×

ทำไมการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือจึงยังยุติความขัดแย้งไม่ได้

26.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • จีน หนึ่งในพันธมิตรเพียงไม่กี่ประเทศของเกาหลีเหนือ คือตัวละครสำคัญในวิกฤตการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น จีนยังคงให้การช่วยเหลือแก่ผู้นำและกองทัพโสมแดงมาโดยตลอด แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรออกมากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนเองที่เกี่ยวพันกับการดำรงอยู่ของเกาหลีเหนือ
  • แท้จริงแล้วการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในระดับประชาชนอาจจะเป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดันและสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากกว่าที่จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรและสร้างสงครามน้ำลายกันไปมา ถ้าหากต้องการที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างแท้จริง

     สงครามเกาหลี (Korean War) ที่เกิดขึ้นเกือบ 70 ปีที่แล้วยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสงครามตัวแทนครั้งนั้นไม่ได้จบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ เป็นเพียงข้อตกลงหยุดยิงเพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยหลักการแล้วจึงถือว่า สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเกาหลีเหนือ ยังเป็นคู่ขัดแย้งหลักของสงครามนี้เรื่อยมา

     ความคิดที่จะครอบครองและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือถูกส่งต่อผ่านผู้นำสูงสุดจากรุ่นสู่รุ่น โดยพวกเขามองว่าอาวุธนิวเคลียร์นี้จะช่วยปกป้องประเทศจากภัยคุกคามจากมหาอำนาจชาติตะวันตก และเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับกองทัพโสมแดงในเวทีโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึนจะยังคงเดินหน้าผลักดันและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป แม้จะถูกมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติมาโดยตลอด

     THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีถึงประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ โดยเฉพาะจากสหประชาชาติที่มีต่อเกาหลีเหนือจึงยังไม่ประสบผลสำเร็จในการยุติปัญหาความขัดแย้งนี้

 

 

‘จีน’ ตัวละครสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งตั้งแต่สมัยสงครามเย็น

     ถึงแม้ว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและประชาคมโลก โดยเฉพาะสหประชาชาติจะยกระดับและดำเนินมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อเกาหลีเหนือมาแล้วกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบยกระดับมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ที่มุ่งเป้าไปยังสินค้าส่งออกที่เป็นช่องทางรายได้หลักของเกาหลีเหนือ ซึ่งจะใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการขับเคลื่อน ทดสอบ และพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ

     โดยคาดการณ์กันว่ามาตรการครั้งนี้เป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งจะสามารถตัดช่องทางรายได้ของรัฐบาลโสมแดงได้ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของเกาหลีเหนือเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นผู้นำและกองทัพโสมแดงเองก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะยุติการทดสอบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หรือดำเนินมาตรการที่เอื้อต่อการยุติปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลีนี้แต่อย่างใด

     ผศ.ดร. จันจิรากล่าวว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น ประเทศหนึ่งที่ช่วยเกาหลีเหนือรบกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในช่วงนั้นก็คือจีนและสหภาพโซเวียต ซึ่งหลังจากนั้นเกาหลีเหนือก็ได้รับความช่วยเหลือจากสองประเทศนี้มาโดยตลอด (ตอนสหภาพโซเวียตล่มสลาย เกาหลีเหนือก็ไม่ได้รับผลกระทบจนถึงขั้นต้องเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองภายในประเทศเหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ)”

     “สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะจีน หนึ่งในพันธมิตรเพียงไม่กี่ประเทศของเกาหลีเหนือ ณ ตอนนี้ยังคงให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนืออยู่ แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรออกมากี่ครั้งก็ตาม”

 

 

     ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ รศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงกรณีความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีก่อนหน้านี้ว่า

     “เกาหลีเหนือถือว่าเป็น ‘รัฐกันชน’ (Buffer State) ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีน เพราะในเกาหลีใต้มีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเกาหลีเหนือหรือเกาหลีเหนือล่มสลายไปก็อาจจะเกิดผู้ลี้ภัยเข้าไปในจีนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจีนเองอาจจะต้องจัดกองทัพไปประจำการในแถบนั้นเพิ่มมากขึ้น การที่มีเกาหลีเหนืออยู่จึงทำให้จีนลดภาระในส่วนนี้ไป”

     นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมที่ผ่านมาประเทศยักษ์อย่างจีนจึงยังคงสงวนท่าทีในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ หรือยังไม่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง เพราะแหล่งรายได้ทั้งหมดของเกาหลีเหนือกว่า 90% ก็มาจากจีน ซึ่งจะเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงของโครงการทดสอบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำจีนเองในฐานะ 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการเดินหน้าทดสอบและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเสียทีเดียว จีนจึงไม่ยื่นวีโต้คัดค้านมติการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อประเทศโสมแดง

 

 

มาตรการคว่ำบาตรอาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

     ผศ.ดร. จันจิราแสดงความเห็นว่า “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ และวิธีการมองของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่างๆ ในประชาคมโลกที่มีต่อเกาหลีเหนือว่าเป็น ‘ภัยคุกคามของโลก’ พอเรามองว่าเขาเป็นภัยคุกคาม เราก็จะมีความต้องการที่จะลงโทษเขาอยู่เสมอ

     “ในแง่หนึ่งสหรัฐฯ ก็พยายามกดดันให้สหประชาชาติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือทุกครั้งที่มีการขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หรือทดสอบขีปนาวุธ แต่ในขณะเดียวกัน การกระทำนี้เองก็ทำให้เกิดโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ในเกาหลีเหนือ และอำนาจของตัวผู้นำก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้นในสายตาของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ถ้าหากไม่มีการข่มขู่หรือสร้างสงครามน้ำลายระหว่างกัน มันอาจจะมีเสียงความไม่พอใจจากประชาชนในเกาหลีเหนือมากกว่านี้ก็ได้ แม้จะทำอะไรไม่ได้มากก็ตาม ถ้าจะแก้ปัญหานี้ การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอาจไม่เป็นผล เพราะมันจะยิ่งไปตอกย้ำโฆษณาชวนเชื่อในประเทศให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมุมมองที่มองเกาหลีเหนืออาจจะต้องเปลี่ยนจาก ‘ภัยคุกคาม’ เป็น ‘เหยื่อ’ ”

 

 

     ผศ.ดร. จันจิราให้เหตุผลว่า “หากประชาคมโลกมองเกาหลีเหนือเป็นเหยื่อของความขัดแย้งและเป็นมรดกของสงครามเย็น ท่าทีและสถานการณ์หลายๆ อย่างอาจจะจัดการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีความพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีมองจากมุมนี้มาแล้ว อย่างน้อยก็ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามที่จะเจรจาและไม่ได้มองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัย แต่เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเมื่อราว 70 ปีที่แล้วเหมือนกัน

     “ดังนั้นสิ่งที่สหประชาติต้องทำไม่ใช่การคว่ำบาตร แต่คือการสร้างความสมานฉันท์ คือจะไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จจริงๆ หากเกาหลีไม่รวมชาติ ถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งจริงๆ มันควรจะทำตั้งนานแล้ว และมีความพยายามที่จะทำอยู่ แต่การเมืองโลกมันไม่ได้เอื้อขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริงการแยกประเทศของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ในแง่หนึ่งก็ให้ประโยชน์กับมหาอำนาจไม่น้อย เกาหลีเหนือก็รู้สึกต้องพึ่งพาจีน ในขณะที่เกาหลีใต้(และญี่ปุ่น)เองก็รู้สึกว่าต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ยังคงกองทัพของตนไว้ในเอเชียแปซิฟิกได้ การวิเคราะห์ปัญหาผิดตั้งแต่แรกจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมมาตรการคว่ำบาตรถึงใช้ไม่ได้ผล”

 

 

     นอกจากนี้ ผศ.ดร. จันจิรายังชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สหประชาชาติและประชาคมโลกควรให้ความสำคัญเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ว่า “กลไกของ UN ในสมัยประธานาธิบดีคลินตันเคยผ่านสิ่งที่เรียกว่า Six-party talks หรือการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าสำหรับดิฉันคือมีผู้นำเกาหลีใต้สมัยหนึ่งที่มีความพยายามในการแลกเปลี่ยนคนที่เกาหลีเหนือเคยจับไปเป็นตัวประกัน หรือเปิดให้คนที่มีญาติอยู่ในเกาหลีเหนือหรือเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปเยี่ยมกันได้ แนวคิดริเริ่มแบบนี้ไม่ใช่แนวคิดหลักของสหประชาชาติ แต่เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำและทำเป็นระยะเวลายาวนาน

     “ปัญหาก็คือการเมืองภายในเกาหลีใต้เองที่พอเลือกตั้งมาก็อาจจะได้ผู้นำอนุรักษนิยมขึ้นมาบริหารประเทศ แนวคิดในลักษณะนี้ก็เลยหายไป ดังนั้นความพยายามที่จะมีการสร้างสันติภาพระดับประชาชนควรจะต้องเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศในภูมิภาค การอาศัยสหประชาชาติอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาอาจไม่เพียงพอ”

 

 

     นี่คือช่วงเวลาที่ประชาคมโลกจะต้องใช้ทุกทางเลือกที่มีช่วยกันยุติและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ยื้ดเยื้อนี้โดยเร็ว ก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามบานปลายจนถึงขั้นต้องใช้กำลังทางทหารเข้าห้ำหั่นกัน และอาจเกิดเป็นสงครามนิวเคลียร์ในที่สุด

 

Photo: AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising