแสดงความต้องการให้มีการเลื่อนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาบางกลอยอย่างเป็นรูปธรรม และคำเตือนของคณะผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ที่ส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานดังกล่าว เรื่องนี้จึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปในปีหน้า

 

สิ่งแวดล้อมไทย

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

เรื่องต่อมาเป็นประเด็นใหญ่ปลายปี กับการชุมนุมของกลุ่ม ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ ที่ชุมนุมเพื่อทวงสัญญาตามข้อตกลงกับ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้พูดคุยกันและทำไว้เมื่อปี 2563 ข้อตกลงนั้นเสนอ “ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ทุกฉบับ และให้ยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม จะต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และเสนอให้จัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จ.สงขลา” จากกรณีที่เมื่อปี 2563 มีมติการเปลี่ยนผังเมืองจะนะบางส่วนจากสีเขียวเป็นสีม่วง ตามที่มีการผลักดันเพื่อเปิดพื้นที่ให้สร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และการระบุว่าเวทีรับฟังความเห็นต่อกรณีดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม และไม่เป็นไปตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

 

และข้อตกลงหรือ ‘MOU’ ที่ว่านี้ก็กลายเป็นประเด็น เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาระบุว่ายังไม่ได้ผ่านการตกลงของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด ประเด็นโครงการนี้ยังเชื่อมโยงกับกรณีที่ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูก ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับผลประโยชน์เบื้องหลังโครงการของเครือข่ายของนิพนธ์ หรือการรวบรวมที่ดิน นส.3 ก ให้บริษัท TPIPP ไปออกโฉนด กระทั่งนิพนธ์ลุกขึ้นชี้แจง อาทิ ระบุว่าการกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ หรือนำที่ดินประชาชนไปให้นายทุนเป็นการกล่าวหาเท็จ และปฏิเสธการเอื้อพวกพ้องตนเอง

 

กลับมาที่การทวงสัญญาปลายปี 2564 เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่ โดยจะต้องตรวจสอบในทุกมิติ จัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA และต้องสั่งให้ยุติการดําเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน และทั้งหมดจะต้องออกเป็นคําสั่งนายกรัฐมนตรี หรือเป็นมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ปรากฏว่าราว 21.00 น. วันที่ 6 ธันวาคม ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น และจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 37 คน ท่ามกลางการชี้แจงจากโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าเป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และระบุเหตุผล เช่น ผู้ชุมนุมไม่ยอมย้ายไปชุมนุมที่อื่น การชุมนุมกีดขวางการจราจร ฯลฯ ขณะที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นแถลงการณ์ยืนยันไม่กลับบ้านหากข้อเรียกร้องทั้งหมดยังไม่ถูกตอบรับ และปักหลักหน้าบริเวณหน้าที่ทำการองค์การสหประชาชาติ กระทั่งมีการเคลื่อนขบวนมาปักหลักที่สะพานชมัยมรุเชฐ เพี่อรอฟังผลจากการประชุม ครม. และมีประชาชนอีกกลุ่มในนาม ‘เครือข่ายประชาชนจะนะอาสาพัฒนาถิ่น’ เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือสนับสนุนโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

 

ในที่สุด ครม. มีมติรับทราบข้อเรียกร้องของทางเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ให้มีการจัดทำการประเมิน SEA และให้หน่วยงานของรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรอผลการประเมิน SEA ให้เป็นที่ยุติก่อนการดำเนินการต่อไป หลังรับทราบมติดังกล่าว กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางกลับบ้าน และระบุว่านี่อาจยังไม่ใช่ชัยชนะของการต่อสู้ แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นสะพานสู่ชัยชนะ

 

ปม ‘นิคมจะนะ’ จึงยังเป็นประเด็นที่น่าจับตาต่อไปในอนาคตว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร จะมีเสียงสนับสนุนหรือคัดค้านเกิดขึ้นเพิ่ม และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจะต้องกลับมาทวงสัญญาอีกครั้งหรือไม่

 

สิ่งแวดล้อมไทย

 

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีก็ยังมีกลุ่ม ‘Save นาบอน’ ที่เสนอให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลสองโรง ใน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช โดยกังวลถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในชุมชน ตลอดจนกังวลเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มาเรียกร้องต่อรัฐบาล

 

การเดินทางจาก จ.นครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพฯ ของพวกเขานั้นได้ไปทำกิจกรรมในหลายสถานที่ ทั้งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักงานองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย หรือทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น ขณะที่ผู้ที่ตกเป็นข่าวในกรณีนี้ เช่น พล.ต.อ. วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) ที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องการให้มาเจรจายุติการก่อสร้าง ระบุว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตน เพราะตนไม่ได้เป็นกรรมการ ไม่ได้เป็นผู้บริหาร เป็นเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชน และบริษัทมหาชนก็ไปถือหุ้นในบริษัทย่อยอีกสองบริษัท และสองบริษัทดังกล่าวก็ไปประมูลการขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาล พล.ต.อ. วิระชัยยังกล่าวว่า ได้ทราบว่าบริษัทดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง 

 

พวกเขาปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จนบรรลุข้อตกลง 4 ข้อกับรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) จึงตัดสินใจยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ นับเป็นประเด็นที่ต้องรอดูความคืบหน้าต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X