จากกรณี นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ป่วยเป็นโรค ‘มะเร็งปอดระยะสุดท้าย’ ทั้งที่ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่ ทำให้หลายคนคาดว่ามลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 ในเขตภาคเหนืออาจเป็นสาเหตุของมะเร็งปอดในครั้งนี้
รายงานโรคมะเร็งในประเทศไทยปี 2559-2561 วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งจากโรงพยาบาลใน 14 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่า ‘มะเร็งปอด’ เป็นอวัยวะที่มีอุบัติการณ์ปรับอายุมาตรฐาน (ASR) สูงเป็นอันดับที่ 2 ในผู้ชาย (22.8 รายต่อแสนประชากร) และอันดับที่ 4 ในผู้หญิง (11.5 รายต่อแสนประชากร)
เมื่อแยกตามภูมิภาคพบว่า ‘ภาคเหนือ’ มีอุบัติการณ์สูงที่สุด เท่ากับ 33.1 รายต่อแสนประชากรในผู้ชาย และ 19.9 รายต่อแสนประชากรในผู้หญิง ส่วน ‘ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ มีอุบัติการณ์ต่ำสุด เท่ากับ 16.9 รายต่อแสนประชากรในผู้ชาย และ 8.4 รายต่อแสนประชากรในผู้หญิง
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง วิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งในผู้สูงอายุใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 ทั้งผู้ชายและผู้หญิงคือ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับและท่อทางเดินน้ำดี ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในฝั่งเอเชีย
ผู้วิจัยอภิปรายในประเด็นโรคมะเร็งปอดว่า ยังไม่มีการศึกษาสาเหตุที่ชัดเจนในภาคเหนือ แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยเสี่ยง เช่น
- การสูบบุหรี่ เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่ในภาคเหนือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก พ.ศ. 2550-2554 และพบสูงสุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและลำพูน
- หมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) มีแนวโน้มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากการเผาป่าและเผาพื้นที่ทางการเกษตร
- ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งปอด มีรายงานการศึกษาพบปริมาณเรดอนในอาคารมาก และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งปอดในเขตภาคเหนือ
‘มะเร็งปอด’ คงไม่ใช่ปัญหาของอาจารย์แพทย์ท่านนี้เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประชาชนในภาคเหนือ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาสาเหตุและร่วมกันแก้ไขสาเหตุที่ทราบเบื้องต้นแล้ว เช่น มลพิษทางอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามมากขึ้น รวมถึงโรคอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วย
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์
อ้างอิง:
- Cancer in Thailand Vol. X, 2016-2018
- ระบาดวิทยาโรคมะเร็งในประชากรผู้สูงอายุภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ระหว่าง ปี พ.ศ. 2556-2560