×

สิทธิชนพื้นเมืองของชาวกะเหรี่ยง สิ่งที่ควรตระหนักก่อนแก่งกระจานจะเป็นมรดกโลก

24.02.2021
  • LOADING...
ชาวกะเหรี่ยงชายหญิงเมื่อคราวมารับเสด็จรัชกาลที่ 7 ถ่ายภาพเมื่อปี 2469 ที่เชียงใหม่ (ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินถูกย้ายให้ออกจากหมู่บ้านเดิมที่อยู่ในเขตแก่งกระจานในปี 2539 อันเป็นผลมาสืบเนื่องมาจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 โดยรัฐให้ไปอยู่ยังบ้านบางกลอยล่างที่จัดสรรไว้ แต่โชคร้ายที่ดินทุรกันดารมาก ไม่อุดมสมบูรณ์ แถมยังไม่ได้รับการเหลียวแลจัดการที่ดินตามที่ได้สัญญาเอาไว้ด้วย ซึ่งนี่เองเป็นเหตุให้ชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าป่าตามเดิม
  • ต่อมาในปี 2554 ชาวบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินที่อพยพกลับไปได้ถูกไล่รื้อเผาทำลายโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อหวังให้คนพวกนี้ออกไปจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเด็ดขาด บิลลี่ หลานปู่คออี้ เรียกร้องความเป็นธรรมจนถูกอุ้มฆ่า เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ 
  • จนล่าสุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กดดันชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยอีกครั้ง เพราะมีชาวบ้านบางกลอยล่างจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไปที่ใจแผ่นดินเพื่อหนีความแร้นแค้นและเหตุผลในเชิงวัฒนธรรมความเชื่อ 
  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เงียบในสื่อหลัก แต่ปรากฏอยู่ทั่วไปในกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงและเครือข่ายของนักสิทธิมนุษยชนที่สนใจเรื่องนี้

การเคารพสิทธิชนพื้นเมืองถือเป็นเรื่องสำคัญมากในสากลโลก Amnesty International ระบุว่าชนพื้นเมืองมีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินดั้งเดิมของพวกเขา รัฐหรือใครก็ตามไม่มีสิทธิ์ไล่พวกเขาออกจากที่ดินด้วยการใช้กำลัง แต่รัฐบาลต้องตระหนักและปกป้องพวกเขา 

 

ในคำประกาศขององค์การสหประชาชาติในเรื่องสิทธิของชนพื้นเมือง (Rights of Indigenous Peoples) มาตราที่ 25 ได้ระบุว่าชนพื้นเมืองมีสิทธิ์ในการเก็บรักษาและดำรงความสัมพันธ์กับที่ดิน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ ของพวกเขาเช่นกัน

 

คู่มือภาคสนามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชนเผ่าพื้นเมืองได้ชี้ให้เห็นว่า “ชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิ์ที่จะอนุรักษ์ ปกป้องสิ่งแวดล้อมและศักยภาพทางการผลิตของที่ดิน เขตแดน และทรัพยากรของตน พวกเขายังสามารถกาหนดและพัฒนาการจัดลำดับความสำคัญและยุทธศาสตร์การใช้ที่ดินหรือเขตแดนและทรัพยากรตามที่พวกเขาต้องการเพื่อการพัฒนาของเขาเอง” 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านบางกลอยนั้นกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหลักการข้างต้น

 

ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินถูกย้ายให้ออกจากหมู่บ้านเดิมที่อยู่ในเขตแก่งกระจานในปี 2539 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 โดยรัฐให้ไปอยู่ยังบ้านบางกลอยล่างที่จัดสรรไว้ แต่โชคร้ายที่ดินทุรกันดารมาก ไม่อุดมสมบูรณ์ แถมยังไม่ได้รับการเหลียวแลจัดการที่ดินตามที่ได้สัญญาเอาไว้ด้วย ซึ่งนี่เองเป็นเหตุให้ชาวบ้านเริ่มทยอยเดินทางกลับเข้าป่าตามเดิม

 

ต่อมาในปี 2554 ชาวบ้านบางกลอยและใจแผ่นดินที่อพยพกลับไปได้ถูกไล่รื้อเผาทำลายโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อหวังให้คนพวกนี้ออกไปจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเด็ดขาด บิลลี่ หลานปู่คออี้ เรียกร้องความเป็นธรรมจนถูกอุ้มฆ่า เป็นอาชญากรรมโดยรัฐ 

 

จนล่าสุดเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้กดดันชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยอีกครั้ง เพราะมีชาวบ้านบางกลอยล่างจำนวนหนึ่งเดินทางกลับไปที่ใจแผ่นดินเพื่อหนีความแร้นแค้นและเหตุผลในเชิงวัฒนธรรมความเชื่อ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เงียบในสื่อหลัก แต่ปรากฏอยู่ทั่วไปในกลุ่มของชาวกะเหรี่ยงและเครือข่ายของนักสิทธิมนุษยชนที่สนใจเรื่องนี้ 

 

รากเหง้าของปัญหาจากอุทยานฯ นี้เป็นผลมาจากการไม่เคารพสิทธิชนพื้นเมือง เพียงหวังจะแยกคนออกจากป่าเพื่อให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นมรดกโลกให้ได้ วิธีคิดและแนวปฏิบัติเช่นนี้เป็นผลมาจากการมีอุดมคติ (Ideology) โบราณคร่ำครึที่มองว่าชนพื้นเมือง หรือที่ในภาษาทางการเก่าเรียกว่า ‘ชาวเขา’ เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ทำลายต้นน้ำลำธาร และทำให้สัตว์สูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่ตัวการอันร้ายกาจมาจากนายทุน บริษัทป่าไม้ นายพรานเสือดำ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญคือการพิจารณาคนเหล่านี้เป็นคนอื่น เพิ่งอพยพมาใหม่ ไม่ใช่ไทย จึงไม่มีสิทธิ์ต่อการอยู่อาศัยในที่ดินดั้งเดิมของพวกเขา

 

มายาคติต่อชนพื้นเมืองเช่นนี้เกิดขึ้นมายาวนานเกินกึ่งศตวรรษ ฝังในหัว ปนเปไปกับความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงเกิดความคิดในเชิงลบต่อพวกเขามากมาย แก้ยาก แต่แก้ได้ ถ้าพยายามเข้าใจ พูดคุย เจรจา และประนีประนอมหาทางออกร่วมกัน

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน รายการ องศาเหนือ ได้นำเสนอสารคดีสั้นเกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย มันแสดงชัดว่าพวกเขาอยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวมาร่วมร้อยปี หรือก่อนหน้านี้ในแผนที่ใจแผ่นดินของทางการระบุชื่อของใจแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2454 แล้ว หรือประมาณสมัยรัชกาลที่ 6 

 

อีกทั้งเมื่อลงไปสำรวจในพื้นที่ ชาวบ้านหลายคนยังคงจำตำแหน่งบ้านของตนเองได้ มีต้นไม้ที่มีอายุนับร้อยปีหรือหลายสิบปีขึ้นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นต้นทุเรียน มะม่วง หมาก ทั้งหมดเป็นพืชต่างถิ่น ถ้าคนไม่เอามาปลูกก็ไม่มีทางขึ้นได้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ดินดั้งเดิมของพวกเขาที่อยู่อาศัยกันมาก่อนการเกิดขึ้นของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และต้องก่อนปี 2454 อย่างแน่นอน 

 

ในเอกสารชื่อว่า เรียนรู้จากการซ่อมสร้างชุมชนกะเหรี่ยงางกลอย เขียนโดย สดานุ สุขเกษม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ได้ให้ข้อมูลว่าบ้านบางกลอยมีชื่อในภาษากะเหรี่ยงว่า ‘คลี้เหลาะ’ (Kleh looj) แปลว่าห้วยบางกลอย เนื่องจากทั้งสองลำน้ำมีเถาว์ของต้นกลอยขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นสาขาหนึ่งของต้นน้ำเพชรบุรี พื้นที่นี้ดั้งเดิมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ บางกลอยบน และใจแผ่นดิน บิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ ผู้ล่วงลับได้บันทึกไว้ว่า นานมาแล้วในสมัยที่มีสงครามระหว่างไทยกับพม่า กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนต้องหลบเร้นอยู่ในป่า มีกะเหรี่ยงบางคนหนีสงครามจนไปพบกับห้วยที่มีหัวกลอยขนาดเท่าสามคนโอบ หลังจากที่เขากินเข้าไปจึงหายตัวได้ และรอดชีวิตจากสายตาของพวกทหารพม่า

 

เราไม่ทราบได้ว่าเหตุการณ์สงครามระหว่างไทยกับพม่านี้เกิดขึ้นเมื่อใด แต่ต้องก่อนหน้าตั้งบ้านบางกลอย อาจเป็นสงครามเก้าทัพในสมัยรัชกาลที่ 1 หรืออาจเป็นสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง แต่ก็เห็นได้ชัดว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้อยู่กันมานาน บ้านบางกลอยถูกเลือกเพราะพ้นเส้นทางทัพ และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารคือกลอย 

 

ในขณะที่พื้นที่ใจแผ่นดินมีชื่อในภาษากะเหรี่ยงว่า ‘กื้อจื้อคุ’ หมายถึงหัวภูเขาหรือบนยอดภูเขา ส่วนชื่อใจแผ่นดินนี้มาทีหลังและเรียกโดยคนไทยที่หลงป่า ทองดี ชายา เล่าว่านานมาแล้ว (ก่อนปี 2454) มีกลุ่มคนไทยเข้ามาที่กื้อจื้อคุแล้วหลงทางมาเจอตาทวดพื้อลึกอเข้า จึงช่วยเหลือโดยพามานอนและให้ข้าวกิน คนไทยกลุ่มนี้จึงเรียกตาทวดนั้นว่า ‘ใจแผ่นดิน’ และเขียนบันทึกแจ้งชื่อของพื้นที่นี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเรียกว่า ‘ใจแผ่นดิน’ ในภาษาไทยแต่นั้นมา 

 

กะเหรี่ยงเป็นใครมาจากไหน ความรู้เชิงประวัติศาสตร์นี้อาจช่วยทำให้ตระหนักถึงความสำคัญและสิทธิของพวกเขามากขึ้น ข้อมูลจากนี้ผมตัดตอนบางส่วนมาจากหนังสือที่ผมกำลังทำชื่อว่า พลเมืองสยาม: ประวัติศาสตร์จากภาพถ่ายชาติพันธุ์ในยุคการล่าอาณานิคม พิมพ์กับสำนักพิมพ์สยาม เรเนซองส์ เป็นหนังสือที่นำเสนอภาพถ่ายเก่าเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว พร้อมทั้งประวัติความเป็นมาของกลุ่มชน ดังนี้ 

 

กะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ (สกอว์) อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาหลายร้อยปี และอาจอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาพร้อมกับกลุ่มคนไทหรือก่อนไทเสียอีก อีริก ไซเดนฟาเดน ได้เขียนไว้ว่า “ภูมิลำเนาของพวกกะเหรี่ยงอยู่นอกราชอาณาเขตสยาม แถวรัฐฉานทางภาคใต้ และอยู่ทางใต้ของพม่าอีกพวกหนึ่ง แต่มีพวกกะเหรี่ยงอีกมากที่อยู่เรียงรายตามชายแดนสยาม ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย ลงไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี และที่จังหวัดลำพูนก็มีพวกกะเหรี่ยงด้วย การที่พวกกะเหรี่ยงตั้งกระจัดกระจายรวมอยู่กับชนหมู่อื่นในแหลมอินโดจีนนี้เป็นปัญหาของนักมานุษยวิทยามานานแล้วว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้” (คารร์ และไซเดนฟาเดน 2515:104-105) 

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ไซเดนฟาเดนพยายามสันนิษฐานว่า “กะเหรี่ยง…อพยพมาจากทางเหนือสู่ดินแดนพม่าและทางภาคตะวันตกของประเทศไทย กำหนดเวลาที่พวกนี้อพยพมานั้นไม่ทราบแน่นอน แต่ต้องภายหลังการอพยพของชนตระกูลมอญ-เขมรแน่ และอาจจะก่อนที่ไทยจะอพยพมาจากทางเหนือ มีนักค้นคว้าบางคนให้ความเห็นว่าพวกไทยนั้นอพยพมาก่อนพวกพม่า” (คารร์ และไซเดนฟาเดน 2515:104-105)

 

ภาพหมู่ของกะเหรี่ยงชายหญิง คาดว่าเป็นปกาเกอะญอ (สะกอ)
ถ่ายภาพเมื่อปี 2469 ที่เชียงใหม่ (ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

แม้ว่านักวิชาการหลายคนในปัจจุบันเห็นพ้องว่ากะเหรี่ยงไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม พวกเขาอยู่มาช้านานร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์พม่าและไทที่อพยพเข้ามายังดินแดนแถบนี้ โรนัล เรนาร์ด เสนอว่าชาวกะเหรี่ยงน่าจะเคลื่อนย้ายมุ่งสู่ทิศใต้ผ่านทางแม่น้ำโขง สาละวิน และอิระวดี ในลักษณะที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมานานหลายศตวรรษ และเหตุผลสำคัญหนึ่งของการเคลื่อนย้ายก็อาจเพราะการอพยพเข้ามาของคนไทที่ผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงค่อยๆ ขยับร่นลงใต้ 

 

ในขณะที่หลักฐานที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงในเอกสารไทย เช่น ตำนาน พงศาวดารต่างๆ ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 นั้นไม่ปรากฏให้เห็น แสดงว่าพวกเขาอยู่ในเขตพม่ามาก่อน ก่อนจะเคลื่อนย้ายมาในเขตเทือกเขาตะนาวศรีฝั่งไทยช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา โรนัล เรนาร์ด เสนอว่ากะเหรี่ยงน่าจะเริ่มปรากฏมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ดังปรากฏในเหตุการณ์การยกทัพกลับสู่อยุธยาของสมเด็จพระนารายณ์ในปี 2204 หลังขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ และระหว่างทางก็ได้ผ่านเมืองตามแม่น้ำปิง หนึ่งในเมืองที่น่าจะเป็นเมืองกะเหรี่ยงคือเมืองอินทคีรี ซึ่งสันนิษฐานโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเป็นเมืองแม่ระมาดในปัจจุบัน (เรนาร์ด 1980: 56) 

 

ในหนังสือ สมุดราชบุรี ได้กล่าวถึง “พวกเกรี่ยง, กร่าง” (กะเหรี่ยง) ในเขตเพชรบุรี-ราชบุรี-กาญจนบุรีไว้ว่า “ชนพวกนี้อยู่ตามภูเขาที่ต่อแดนระหว่างพระราชอาณาจักร์สยามกับเขตต์พม่า” และถือเป็น ‘พลเมืองพิเศษ’ โดย “เกรี่ยง เมื่อแรกจะเข้ามาอยู่ในอำเภอวังกะ [อำเภอสังขละ] ประเทศสยามนั้น เดิมทีอยู่ที่บ้านเมกะวะ เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ได้ชักชวนพากันเข้ามาชั้นแรกประมาณ 100 คนเศษ มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่ห้วยช่องกะเลีย เรียกว่าบ้านทุพ่องอยู่จนทุกวันนี้ ไม่มีชาติอื่นปน เข้ามาอยู่กันเองโดยมิได้มีการบีบคั้นกดขี่จากประเทศใดไม่ 

 

“ภายหลังก็มีพวกเกรี่ยงบ้านเมกะวะนั้นเองพากันยกตามเข้ามาเสมอ เที่ยวแยกย้ายกันอยู่ตามหุบห้วยหุบเขา ไม่เคยถูกเกณฑ์ในการสงคราม แรกเข้ามาจนทุกวันนี้ได้ประมาณ 150 ปี ภายหลังมีพวกเกรี่ยงมากขึ้น ในหัวหน้าของพวกเกรี่ยงก็พากันลงไปหาเจ้านายที่จังหวัดกาญจน์บุรี เพื่อขอตั้งให้มีเจ้านายปกครอง 

 

“ตอนนี้จึงได้ตั้งพวกเกรี่ยงที่เปนหัวหน้าเจ้าเมือง เรียกว่าเมืองสังขละบุรี ชนชาติเกรี่ยงเปนเจ้าเมือง เปนที่พระยาศรีสุวรรณคีรี (ภูวะโพ่)” โดยกำหนดว่าทุก 3 ปีจะต้องลงไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่กาญจนบุรี พร้อมนำเครื่องบรรณาการ ได้แก่ ผ้าทอสีขาวและสีแดงที่ทำเอง 30 ผืน เรียกว่า ‘ผ้าเสมียนละว้า’ ดอกไม้เงิน 2 ต้น และเครื่องยาของป่าต่างๆ ไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ทำมาจนถึงปี 2467 เมื่อเจ้าเมืองถึงความชราจึงได้ลาออก (สมุดราชบุรี 2468: 23-25) 

 

หญิงชราชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

ชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

ชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

 

ถ้าคำนวณอายุการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานของ ‘ชาวเกรี่ยง’ หรือ ‘กะเหรี่ยง’ ที่กาญจนบุรีก็จะตกอยู่ราวปี 2318 หรือหลังการเสียกรุงครั้งที่สอง ซึ่งเป็นไปได้ว่าผลกระทบจากสงครามเสียกรุงนี้ทำให้ทางการสยามยินดีที่มีประชากรเข้ามาตั้งถิ่นฐาน จึงยกพื้นที่ดังกล่าวเป็นเมือง และตั้งชาวกะเหรี่ยงให้เป็นเจ้าเมืองด้วย 

 

ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่นี้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการป้องกันชายพระราชอาณาเขตด้านทิศตะวันตก ดังเห็นได้จากช่วงปี 2317-2336 และปี 2367 ได้มอบหมายให้ลาดตระเวนแนวชายแดนของเมืองราชบุรี อุ้มผาง ตาก และกาญจนบุรี (วุฒิ บุญเลิศ 2550: 34) 

 

ถ้าสรุปโดยรวบรัด ชาวกะเหรี่ยงในเขตเทือกเขาตะวันตกนี้พบว่ามีการตั้งถิ่นฐานมานานแล้วก่อนปี 2317 เป็นแน่ โดยอยู่ภายใต้การรับรู้ของรัฐไทยทั้งในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์แล้ว  

 

ชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี กำลังแสดงการละเล่นด้วยการเต้นรำ ชายสองคนด้านข้างเป่าแคน (ปี่บ่า) ผู้หญิง 2 คนตีกลอง และผู้หญิงคนกลางน่าจะตีฉาบ ผู้ชายที่เต้นรำสวมเครื่องแต่งกายที่ต่างไปจากกะเหรี่ยงทั่วไป คือสวมเสื้อแขนยาว นุ่งโจงกระเบน และคาดผ้าสไบ ซึ่งเป็นชุดที่รับมาจากชาวสยามและคงแต่งเพื่อการแสดง (สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

ชาวเกรี่ยง มณฑลราชบุรี กำลังแสดงการละเล่นด้วยการเต้นรำ ชายสองคนด้านข้างเป่าแคน (ปี่บ่า) ผู้หญิง 2 คนตีกลอง และผู้หญิงคนกลางน่าจะตีฉาบ ผู้ชายที่เต้นรำสวมเครื่องแต่งกายที่ต่างไปจากกะเหรี่ยงทั่วไป คือสวมเสื้อแขนยาว นุ่งโจงกระเบน และคาดผ้าสไบ ซึ่งเป็นชุดที่รับมาจากชาวสยามและคงแต่งเพื่อการแสดง
(สมุดราชบุรี 2468: ไม่ระบุเลขหน้า)

 

ในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน ร.ศ. 127 (ปี 2451) จัด ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ ชาวกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ก็ได้ไปเดินขบวนต่อหน้าพระที่นั่งเช่นกัน พร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น อาข่า เมี่ยน (เย้า) ลัวะ เป็นต้น 

 

เช่นเดียวกันกับในจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนิรเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ที่รัชกาลที่ 7 เสด็จไปยังเชียงใหม่เมื่อปี 2469 ระบุว่าชาวกะเหรี่ยงได้เดินขบวนและเข้าเฝ้าพระองค์ด้วย โดยในขบวนแห่ได้ทำ “รถภาพทำเป็นรูปยางแบกข้องผี” 

 

พิธีข้องผีนี้ ถ้าเป็นปกาเกอะญอเรียกว่า ‘บื้อต้าซ๊ะ’ ถ้าเป็นโพล่งเรียกว่า ‘บือฉะมื้อฮา’ คือพิธีการสะเดาะเคราะห์ยามเมื่อเจ็บป่วยของชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ โดยหมอผีจะทำพิธีตรงปากทางเข้าหมู่บ้าน แต่ก่อนจะใช้ข้องแล้วเอาผ้าขาวหรือผ้าแดงปิดที่ปากข้องและเจาะรูที่ผ้า ส่วนตูดก็เจาะรูเช่นกัน แล้วมีเครื่องเซ่นสังเวยที่ขาดไม่ได้คือไก่และเหล้า เมื่อเจ้าพิธีมาถึงก็จะทำพิธีโดยเก็บเอาเศษดิน ก้อนกรวด หิน หรืออะไรที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นขว้างเอาไปในข้องดันให้ทะลุออกอีกฝั่งหนึ่ง ถือเป็นการไล่เคราะห์ภัยหรือสิ่งไม่ดีให้ออกไป ปัจจุบันจะสานไม้ไผ่ทำเป็นวงเป็นเชิงสัญลักษณ์เลียนแบบข้องแทน เพราะข้องจริงๆ หายากขึ้นมาก (สัมภาษณ์ พระกล้าหาญ อาสโภ 2563)

 

ผู้หญิงและผู้ชายขาวกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ที่เดินขบวนหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพ: Döhring 1999: 114, Pl.52)

ผู้หญิงและผู้ชายขาวกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ที่เดินขบวนหน้าพระที่นั่งสมัยรัชกาลที่ 5
(ภาพ: Döhring 1999: 114, Pl.52)

 

กระบวนรถภาพของชาวยาง (กะเหรี่ยง) ที่เชียงใหม่ เมื่อปี 2469 (ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ: ภ. 003 หวญ. 19-15 (6))

กระบวนรถภาพของชาวยาง (กะเหรี่ยง) ที่เชียงใหม่ เมื่อปี 2469
(ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ: ภ. 003 หวญ. 19-15 (6))

 

สรุป ชาวกะเหรี่ยงนั้นอยู่ในไทยมานานแล้วหลายร้อยปี ไม่ใช่คนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ รัฐสยามนั้นก็ยอมรับการมีตัวตนของพวกเขามาช้านานแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงย่อมมีสิทธิในฐานะของชนพื้นเมืองดั้งเดิมอย่างเต็มที่ ดังเห็นได้จากข้อมูลประวัติศาสตร์ข้างต้น 

 

IO บางคนอาจค้านว่าชาวกะเหรี่ยงที่ย้ายออกมาแล้วไม่ควรมีสิทธิ์กลับไปยังใจแผ่นดินและบางกลอยเดิม การคิดเช่นนั้นคือการเบี่ยงประเด็น ขาดความเห็นใจ และละเมิดต่อสิทธิชนพื้นเมือง เพราะควรต้องมองย้อนไปว่านั่นคือบ้านของพวกเขา และเป็นบ้านที่อยู่แล้วดำรงชีพได้จริงและมีความสุข ผิดกันกับบ้านที่รัฐจัดให้ที่ไม่อยู่ไม่ได้ ไม่มีกิน และกำลังจะอดตายกัน ถ้ารัฐช่วยเหลือดี พวกเขาคงไม่ต้องดิ้นรนกลับเข้าไปอยู่กลางป่ากลางหุบเขาลึกเท่านั้นหรอกครับ 

 

กรมอุทยานฯ และอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควรต้องคิดเสียใหม่ว่าจะมีแนวทางการจัดการอย่างไรที่ทำให้คน คนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของป่า อยู่ร่วมกับป่าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศได้อย่างไร ความเป็นป่าจึงจะสมบูรณ์ และเป็นแนวทางการอนุรักษ์ยุคใหม่ก้าวใหม่ของกรมอุทยานฯ ต้องยึดหลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ และอย่ามัวแต่ไปซื้อเวลาในรายการทีวีบางช่องเพื่อสร้างภาพของการอนุรักษ์ป่า แต่ไม่สนใจไยดีชนพื้นเมืองดั้งเดิมอีกเลย ซึ่งนั่นเท่ากับว่ากำลังสะท้อนต่อการขาดความเข้าใจต่อสิ่งที่ใหญ่กว่า คือธรรมชาติกับมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันครับ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising