ทั้งที่มีการประเมินธุรกิจขนส่งพัสดุในปี 2566 ว่ามีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องที่ 18% ด้วยมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่น่าแปลกที่หนึ่งในผู้เล่นอย่าง Ninja Van ได้ประกาศ ‘งดเข้ารับพัสดุในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด’
ประกาศดังกล่าวมีผลตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา โดยพื้นที่ต้นทางที่ขนส่งจะเข้ารับพัสดุเฉพาะ ‘กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ’ เท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สงครามราคาครั้งใหม่! Kerry Express เคาะราคาเริ่มต้น 15 บาท ส่วน Flash Express หั่นค่าส่งลง 10% สวนทาง ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่ขึ้นราคาในรอบ 18 ปี
- ไปรษณีย์ไทยรุกขนส่ง ‘ไทย-สปป.ลาว’ เตรียมปั้นแผนเชื่อมพื้นที่อีสานสู่จีน ผ่านรถไฟเร็ว ‘เวียงจันทน์-คุนหมิง’ พร้อมดันธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ
- จากธุรกิจอาหารสู่สมรภูมิโลจิสติกส์อันดุเดือด ‘ประพัฒน์ เสียงจันทร์’ ขุมพลังใหม่ของ Kerry Express ที่จะเข้ามาปั้น ‘คน’ ให้แข็งแรงขึ้น
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Ninja Van ได้ส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียดดังกล่าวให้กับ THE STANDARD WEALTH ว่าอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างการดำเนินงานในประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ โดยการปรับดังกล่าว บริษัทฯ วางแผนอย่างระมัดระวัง เพื่อให้การบริการยังคงคุณภาพและครอบคลุมเครือข่ายทั่วประเทศไทยเช่นเดิม
“การจัดส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จะยังคงให้บริการโดยนินจาแวน ประเทศไทย สำหรับการขนส่งนอกเหนือจากพื้นที่ดังกล่าวจะถูกดำเนินการผ่านเครือข่ายพันธมิตรของเรา เพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างราบรื่น”
Ninja Van ย้ำว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นินจาแวนกรุ๊ป ได้แถลงข่าวถึงการลงทุนอย่างเป็นนัยสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดสรรเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนระยะยาวเกี่ยวกับระบบการจัดการแบบอัตโนมัติ และการปรับปรุงคุณภาพบริการทั่วทั้งเครือข่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“Ninja Van ยังคงเชื่อมั่นว่าอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตในระยะยาว และจะยังลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ต่อไป” ข้อความในเอกสารชี้แจงกล่าว
ข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics เผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจขนส่งพัสดุเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทและรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นช่องทางการกระจายสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้เร็ว
ในปี 2565 หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดเริ่มคลี่คลาย กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจขนส่งพัสดุยังคงมีแนวโน้มเติบโตดี มีมูลค่าในตลาดราว 9.6 หมื่นล้านบาท จากการที่ผู้คนมีความคุ้นชินกับการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และคาดว่าปีนี้จะโตขึ้นอีก
ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการแข่งขันภายในสูง ถึงแม้จะมีรายได้ที่เติบโตต่อเนื่อง แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่น่ากังวล เนื่องจากธุรกิจต้องพึ่งพาผู้บริโภคเป็นหลัก ที่ผ่านมาผู้ประกอบการแต่ละรายมีการนำกลยุทธ์ต่างๆ มาใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารคลังสินค้าและการจัดส่ง (Fulfillment) การขยายพื้นที่การให้บริการ การขายแฟรนไชส์ และการลดราคาค่าบริการจัดส่งพัสดุ
ทว่าผู้ประกอบการอาจไม่สามารถนำกลยุทธ์ด้านราคามาใช้ในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีสัดส่วนราว 40% ของต้นทุนค่าขนส่งทั้งหมด
ส่งผลให้ในช่วงปี 2561-2565 ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ที่ลดลงหรือขาดทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุดั้งเดิม ในขณะที่เริ่มเห็นอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) เป็นบวกในปี 2565 จากกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซบางรายแล้ว
การประเมินนี้สอดคล้องกับรายได้ของบริษัท นินจา โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า 5 ปีมานี้ขาดทุนกว่า 3 พันล้านบาท
หากเจาะเฉพาะปี 2565 นับว่าน่าตกใจไม่น้อย เพราะมีรายได้ 1,188,653,760 บาท แต่ขาดทุน 1,498,395,113 บาท ซึ่งมากกว่ารายได้เป็นเท่าตัว
จริงๆ แล้วหากมองทั้งตลาดจะพบว่า ปี 2665 ผู้เล่นรายใหญ่ล้วนขาดทุนกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ‘ไปรษณีย์ไทย’ ที่มีรายได้ 19,984.31 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 3,046.45 ล้านบาท
กระนั้น ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยล่าสุดว่า บริการส่งด่วน EMS ของไปรษณีย์ไทยยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการส่งด่วน EMS เติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 26% เห็นได้ว่ายังคงเป็นบริการส่งด่วนที่ได้รับความนิยม และเป็นที่ไว้วางใจมากที่สุดในตลาดขนส่งอีกด้วย”
ขณะที่บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ Kerry Express แม้ปีที่ผ่านมาจะทำกำไรรวม 2.8 พันล้านบาท แต่หากเจาะเฉพาะไตรมาส 4 กลับขาดทุน 931 ล้านบาท ต่ำสุดตั้งแต่เข้าตลาดเมื่อปี 2563
ส่วนไตรมาส 1 ขาดทุน 787 ล้านบาท โดย Kerry Express ไม่ได้เปิดเผยตัวเลขปริมาณการจัดส่งพัสดุ แต่กล่าวว่าปริมาณการจัดส่งพัสดุลดลง 26%QoQ และ 24.9%YoY
บริษัทระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการจัดส่งพัสดุลดลง QoQ และ YoY ว่าเป็นผลจากการลดลงอย่างมากของจำนวนธุรกรรมการค้าปลีกออนไลน์ รวมถึงผลกระทบจากการเปิดประเทศซึ่งทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์ไปสู่การซื้อตามหน้าร้าน
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ทั้ง บล.พาย และ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ต่างประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลประกอบการอาจจะขาดทุนในทุกไตรมาส และทำให้ภาพรวมติดลบไปด้วย
แม้ผู้บริหารของ Kerry Express จะมองว่า ถึงจุดคุ้มทุนในช่วงไตรมาส 3 แต่สถานการณ์ปัจจุบันอาจจะต้องขยับเป้าหมายไปจนถึงสิ้นปี 2567 เลยทีเดียว
โดยกล่าวว่าการขาดทุนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลัง จากการปรับกลยุทธ์มามุ่งเน้นตลาดระดับกลางถึงบน และลดการพึ่งพาการจัดส่งพัสดุจากกลุ่มอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพแทนการมุ่งเน้นลดต้นทุน ซึ่งน่าจะช่วยสนับสนุนให้มาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์การลดต้นทุนภายใต้โครงการ ‘LEAN’ ที่ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ด้วยการที่ปลดพนักงานไปมากกว่า 1 ส่วน 4 หรือคิดเป็นราวเกือบ 5,000 คน
กระนั้น บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้ปรับประมาณการขาดทุนสุทธิปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 525 ล้านบาทสู่ 2.4 พันล้านบาท ส่วน บล.พาย คาดการณ์ขาดทุน 2.5 พันล้านบาท และปรับตัวเลขปี 2567 จากกำไรเป็นขาดทุน 734 ล้านบาท
ด้านปัจจัยเสี่ยงและความกังวล คือกลยุทธ์การตั้งราคาเชิงรุกมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ การปรับปรุงประสิทธิภาพได้ช้ากว่าคาด ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวกลับมามีกำไร