×

เหตุผลที่เศรษฐศาสตร์แก้จนได้รางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ 2019

16.10.2019
  • LOADING...
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์,

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ 2019 มีผู้ได้รับรางวัล 3 คน ได้แก่ อภิจิต บาเนอร์จี และ เอสเธอร์ ดัฟโล ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และ ไมเคิล เครเมอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทั้งสามคนนี้ได้รับรางวัลจากการนำวิธีการทำวิจัยเชิงทดลอง (Experiment-based approach) ซึ่งนับเป็นวิธีใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการกับปัญหาความยากจน 
  • บาเนอร์จีเคยให้สัมภาษณ์กับ The Economist ไว้ว่า วิธีการทำวิจัยที่พวกเขาใช้เป็นวิธีที่เน้นทำความเข้าใจคนยากไร้จากมุมมองของคนเหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่การคิดไปเองจากมุมมองหรือความคิดที่รัฐหรือผู้จัดทำนโยบายมีต่อพวกเขา 
  • สิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำเสมอคือ การแตกปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อยๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ และทำการวิจัยโดยลงไปคลุกคลีเพื่อทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดและพฤติกรรมอย่างไร ออกแบบทำการทดลองว่าวิธีใด (Intervention) ใช้ได้ผลดี และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

ประกาศผลกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2019 หรือชื่อเต็มของรางวัล คือ Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences in Memory of Alfred Nobel ซึ่งปีนี้มีผู้รับรางวัลทั้งหมด 3 คน ได้แก่ อภิจิต บาเนอร์จี, เอสเธอร์ ดัฟโล ศาสตราจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และ ไมเคิล เครเมอร์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งทั้งสามคนนี้ได้รับรางวัลเพราะได้นำวิธีการทำวิจัยเชิงทดลอง (Experiment-based approach) ซึ่งนับเป็นวิธีใหม่ในวงการเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการจัดการกับปัญหาความยากจน 

 

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์,

 

ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับชื่อของทั้งสามคนนี้อยู่พอสมควร เพราะเคยเรียนวิชา International Economic Development ซึ่งหนังสือและงานวิจัยที่อาจารย์นำมาใช้ในการเรียนการสอนมักมีชื่อของทั้งสามคนนี้ให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ 

 

ส่วนตัวเคยมีโอกาสได้ไปฟังดัฟโลเล่าถึงงานวิจัยของเธอ และเพื่อนร่วมงานจากสถาบันวิจัยที่ผู้เขียนไปฝึกงาน (Financial Access Initiative Research Center) เป็นนักเรียนในที่ปรึกษาของเครเมอร์ สำหรับส่วนที่ทำให้รู้สึกยินดีและดีใจมากคือผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในคนที่ใช้วิธีวิจัยเชิงทดลองในการทำงานวิจัยเช่นกัน ดังนั้นในบทความนี้จะเล่าว่าทำไมงานวิจัยของทั้งสามคนจึงได้สร้างชื่อเสียงให้กับวงการ และสร้างผลกระทบให้กับผู้คนจำนวนมาก จนทำให้พวกเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้  

 

บาเนอร์จี และดัฟโล เป็นคู่สามีภรรยากัน โดยดัฟโลเป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเธอก็มีอายุเพียง 46 ปี ซึ่งนับว่าเป็นผู้รับรางวัลที่มีอายุน้อยที่สุดด้วย 

 

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์,

 

ทั้งสองได้ร่วมกันตั้งสถาบันวิจัยที่ชื่อว่า The Abdul Latif Jameel Poverty Action Lab (J-PAL) หรือเรียกสั้นๆ ว่า The Poverty Action Lab ขึ้นภายใน MIT เมื่อปี 2003 เพื่อผลิตงานวิจัยและออกแบบนโยบายที่ช่วยลดระดับความยากจน โดยมุ่งเน้นการใช้ข้อมูลที่มาจากงานวิจัยเชิงทดลอง ซึ่งมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก่อนที่จะนำผลลัพธ์จากการทดลองมาใช้เป็นนโยบายจริง 

 

ส่วนเครเมอร์ก็มีผลงานด้านเศรษฐศาสตร์เชิงพัฒนาจำนวนมาก ทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ และเกษตรกรรม เขาทำงานร่วมกับดัฟโลและบาเนอร์จี และได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย รวมทั้งได้รับการขนานนามจาก World Economic Forum ให้เป็น Young Global Leaders อีกด้วย  

            

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์,

 

เมื่อกล่าวถึงการขจัดความยากจนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ หลายคนทราบดีว่าการแก้ปัญหานี้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน และคงไม่มียาวิเศษที่สามารถขจัดปัญหาไปได้ในชั่วข้ามคืน นักวิจัยทั้งสามก็ทราบถึงข้อจำกัดนี้เช่นกัน และพวกเขาได้เปลี่ยนมุมมองในการมองปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ จากภาพใหญ่ที่มีความซับซ้อน มามองที่จุดที่เล็กลง และเน้นการแก้ปัญหาให้ตรงจุด เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งสามารถวัดผลได้ว่านโยบายที่ทำนั้นมีผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจอย่างไร

            

ก่อนที่จะออกแบบวิธีการแทรกแซง (Intervention) เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ พวกเขาจะพยายามทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดและพฤติกรรมอย่างไร และอะไรที่จะช่วยทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เช่น ทำอย่างไรให้นักเรียนมาโรงเรียนมากขึ้น ทำอย่างไรเด็กๆ จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้คนใช้มุ้งเพื่อป้องกันยุงซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคมาลาเรีย 

 

ซึ่งบาเนอร์จีเคยให้สัมภาษณ์กับ The Economist ไว้ว่า วิธีการทำวิจัยที่พวกเขาใช้เป็นวิธีที่เน้นทำความเข้าใจคนยากไร้จากมุมมองของคนเหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่การคิดไปเองจากมุมมองหรือความคิดที่รัฐหรือผู้จัดทำนโยบายมีต่อพวกเขา 

            

วิธีการที่ใช้ในการทำวิจัยเชิงทดลองเรียกว่า Randomised Controlled Trials (RCTs) ซึ่งพวกเขาเป็นคนแรกๆ ที่นำวิธีนี้มาใช้กับงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ 

 

ในความเป็นจริง RCTs เป็นวิธีการที่นิยมมากในทางการแพทย์ เช่น หากต้องการทราบว่ายา A มีประสิทธิภาพทำให้คนไข้หายจากโรคได้หรือไม่ สิ่งที่นักวิจัยยาสามารถทำได้ก็คือ ให้ยา A แก่คนไข้กลุ่มหนึ่ง และให้ยาหลอกซึ่งทำมาจากแป้ง (Placebo) แก่คนไข้อีกกลุ่ม หากกลุ่มที่ได้รับยา A มีอาการที่ดีขึ้นกว่ากลุ่ม Placebo อาจสรุปได้ว่ายา A มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค 

           

ผลลัพธ์จากการใช้ RCTs กับงานด้านเศรษฐศาสตร์ก็ทำให้สามารถบอกได้ว่า Intervention ที่ใช้ในการทำการทดลองมีประสิทธิภาพเพียงใด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ Intervention (Control Group) และกลุ่มที่ได้รับ Intervention ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีการนี้ส่งผลดีในการทำให้รู้ว่า ควรใช้เงินงบประมาณไปกับนโยบายใด เพื่อทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด 

            

ตัวอย่างงานวิจัยที่ผู้เขียนชอบมาก คืองานที่สร้างอิมแพ็กในการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาที่มาพร้อมกับปัญหาเรื่องสุขภาพ หากคิดถึงว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆ ที่ยากจนในทวีปแอฟริกามาเรียนที่โรงเรียนมากขึ้น นโยบายที่สามารถทำได้มีหลากหลาย เช่น จัดอาหารเช้าและกลางวันให้เด็กรับประทาน แจกชุดนักเรียน หรือให้เรียนฟรี อย่างไรก็ดี พวกเขาพบว่าปัญหาหนึ่งที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะว่าพวกเขาป่วยจากโรคพยาธิลำไส้ ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยต้นทุนที่ถูกมาก 

            

งานวิจัยได้ใช้วิธี RCTs แสดงเปรียบเทียบให้เห็นว่า จำนวนปีที่นักเรียนจะมาเรียนเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับ Intervention เมื่อเทียบกับเงิน 100 ดอลลาร์ที่ใช้ในการทำนโยบายจะเป็นเท่าไร ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า การให้ยาถ่ายพยาธิส่งผลให้พวกเขามาเรียนได้เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่วิธีอื่นๆ เช่น การเพิ่มจำนวนคุณครู การจัดให้มีอาหารทานฟรี การให้ชุดนักเรียน การให้ทุนเรียนฟรี ส่งผลให้จำนวนปีที่นักเรียนจะมาเรียนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 

 

ทั้งนี้ก็เนื่องจากต้นทุนของยาถ่ายพยาธิมีราคาถูกมาก และสามารถสร้างผลลัพธ์ในระยะยาวได้ด้วย ปัจจุบันมีการจัดให้มีวันถ่ายพยาธิในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เช่น เอธิโอเปีย อินเดีย เคนยา ไนจีเรีย และเวียดนาม โดยจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ J-PAL พบว่าในปี 2017 มีจำนวนนักเรียนมากกว่า 285 ล้านคนทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับ Intervention นี้ และส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพกายที่ดีขึ้น และทำให้สามารถไปโรงเรียนได้ 

 

​นักวิจัยทั้งสามคนได้รับรางวัลโนเบล จากการที่พวกเขาใช้วิธีการวิจัยเชิงทดลอง และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้ได้จริง 

 

โดยสิ่งที่พวกเขาเน้นย้ำเสมอคือ การแตกปัญหาใหญ่เป็นปัญหาย่อยๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ และทำการวิจัยโดยลงไปคลุกคลีเพื่อทำความเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายมีความคิดและพฤติกรรมอย่างไร ออกแบบทำการทดลองว่าวิธีใด (Intervention) ใช้ได้ผลดี และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำนี้ได้สร้างวิธีการทำการวิจัยรูปแบบใหม่ให้กับวงการเศรษฐศาสตร์เชิงพัฒนาในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา

 

​ทั้งสามคนได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การตั้งคำถามจากจุดเล็กๆ ค่อยๆ แก้ไปทีละจุด ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้เช่นกัน แม้ว่าการทดลองแต่ละครั้งจะอาศัยเวลา แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับการคิดค้นยารักษาโรค ซึ่งเมื่อคิดค้นได้สำเร็จ ก็เปลี่ยนชีวิตของมนุษย์ไปตลอดกาล

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X