ถือว่าปีที่ผ่านๆ มา การทุจริตคอร์รัปชันภายในประเทศไทยยังมีให้เห็นเรื่อยมาและเป็นเรื่องที่คุ้นชินเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีหน่วยงานอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่คอยเป็นหูเป็นตาแทนพี่น้องประชาชน แต่ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอยู่ดีว่าการทำงานของ ป.ป.ช. ช่วงที่ผ่านมานั้นอาจมีความล่าช้า
THE STANDARD ได้มีโอกาสคุยกับ ‘นิวัติไชย เกษมมงคล’ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงการ ‘ป้องกันและปราบปราม’ รวมถึงเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในรูปแบบต่างๆ ในปี 2566 และคาดว่าในปี 2567 จะมีการร้องเรียนให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทุจริตภายในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด
ปัญหาการทุจริตนับวันมีแต่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศที่ต้องขจัดให้หมดไป แต่เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำนักงาน ป.ป.ช. จะมีแนวทางป้องกันเฝ้าระวังปราบปรามและลดโอกาสเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตอย่างไร
สร้างการมีส่วนร่วมสู้ปัญหาทุจริต
“สำนักงาน ป.ป.ช. ตระหนักดีว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติด้วยความเข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนแม่บทฯ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงให้ความสำคัญในการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติ”
นิวัติไชยกล่าวถึงแนวทางการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างมีบูรณาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ช่วยส่งเสริมให้ภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ การดำเนินงานของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สถิติการรับเรื่องเรียนในปีงบประมาณ 2566
ในรอบปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2566) มีสถิติการรับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 9,066 เรื่อง แบ่งออกเป็นประเภทเรื่องกล่าวหา
- ประเภทที่ 1 กลุ่มที่ส่วนใหญ่มีรายละเอียดคำกล่าวหาครบถ้วน 6,815 เรื่อง ได้แก่ หนังสือร้องเรียน หนังสือราชการ ร้องเรียนด้วยวาจา และเหตุอันควรสงสัย (ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.)
- ประเภทที่ 2 กลุ่มที่ส่วนใหญ่มีรายละเอียดคำกล่าวหาไม่ครบถ้วน 2,251 เรื่อง ได้แก่ บัตรสนเท่ห์ เว็บไซต์ แจ้งเบาะแส และคำกล่าวหาไม่ปรากฏชื่อ
โดยทั้ง 2 ประเภทมีเรื่องที่รับไว้ตรวจสอบเบื้องต้น (รับดำเนินการเอง) 3,695 เรื่อง เรื่องที่ส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ (ตามมติ) 2,627 เรื่อง เรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 491 เรื่อง และส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องซ้ำ ยุติเรื่อง และไม่รับไว้พิจารณาหรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่
ขณะที่ผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริตประจำปีงบประมาณ 2566 มีเรื่องที่ตั้งไต่สวนทั้งสิ้น 1,539 เรื่อง ดำเนินการไต่สวนแล้วเสร็จ 540 เรื่อง จำแนกเป็นการชี้มูลความผิดทั้งสิ้น 466 เรื่อง, ข้อกล่าวหาตกไปหรือยุติการสอบสวน 45 เรื่อง, ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน (ดำเนินการตามมาตรา 64) 26 เรื่อง และส่ง ฮั้ว (มาตรา 14 (2)) 3 เรื่อง
ป.ป.ช. วินิจฉัยคดีใหญ่และสำคัญในปี 2566
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกตัวอย่างคดีใหญ่และสำคัญในปี 2566 เช่น กรณีกล่าวหา ประจวบ ธรณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายช่างโยธา ระดับชำนาญงาน ส่วนพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ สำนักทรัพยากรน้ำ ภาค 4 จังหวัดขอนแก่น ร่ำรวยผิดปกติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด
- อรรถพงษ์ แซ่แต้ นายกเทศมนตรี ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ร่ำรวยผิดปกติ
- ทรงศักดิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและซ่อมบำรุง สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ร่ำรวยผิดปกติ
- ประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ รวมมูลค่า 658,680,980.32 บาท
- สมหมาย จันทร์ฉาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่าทรัพย์สิน 119,327,444.22 บาท
- พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่ากว่า 1,358 ล้านบาท
- ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม (เสียชีวิต) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ กับพวก ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยมิชอบ
- อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรียกรับเงินจากผู้ใต้บังคับบัญชาทั่วประเทศ
- สุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500,000,000 บาท
- ภุชงค์ โพธิกุฎสัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่ำรวยผิดปกติ รวมมูลค่า 10,045,000 บาท
- อิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กับพวก มีส่วนได้ส่วนเสียในการก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ (ปัจจุบันคือโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ คอนโดมิเนียม พัทยา ไทยแลนด์) บริเวณเชิงเขาพระตำหนัก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และพิจารณาต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลคดีที่ ป.ป.ช. กำลังไต่สวนได้
ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ หากกฎหมายเขียนไว้คลุมเครือ เราก็เดินลำบาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของข้อมูล ซึ่งอาจต้องนำมาวินิจฉัยเป็นรายบุคคลไป ในส่วนของเป้าหมายที่กำลังผลักดันให้สำเร็จคือดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลในระบบสารสนเทศ ได้แก่ เปิดเผยเรื่องที่มีการไต่สวนไปแล้ว การแสดงข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาโดยรวม และผลการดำเนินการที่อยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเผยแพร่ทางสารสนเทศ
“เบื้องต้นได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการตรวจสอบความแม่นยำของระบบ เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด” นิวัติไชยกล่าว
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ป.ป.ช. ทำงานช้า
ขณะเดียวกันเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาเสมอคือ ‘ป.ป.ช. ทำงานช้า’ ประเด็นนี้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยอมรับและอธิบายว่า สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น ดำเนินการโดยใช้ระบบการไต่สวน ซึ่งจะแตกต่างจากการดำเนินการของพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งเป็นระบบกล่าวหา
“การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กฎหมายเปิดโอกาสและให้สิทธิเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา” โดยสามารถนำพยานหลักฐานเข้ามาสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทุกขั้นตอน เปิดโอกาสผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงตลอดเวลา และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งกระบวนทำงานดังกล่าวก็เป็นส่วนที่ทำให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้า ประกอบกับเมื่อมีกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่า คดีเรื่องเก่าทั้งหมดที่ค้างการพิจารณาอยู่ จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี
เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งรัดดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและไต่สวน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็พยายามที่จะดำเนินการพิจารณา แต่เนื่องจากกระบวนการวินิจฉัยสำนวนไต่สวนพยานหลักฐานต่างๆ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเรื่องของความรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะเป็นเรื่องของการกล่าวหาที่อาจกระทบสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งโทษก็ค่อนข้างจะรุนแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องใช้ระยะเวลาในการวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความครบถ้วนและให้ความเป็นธรรม
สาเหตุที่ ป.ป.ช. ทำงานล่าช้า
“อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ล่าช้าคือ ก่อนที่จะมีโครงสร้างในปัจจุบันที่มีการกระจายคนออกไป มีการตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดในทุกจังหวัด ถึงแม้จะมีกฎหมายกำหนดให้มีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตั้งแต่ปี 2554 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ได้รับการสนับสนุน อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่มาก มีแค่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด แต่ไม่มีตำแหน่งพนักงานไต่สวนที่จะปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด
“สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับการสนับสนุนอัตรากำลังพนักงานไต่สวนเพิ่มเมื่อประมาณปี 2557-2558 มีจำนวนประมาณ 300-400 คน เป็นผู้ช่วยพนักงานไต่สวน ซึ่งต้องผ่านการอบรมก่อนปฏิบัติหน้าที่ กว่าพนักงานไต่สวนเหล่านั้นจะมีความชำนาญในการที่จะสามารถรับเรื่องไปไต่สวนต้องใช้เวลาพอสมควร” นิวัติไชยระบุ
ทิศทางการทำงานของ ป.ป.ช. ในปี 2567
สำหรับทิศทางการทำงานในปีงบประมาณ 2567 สำนักงาน ป.ป.ช. ยังคงขับเคลื่อนนโยบาย ‘ป้องนำปราบ’ โดยผลักดันการดำเนินงานป้องกันการทุจริตในทุกมิติ ตามมาตรา 32, 33, 35 ตลอดจนหมวด 6 มาตรา 126 ถึงมาตรา 129 ในการป้องกันการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจัง รวมถึงการขับเคลื่อนศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center: CDC) เพื่อเฝ้าระวัง ระงับยับยั้ง ป้องกันและป้องปราม เพื่อลดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งด้านการดำเนินงาน ดังนี้
- ด้านการป้องกันการทุจริต ยังคงขับเคลื่อนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือและรูปแบบการดำเนินการประเมิน ITA ให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีการพัฒนาความร่วมมือในการประเมิน ITA กับหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม ทั้งในส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการประเมิน ITA สถานีตำรวจนครบาล, กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยในการประเมิน ITA อำเภอ
และการประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครในการประเมิน ITA ของสำนักงานเขตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภารกิจป้องกันการทุจริตยังคงขับเคลื่อนในเรื่องหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา, การพัฒนาแผนที่พื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตในประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, โครงการ STRONG: จิตพอเพียงต้านทุจริต และการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) อย่างต่อเนื่อง
- ด้านการปราบปรามการทุจริต ยังคงมุ่งมั่นในการดำเนินการเรื่องตรวจสอบและไต่สวนอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมุ่งเน้นการสะสางเรื่องกล่าวหาคงค้าง ควบคู่กับการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนในการรับเรื่องกล่าวหาร้ายแรงไว้ดำเนินการ, การบูรณาการความร่วมมือในการส่ง/มอบหมายเรื่องกล่าวหาที่เป็นเรื่องไม่ร้ายแรงให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ควบคู่กับการเตรียมการนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในส่วนของการส่งเรื่องกล่าวหา และการกำกับติดตามการดำเนินงาน ทั้งนี้ การดำเนินงานของภารกิจไต่สวนการทุจริตจะต้องมุ่งเน้นการทำงานที่รวดเร็ว ควบคู่กับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานในการจัดทำสำนวนไต่สวน และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
- ด้านการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน และการดำเนินการในคดีร่ำรวยผิดปกติ เป็นอีกหนึ่งภารกิจหลักที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเกรงกลัวและลดการกระทำความผิดทางทุจริตให้ลดลง โดยนโยบายยังคงมุ่งเน้นการดำเนินงานเชิงคุณภาพ การจัดลำดับความสำคัญของภาระงาน การเคร่งครัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด การเตรียมความพร้อมในทุกมิติสำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
และ 4. ด้านการพัฒนาองค์กร ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการดำเนินงานในทุกภารกิจ เพื่อให้สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง โดยการรวบรวมองค์ความรู้และจัดทำคู่มือการดำเนินงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการถ่ายทอดองค์ความรู้และระบบพี่สอนน้อง (Coaching) รวมทั้งการขับเคลื่อนค่านิยมหลักขององค์กร ป.ป.ช. ‘ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้’ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานทุกภารกิจ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐาน
คาดว่าเรื่องร้องเรียนในปี 2567 อาจมีแนวโน้มลดลง
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มอบนโยบายมุ่งเน้นการป้องกันการทุจริตนำเรื่องการปราบปรามการทุจริต เนื่องจากเรื่องการปราบปรามเป็นเรื่องที่ปลายเหตุ โดยมีการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นการเสี่ยงต่อการทุจริต และลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างรวดเร็ว ติดตามและเฝ้าระวังการทุจริตอย่างใกล้ชิด ไม่รอให้เกิดการกระทำความผิดก่อน
พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชนร่วมตรวจสอบและชี้ช่องเบาะแสแบบเชิงคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ มีมาตรการในการคัดกรองเรื่องร้องเรียน ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานของการตรวจรับคำกล่าวหา ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหาได้ครบถ้วน 100% ดังนั้นหากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ประกอบกับมีการเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริตอย่างใกล้ชิด คาดว่าเรื่องที่จะเข้ามาในปี 2567 อาจมีแนวโน้มลดลง
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการชี้ช่องเบาะแสให้กับเรา เพราะเรื่องเกิดขึ้น 76 จังหวัดทั่วประเทศ ป.ป.ช. ไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ผู้ที่สามารถให้ข้อมูลได้แม่นยำต้องเป็นคนในโดยตรง ไม่ว่าจะจากผู้ก่อเรื่อง ถูกสั่งการ ถูกบังคับ หรือรู้เห็นเหตุการณ์ที่ผิดปกติ ผู้คนเหล่านี้ที่ชี้เบาะแสให้ โดยท่านสามารถแจ้งข้อมูลการทุจริตเข้ามาได้ที่สำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หรือสามารถสอบถามข้อมูลขั้นตอนการแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ศูนย์ข้อมูล ป.ป.ช. 1205” นิวัติไชยกล่าว
ป.ป.ช. จ้องจับผิดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมากเกินไปหรือไม่
ล่าสุดกับกรณี ‘นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท’ โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาโครงการ ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ป.ป.ช. จ้องจับผิดมากเกินไปหรือเปล่า’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นิวัติไชยอธิบายโดยเปรียบเทียบกับ ‘นโยบายจำนำข้าว’ ว่าสำนักงาน ป.ป.ช. เคยออกมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ก่อนที่นโยบายจะนำไปสู่การปฏิบัติ แต่ผลลัพธ์ก็ปรากฏดังข่าวที่ผ่านมา
นโยบายจำนำข้าวจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญของสำนักงาน ป.ป.ช. และประเทศ นำไปสู่การถอดบทเรียนจากกรณีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตและส่งผลกระทบต่อประเทศชาติขึ้นได้อีก จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการศึกษาและรับฟังความเห็นขึ้นมา และคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมาย คือ
- รวบรวมและดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เสนอความเห็น เพื่อให้มีการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา
- ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หน่วยงานภายนอก และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล
- เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการคณะนี้กำหนดและเห็นสมควร
และ 5. ดำเนินการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเสนอมาตรการ ความเห็น หรือข้อเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตต่อนโยบายรัฐบาล
มุ่งเน้นไปที่ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตและผลกระทบต่อประเทศ
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังชี้แจงด้วยว่า “โครงการเงินดิจิทัลฯ ไม่ได้เป็นคดี เพราะไม่ได้มีเรื่องกล่าวหาว่าเกิดการทุจริตขึ้น” อย่างไรก็ตาม “การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาฯ เป็นการตั้งภายใต้อำนาจหน้าที่และบทบัญญัติตามกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32” ที่ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ โดยวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังสามารถเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้
อีกทั้งประกอบกับมาตรา 35 ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อมีเหตุอันสงสัยว่าการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริต ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต กล่าวคือ ป้องกันก่อนเกิดการทุจริต ตามนโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันต่อสำนักงาน ป.ป.ช. คือ ‘ป้องนำปราบ’ เป็นมาตรการเชิงรุก ซึ่ง “จากอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ ไม่มีข้อไหนระบุอำนาจกรรมการชุดนี้สามารถสั่งระงับยับยั้ง หรือออกเสียงห้ามไม่ให้รัฐบาลดำเนินนโยบายดังกล่าว” เป็นการมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตและผลกระทบต่อประเทศ
อุดรอยรั่วกระบวนการที่นำไปสู่การทุจริต
“คณะกรรมการชุดนี้จะเข้ามาอุดรอยรั่วในกระบวนการต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจนสามารถนำไปสู่การทุจริต และทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคณะกรรมการประกอบด้วยนักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง กฎหมาย และการป้องกันการทุจริต อีกทั้งมีการเชิญบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาให้ข้อมูล เช่น ประเด็นเทคโนโลยี Blockchain
“นอกจากนี้ จะมีการเชิญทั้งผู้ที่สนับสนุนและคัดค้านนโยบายดังกล่าวเข้ามาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการด้วย จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจถึงความเป็นกลาง ความเป็นมืออาชีพของคณะกรรมการชุดนี้” เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวทิ้งท้าย