วันนี้ (7 ตุลาคม) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา แถลงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดมาตรา 157 กรณีไม่จ่ายเงินให้บริษัทเอกชน ที่ประมูลขายรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน มูลค่า 51 ล้านบาท ว่าตนยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ได้กลั่นแกล้งใคร แต่ทำไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน เพราะการจัดซื้อรถนี้เกิดขึ้นก่อนจะรับตำแหน่งนายก อบจ. และรถชุดนี้มีระบบและส่วนประกอบมาจากหลายประเทศ
และที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อตรวจรับรถแล้วทำไมนายก อบจ. ไม่จ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ขาย ก็เพราะมีเอกสารสำคัญจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงชื่อโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ปฏิบัติหน้าที่แทน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน เพราะมีข้อร้องเรียนเข้ามา ตนจึงต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งของผู้ว่าฯ สงขลา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 และพบว่ามีการส่อฮั้วสมยอมราคากัน ถือว่าสัญญาเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ผูกพันกับ อบจ.สงขลา ถือว่าสัญญาไม่สมบูรณ์จึงไม่ต้องปฏิบัติต่อกันและบริษัท พลวิศว์ ก็ไม่ได้โต้แย้ง เมื่อผลของสัญญาเป็นโมฆะกรรม ก็ไม่ต้องเบิกจ่ายตามสัญญา เพราะไม่มีผลตามกฎหมายตั้งแต่ต้น อบจ.สงขลา จึงไม่ได้ฟ้องร้องในเรื่องนี้ เพราะไม่ได้เป็นผู้เสียหาย และเงิน 51 ล้านบาทก็ยังอยู่ในคลัง
“ระหว่างนั้นทางบริษัทได้ร้องต่อศาลปกครองกลางให้ อบจ.สงขลา จ่ายเงินค่ารถ เราก็ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดทุกประการ ผมยืนยันว่า สิ่งที่ผมทำ ไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่าได้ทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 157 และไม่มีเจตนากลั่นแกล้งใคร และเรื่องการซื้อขายรถลักษณะนี้ไม่ใช่มีแต่ที่ อบจ.สงขลา ยังมีทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังร้องเรียนกันอยู่ด้วย ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าที่ ป.ป.ช. ระบุว่า กรณีการไม่จ่ายเงิน กับการฮั้วต้องแยกคดีกันทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกัน มันน่าแปลกใจหรือไม่ว่าทำไมต้องแยกส่วนกัน เพราะหากผมจ่ายไปแล้ว สืบทราบในภายหลังว่าบริษัทมีการฮั้วกันจริงจะทำอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นผมก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ฉะนั้นการรอบคอบในการชะลอจ่ายเงิน โดยรอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจะเหมาะที่สุด ป.ป.ช. ควรต้องตรวจสอบในเรื่องที่เชื่อมโยงเหล่านี้ด้วย เพราะเรื่องท้ังหมดอยู่ใน ป.ป.ช. แล้ว และอยู่ในศาลปกครองสูงสุด จะมาด่วนสรุปได้อย่างไรว่าผิดในกรณีไม่จ่ายเงิน ทั้งที่รักษาผลประโยชน์ให้รัฐ แต่คดีฮั้วไม่นำมาดูประกอบด้วย” นิพนธ์กล่าว
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. ระบุว่า จะส่งเรื่องไปให้อัยการมีความมั่นใจหรือไม่ นิพนธ์กล่าวว่า ตนยังมีความมั่นใจและจะพยายามส่งเรื่องทั้งหมดไปให้ ป.ป.ช. อีกครั้ง และเชื่อว่าตนไม่ผิด เพราะได้ส่งหลักฐานการทุจริต การปลอมลายเซ็น การอ้างเป็นตัวแทนบริษัทต่างประเทศเท็จ หรือตัวแทนเก๊ นำเอกสารปลอมมาใช้ประมูลงานกับหน่วยงานรัฐ ย่อมผิดกฎหมาย จะนำส่ง ป.ป.ช. ให้พิจารณาใหม่ ตนเชื่อมั่นว่าไม่ผิด และ ป.ป.ช. กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่ หรืออย่างไร ตนไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานใหม่ของ ป.ป.ช. เพราะว่ากรณีดังกล่าวจะสร้างความสับสนให้ระบบราชการเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปนี้ถ้าใครทำผิดสัญญา สัญญาทางแพ่งจะกลายเป็นคดีอาญาทั้งหมด อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าถ้าทุกคนกลัวว่า ถ้าเป็นคดีแพ่งแล้วต้องจ่ายเงินอย่างเดียว ไม่ว่าสัญญานั้นจะเป็นโมฆะ หรือทุจริต หรือฮั้ว สมยอมราคากันหรือไม่ ก็ต้องจ่ายเงินไปก่อน ตนอยากให้ ป.ป.ช. พิจารณาด้วยความรอบคอบและมีความเป็นธรรม
นอกจากนี้ยังมีพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปลอมลายมือชื่อ มาซื้อแบบ และเอื้อประโยชน์กัน ซื้อแคชเชียร์เช็คแทนกัน ปลอมเอกสารจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ที่เพิ่งได้รับมา ซึ่งจะรวบรวมส่ง ป.ป.ช. และอัยการต่อไป
ส่วนที่ อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอให้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งเพื่อรักษามาตรฐานและอุดมการณ์ของพรรคนั้น นิพนธ์กล่าวว่า ขอขอบคุณอลงกรณ์ แต่มาตรฐานครั้งนี้กับครั้งก่อนๆ เป็นคนละกรณีกัน ครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่ตนเป็นนายก อบจ.สงขลา ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่พรรคมอบหมายให้ทำหน้าที่รัฐมนตรี จึงไม่ได้ทำให้พรรคเสียหายหรือเสียชื่อเสียง แต่ตนรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ส่วนกรณีก่อนๆ ทำหน้าที่ตามที่พรรคมอบหมาย และอาจจะทำให้แผ่นดินเสียผลประโยชน์คนของพรรคก็แสดงสปิริต
“ผมเคยเป็นทั้ง สจ. นายก อบจ. และ ส.ส. มาหลายสมัย ยืนยันว่าผมมีเกียรติและศักดิ์ศรี สิ่งที่ผมชี้แจงไปทั้งหมดก็เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของผมเองและของพรรค ผมไม่ได้ทำอะไรที่ทุจริต และไม่ได้มีข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. ด้วย”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า