×

ถอดรหัสความสำเร็จปรากฏการณ์ #บุพเพสันนิวาส ที่มีเบื้องหลังทุกขั้นตอนชื่อ หน่อง อรุโณชา

19.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หน่อง อรุโณชา ชอบดูรายการโทรทัศน์แทบทุกประเภทมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เริ่มอยากทำรายการแบบที่ตัวเองเคยดูเอาไว้บ้าง
  • ในช่วงถ่ายทำละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เบลล่าต้องรับบทเป็นตัวละ 4 ตัวด้วยกัน คือ เกศสุรางค์ในปัจจุบัน แม่หญิงการะเกด เกศสุรางค์ในร่างแม่หญิงการะเกด และบทพิมาลาจากเรื่อง เพลิงบุญ ที่ถ่ายทำในเวลาเดียวกัน ส่วนโป๊บคือคนที่หน่องจองตัวเอาไว้ตั้งแต่ 5 ปีก่อน เพราะเป็นคนที่คิดเอาไว้ในหัวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
  • สิ่งที่หน่อง อรุโณชา ประทับใจมากที่สุดในการทำงานเรื่องบุพเพสันนิวาสคือ ความสามัคคีของทีมงานทุกคน เพราะการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ที่มีรายละเอียดเยอะเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็สามารถช่วยกันทำออกมาได้สำเร็จ
  • หน่อง อรุโณชา เชื่อว่าเราไม่สามารถทำละครที่ดีจากบทที่เลวได้ แต่เราสามารถทำละครที่เลวจากบทที่ดีได้

หลังจากกระแส ‘ออเจ้า’ จากละครสุดฮิตของช่อง 3 อย่างบุพเพสันนิวาส กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างถล่มทลายในชั่วข้ามคืนตั้งแต่วันแรกที่ออกอากาศจนกระทั่งวันสุดท้ายที่ลาจอ และขึ้นแท่นเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดในรอบหลายปีของวงการละครไทย

 

THE STANDARD ได้พูดคุยกับ หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครชื่อดังแห่งบริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ที่อยู่เบื้องหลังงานสร้างเรื่องบุพเพสันนิวาสทั้งหมดทุกกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นตอนสุดท้าย เพื่อถอดรหัสลับความสำเร็จว่าต้องมีปัจจัยอะไรบ้างประกอบเข้าด้วยกัน จึงจะสร้างละครให้เป็น ‘ปรากฏการณ์’ เช่นนี้

 

ก่อนจะมาเป็นผู้จัดละครที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ในวัยเด็กของ หน่อง อรุโณชา ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร

ที่มาถึงทุกวันนี้ได้ก็น่าจะเป็นเพราะแม่ (หม่อมเจ้าอรุณแสงไข ภาณุพันธุ์) เราได้เห็นเรื่องความเพียรของแม่มาตั้งแต่เด็ก จากที่ต้องการเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าก็เลยเริ่มคัดลอกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ตั้งแต่เกิดมาเห็นคุณแม่คัดลอกทุกวันใช้เวลา 7 ปีกว่าจะเขียนเสร็จ รวมเวลาตรวจทานก็ประมาณ 11-12 ปี พระท่านได้ดูแล้วก็บอกว่าคัดลอกได้ไม่ผิดเลย

 

แม่เคยพูดเล่นๆ ว่าแม่เลี้ยงลูกเหมือนบุฟเฟต์ พยายามทำให้ลูกอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะเราเป็นลูกคนเดียว และแม่ไม่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต เวลาตัดสินใจอะไรแม่ก็ไม่เคยห้ามเลย

 

คุณแม่บอกว่าอะไรบ้างตอนที่คุณตัดสินใจเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่ห้ามเลย ตอนนั้นคำว่านิเทศแปลว่าอะไรยังไม่รู้เลย แต่คงเห็นว่าเราชอบดูทีวีมาตั้งแต่เด็ก ดูทุกอย่างตั้งแต่ข่าว รายการ หนัง ละคร ของแขก อินเดีย ฝรั่ง หนังไทย ตอนเด็กๆ เราไปดูถึงช่อง 5 เลยสมัยที่เขายังแสดงละครกันแบบสดๆ อยู่ ฯลฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากทำรายการทีวีแบบที่ได้ดูด้วย

 

ก่อนมาเป็นผู้จัดละคร ทำอะไรมาก่อนบ้าง

เป็นผู้กำกับรายการ โปรแกรมไดเรกเตอร์ของรายการข่าว วาไรตี้ เพลง ละคร เคยได้ทำพาร์ตหนึ่งของการถ่ายทอดสดงานกรุงเทพฯ 200 ปี สารคดีก็เคยทำ ที่ภูมิใจที่สุดก็คือ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 60 พรรษา จนได้มาทำงานที่บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เลยได้เริ่มต้นที่จะทำงานละครแบบเต็มตัว

 

 

กระบวนการทำหนึ่งเรื่องเริ่มต้นจากอะไร

เริ่มต้นจากการเลือกเรื่องก่อน เรื่องต้องมีความโดดเด่นน่าสนใจ ละครในตอนนี้มีแนวหลักๆ ประมาณ 5 แนว คือ ดราม่า โรแมนติกคอเมดี้ คอเมดี้ แอ็กชัน ประวัติศาสตร์ บางอันอาจจะเป็นมิวสิคัลเพิ่มเข้ามา เราทำละครพีเรียดมาหลายเรื่องอย่าง ขมิ้นกับปูน บางระจัน หรือ บ่วง ที่มีผีอีแพง แต่บุพเพสันนิวาสน่าจะเป็นเรื่องแรกที่นำเสนอเรื่องราวในยุคสมเด็จพระนารายณ์ รวมทั้งมีความแปลกที่เป็นเรื่องของคนยุคปัจจุบันเข้าไปอยู่ในอดีตก็เลยทำให้มีความน่าติดตาม

 

เมื่อเรื่องเลือกได้แล้วก็เลือกคนเขียนบทและผู้กำกับ สองส่วนนี้จะมาพร้อมๆ กัน แล้วก็คิดเรื่องนักแสดง พระเอก นางเอง ตัวแสดงรายล้อม ซึ่งบุพเพสันนิวาสชัดเจนทุกอย่าง เพราะสตอรีมีความแข็งแรง รายละเอียดเยอะ ทำให้ผู้เขียนบทสามารถไปแตกรายละเอียดเป็นบทละครได้ แต่ความยากคงเป็นอย่างที่คุณรอมแพงเล่าให้ฟังแล้วว่า ต้องใช้เวลาค้นหาข้อมูลอยู่ 3 ปี เพื่อนำมาเขียนเป็นนิยาย อาจารย์แดง (ศัลยา สุขะนิวัตติ์) ก็ต้องใช้เวลา 2 ปี อ่านหนังสือ 10 เล่ม เพื่อหาข้อมูลมาประกอบในการร้อยเรียงเป็นบทละคร ทำให้ใช้เวลา 4 ปี ถึงจะเขียนเสร็จ แต่ไม่เป็นไรเรารอได้

 

ทำไมมือเขียนบทถึงเป็นคนอื่นไม่ได้นอกจากอาจารย์ศัลยา

ต้องบอกว่าเราไม่เคยถ่ายทอดบทละครที่มีตัวละครทางประวัติศาสตร์จริงๆ แบบนี้ คนเขียนบทต้องเป็นผู้ที่เข้าใจและร้อยเรียงเรื่องราว มีความชัดเจนในการถ่ายทอด ผสมผสานตัวละครที่ไม่มีจริงทางประวัติศาสตร์ กับตัวละครที่มีอยู่จริงให้มีความกลมกลืน ซึ่งอาจารย์มีเทคนิคในการเล่าเรื่องตรงนี้ให้สมูทและเข้าใจง่าย ถ้ามีตอนไหนที่คนดูสงสัยอะไรบางอย่าง เดี๋ยวสักพักก็จะมีตัวละครมาอธิบายเรื่องนั้นทำให้คนดูไม่คาใจ เป็นมิติใหม่เหมือนกันที่เอาประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงแล้วเข้าใจง่าย คิดว่าน่าจะทำให้คนเข้าใจประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาในตอนนั้นขึ้นเยอะเลย ซึ่งต้องชมทุกภาคส่วนตั้งแต่คุณรอมแพง เจ้าของบทประพันธ์ อาจารย์ศัลยา คุณใหม่ (ภวัต พนังคศิริ) ผู้กำกับ ที่กำกับให้นักแสดงแสดงออกทางสีหน้าท่าทางได้อย่างชัดเจน บางอย่างไม่ต้องพูดอะไรเลย แต่คนทำให้คนดูเข้าใจเรื่องราวได้ อย่างตัวละครจ้อย (โมสต์-วิศรุต หิมรัตน์) พูดน้อยมาก แต่ออกมาแค่ฉากเดียวก็เกิดเลย

 

คุณต้องเป็นคนแคสติ้งนักแสดงด้วยตัวเองหรือเปล่า

มีส่วนด้วยค่ะ เพราะทุกอย่างต้องมองเป็นองค์รวมสอดรับกันทั้งหมด อย่างเบลล่า (ราณี แคมเปน) เป็นบทที่ยากมาก เพราะต้องถ่ายทอดเป็น 3 ตัวละคร บางคนอาจจะคิดว่าแค่สอง คือเกศสุรางค์ในปัจจุบัน กับแม่หญิงการะเกดที่เป็นตัวร้าย แต่จริงๆ มีอีกบทคือเกศสุรางค์ในร่างการะเกด ตั้งแต่ตอนถ่ายทำแล้วเอาลองมาตัดต่อดู เรารู้สึกเลยว่าฉากเกศสุรางค์คุยกับแม่หญิงการะเกด เขาเป็นคนละคนกัน พอไปอยู่ในยุคปัจจุบัน คุยกับแม่กับเพื่อนก็เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่น่ารักสดใส เบลล่าทำให้เรารู้สึกว่า 3 คนนี้เป็นคนละคนกันหมดเลย เป็นความสามารถที่ยอดเยี่ยมมาก แล้วตอนถ่ายทำเรื่องนี้เบลล่าก็กำลังถ่ายทำเรื่องเพลิงบุญ (เบลล่ารับบทเป็นพิมาลา) เท่ากับว่าเบลล่าต้องเป็น 4 ตัวละครในเวลาเดียวกัน

 

ส่วนพี่โป๊บ (ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ) เขาสร้างปรากฏการณ์มาแล้ว 2 ครั้ง คือตอนเล่นเป็นตัวละครนัทในเรื่องดอกส้มสีทอง พอละครออกอากาศวันรุ่งขึ้นโป๊บก็ดังเลย แล้วเขาเคยเล่นเป็นคุณชายปวรรุจในสุภาพบุรุษจุฑาเทพ เล่นเป็น ม.ร.ว.กิตติราชนรินทร์ ในเรื่องสะใภ้จ้าว ซึ่งด้วยบุคลิกของขุนศรีวิสารวาจาหรือพี่หมื่น ต้องเป็นทูต มีบุคลิกนุ่มนวล ซึ่งโป๊บได้หมดเลย มีเสน่ห์ด้วย เราจองตัวโป๊บก่อนประมาณ 5 ปี เพราะเป็นคนที่คิดไว้ในหัวตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

 

 

บรรยากาศในการถ่ายทำละครเรื่องบุพเพสันนิวาสเป็นอย่างไรบ้าง

เบื้องหลังเรื่องนี้ตลกมาก เป็นกองถ่ายที่เฮฮา มีบรรยากาศในการทำงานที่ดี มีความสุข แต่ก็ยากไปพร้อมๆ กัน เพราะบางวันเราอาจจะถ่ายได้แค่ฉากเดียว เช่น ฉากตลาดชีกุน เราต้องสร้างตลาดทั้งหมด ถ่ายทำ 1 วันเพื่อฉากเดียว ฉากยมทูตต้องถ่าย 2 วัน ให้เบลล่าใส่สลิงเล่นเป็น 2 ตัวละคร ถ่ายกันทั้งวันเพื่อเอามาใช้ประมาณ 2 นาที และฉากที่ยากมากและใช้ความตั้งใจสูงมากคือ ฉากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เราเอาภาพจริงๆ มาวางไว้ แล้ววัดสเกลถ่ายเลย จัดองค์ประกอบทุกอย่างให้เหมือนในภาพทั้งหมด

 

 

รวมทั้งสต็อกช็อตทุกอันในเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมายากมาก เช่น อยุธยาในปัจจุบันเป็นเมืองเก่า แต่เราต้องทำให้เป็นเมืองใหม่ในสมัยนั้น ก็ต้องสร้างทุกอย่างใหม่หมด องศา สเกลของพระราชวัง วัดต่างๆ ใช้เวลากับการทำซีจีนานมาก ทุกฉากที่มีการพายเรือ ของจริงเป็นแม่น้ำสั้นๆ เราก็ต้องใช้ซีจีต่อให้เป็นลำน้ำยาว บางอันผู้ชมอาจจะมองไม่รู้ว่านี่เป็นซีจีด้วยซ้ำเพราะมันกลมกลืนมาก

 

เรื่องที่ประทับใจมากที่สุดในการถ่ายทำละครเรื่องนี้คืออะไร

เรื่องความสามัคคีของทีมงานทุกคน เพราะการทำงานตรงนี้เป็นงานที่ยาก ต้องใช้เวลา มีเรื่องรายละเอียด ความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ เรามีที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์คืออาจารย์วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ และอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ มาเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงผมมีกี่ทรง ห่มสไบกี่แบบ ไปจนถึงเรื่องไฝ ที่มีคนสงสัยว่าเราแต่งหน้าไม่ดีหรือเปล่า ทำไมมีไฝอยู่บนพระพักตร์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถ้าไปดูที่รูปปั้นของพระองค์ พระองค์มีจริงๆ แล้วเราทำตามนั้นมาทั้งหมด

 

โดยรวมถือว่าผลงานออกมาแฮปปี้ทุกอย่าง แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์บางเรื่อง

อันนี้ต้องขอบพระคุณมากนะคะ เพราะการเล่าเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะขนาดนี้ ไม่ว่าตั้งใจมากแค่ไหน มันก็อาจจะมีจุดที่พลาดได้ ก็ต้องขออภัยไว้ด้วย แต่เราตั้งใจกันมากจริงๆ อย่างเสื้อผ้าที่คนดูพูดถึงเรื่องความสมจริง คือเราอิงกับประวัติศาสตร์การแต่งกายในยุคนั้นจริงๆ แต่พอเป็นเสื้อผ้า มันเป็นเรื่องของความสวยงาม ที่ต้องมีการดัดแปลงบ้างเพื่อความสวยงามและกลมกลืน

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์การเป็นผู้จัดละครไม่มีสูตรสำเร็จ แต่พอจะบอกแนวคร่าวๆ สำหรับหลายคนที่อยากทำละครเรื่องหนึ่งให้เป็นละครที่ดี ให้คนประทับใจในแบบของคุณได้ไหม

หัวใจที่เราพูดเสมอคือ เราไม่สามารถทำละครที่ดีจากบทที่เลวได้ แต่เราสามารถทำละครที่เลวจากบทที่ดีได้ แปลว่า ถ้าได้บทดีแล้วละครอาจจะยังไม่ดีนะคะ ต้องไปดูงานโปรดักชันการถ่ายทำ นักแสดง เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะบุพเพสันนิวาสเป็นเรื่องที่มีตัวละครเยอะมาก แต่คนดูจำได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักไปจนบ่าวไพร่ อันนี้ก็ต้องยกเครดิตให้ทั้ง 4 ส่วน คือคุณรอมแพงที่เขียนตัวละครในนิยาย อาจารย์แดงที่ปรับมาเป็นตัวละครสำหรับบทโทรทัศน์ได้ดีมาก และผู้กำกับอย่างคุณใหม่ รวมทั้งนักแสดงที่ช่วยกันแสดงออกมาได้อย่างน่าประทับใจ

 

ไปจนถึงองค์ประกอบโปรดักชันต่างๆ เราโชคดีที่ได้มือฉมังของทุกด้านมารวมกันทั้งฝ่ายศิลป์ ฝ่ายเสื้อผ้าที่จะเห็นตั้งแต่การห่มสไบให้มีการเหลื่อมกันนิดหนึ่งแล้วทำให้เกิดความสวยงาม เรื่องนี้เป็นการถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมไทยแทบจะครบทุกด้านเลย เรามีทั้งเสภา เพลงเรือ ก่อกองทราย ศิลปะแม่ไม้มวยไทย อาหาร ที่ถ้ารู้ว่าคนชอบขนาดนี้จะเพิ่มเมนูเข้าไปอีกเลยนะ (หัวเราะ)

 

รวมทั้งงานโพสต์โปรดักชัน การตัดต่อ ไปจนถึงเพลง จะเห็นว่าเรื่องนี้ได้เพลงที่เหมาะสมกับบรรยากาศของเรื่องมาก และเป็นเรื่องที่ถ่ายทำละครไปแล้วแต่งเพลงเพิ่มกลางเรื่อง ตอนแรกเรามีแค่สองเพลงคือ เพลงบุพเพสันนิวาส กับเพลงสบตา แต่พอออกอากาศไปได้สองตอน มีกระแสออเจ้า ก็เลยแต่งเพลงออเจ้าเอยเพิ่มขึ้นมา แล้วก็มีเพลงเธอหนอเธอ ตามมาอีก

 

 

เพลงออเจ้าเอย

 

กว่าจะออกมาเป็นผลงานที่ดีขนาดนี้ต้องใช้ทุนสร้างทั้งหมดเท่าไร พอจะบอกได้หรือเปล่า

บอกได้แค่ว่าก็เยอะอยู่เจ้าค่ะ (หัวเราะ)

 

แนวคิดหรือทัศนคติที่พยายามถ่ายทอดให้กับสังคมในฐานะผู้จัดละครของคุณคืออะไร

ทุกๆ เรื่อง เราคิดว่าควรจะสร้างประโยชน์อะไรบ้างให้เกิดขึ้นในงานศิลปะที่สร้างความบันเทิงของเรา เพราะทีวีเป็นสื่อที่คนดูเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราสอดแทรกสิ่งดีๆ ไม่ว่าจะข้อคิด ความเป็นไทย ศาสนา ประวัติศาสตร์ เราอยากให้สาระเหล่านั้นแฝงอยู่ในความบันเทิงทุกเรื่องที่เราทำ ให้คนดูได้ทั้งความสนุก ได้ความรู้และประโยชน์ไปโดยไม่รู้ตัว

 

ศิลปะที่ดีในมุมมองนักสร้างสรรค์ศิลปะของคุณคืออะไร

ศิลปะที่ดีจะให้ความสุข ให้รอยยิ้มกับผู้ชมโดยไม่รู้ตัว ของขวัญที่ดีที่สุดในการเป็นผู้สร้างละคร ก็คือความสุขของท่านผู้ชม ดูแล้วยิ้มได้ก่อนเข้านอน อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ดีใจมากๆ มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ คือ มีคนมากอดเรา แล้วบอกว่าขอบคุณมากๆ ที่ทำให้เขามีความสุข และหลุดไปจากชีวิตประจำวันที่เราไม่ทราบหรอกว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยเราได้เห็นรอยยิ้ม แววตาที่เขามองมา มันเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่

 

สร้างมาตรฐานในเรื่องนี้ไว้สูงมาก วางแผนในอนาคตไว้อย่างไรบ้างเพื่อที่จะรักษามาตรฐานระดับนี้เอาไว้ให้ได้

ทุกคนชอบบอกว่าพี่หน่องทำให้คนอื่นเครียด แต่จริงๆ แล้วตัวเรายิ่งเครียดเหมือนกัน (หัวเราะ) เพราะเราต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ไว้ ต้องไม่ทำให้ทุกอย่างด้อยลง ก็จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพของผลงานต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าความฝันในเวลานี้ก็คงเป็นความฝันของผู้จัดที่อยู่ในวงการละครไทย คืออยากเห็นละครไทยเราก้าวไกลออกไปสู่สายตาของชาวเอเชียและชาวโลก แต่ตอนนี้ก็เหมือนจะได้เล็กๆ แล้วนะ

FYI
  • อีกไม่นานเรากำลังจะได้ดูบุพเพสันนิวาส ในแบบละครเวทีและภาพยนตร์ พร้อมกับนิยายภาษาต่างประเทศที่ได้รับการยืนยันแล้วแน่ๆ 2 ภาษา คือภาษาอังกฤษและภาษาจีน รวมทั้งบุพเพสันนิวาสในเวอร์ชันซีรีส์จีน ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเลือกบริษัทที่เหมาะสมที่สุด เพราะมีผู้จัดจากประเทศจีนยื่นข้อเสนอมาหลายบริษัท
  • คืบหน้าของบุพเพสันนิวาส ภาค 2 ที่ใช้ชื่อว่า ‘พรหมลิขิต’ แฟนๆ คงต้องอดใจรออีกพักใหญ่ เพราะกำลังอยู่ในช่วงรอให้รอมแพงเขียนหนังสือภาค 2 ให้เรียบร้อยเสียก่อน พล็อตเรื่องยังไม่ยืนยันแน่ชัด แต่เรื่องราวจะเกิดขึ้นในยุคพระเจ้าท้ายสระ (สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ) และยังคงเป็นแนวโรแมนติกคอเมดี้เหมือนเดิม
  • ผลงานที่หน่อง อรุโณชา อยากให้ติดตามระหว่างรอดูเรื่องพรหมลิขิตคือ You Who Came From The Star เวอร์ชันภาษาไทย ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากซีรีส์สุดฮิตของประเทศเกาหลี โดยได้ ณเดชน์ คูกิมิยะ และ แมท-ภีรนีย์ คงไทย แสดงให้ดูกัน ตอนนี้อยู่ในระหว่างการถ่ายทำ คาดว่าจะได้ชมกันช่วงต้นปีหน้า
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising