×

มือปืนเหตุกราดยิงโรงเรียนที่พาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อปี 2018 อาจต้องโทษประหารชีวิต

19.07.2022
  • LOADING...
Nikolas Cruz

วันนี้ (19 กรกฎาคม) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นิโคลัส ครูซ มือปืนผู้ลงมือก่อเหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมศึกษามาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ที่เมืองพาร์กแลนด์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2018 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 17 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 17 ราย อาจต้องโทษประหารชีวิต

 

ขณะนี้ศาลกำลังพิจารณาโทษของครูซ อดีตนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษามาร์จอรี ที่ตัดสินใจหยิบอาวุธกราดยิงผู้คนในโรงเรียน ด้วยวัยเพียง 19 ปีในขณะนั้น เป็นเหตุให้มีนักเรียนเสียชีวิต 14 ราย อีก 3 รายเป็นคุณครู โดยเหยื่อผู้เสียชีวิตครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่อายุเพียง 14 ปีเท่านั้น 

 

เหตุกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมศึกษาที่เมืองพาร์กแลนด์ในครั้งนั้นเคยเป็นเหตุกราดยิงภายในโรงเรียนที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ รองจากเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ฮุก ในเมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนทิคัต เมื่อปี 2012 ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 27 ราย รวมผู้ลงมือก่อเหตุ 

 

ก่อนที่เหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมศึกษาร็อบบ์ที่เมืองอูวัลเด รัฐเท็กซัส เมื่อ 24 พฤษาคมปี 2022 จะทำลายสถิติดังกล่าวของเหตุกราดยิงที่พาร์กแลนด์ โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้สูงถึง 21 ราย รวมผู้ลงมือก่อเหตุ และได้รับบาดเจ็บอีก 18 ราย ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ล้วนอยู่ใน 10 อันดับเหตุกราดยิงที่รุนแรงและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในปี 1949 

 

ศาลกำลังพิจารณาว่าครูซสมควรต้องโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หลังจากก่อเหตุกราดยิงผู้คนเสียชีวิตมากถึง 17 ราย ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพิจารณาราว 4-6 เดือน และจะเผยแพร่คำตัดสินถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์ โดยการพิจารณาโทษประหารให้แก่มือปืนเหตุกราดยิงมักไม่ค่อยเกิดขึ้น เนื่องจากมือปืนส่วนใหญ่มักจะถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือจบชีวิตลงภายในที่เกิดเหตุ

 

เฉพาะในปี 2022 ทางการสหรัฐฯ ลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธีการฉีดยาให้แก่นักโทษไปแล้วถึง 7 ราย ซึ่งระยะเวลาเฉลี่ยรวมของทั้ง 7 รายก่อนจะได้รับโทษประหารชีวิตนั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 29 ปี นับจากที่ลงมือก่อเหตุหรือกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปต่างยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โดยพิจารณาให้โทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษสถานหนักที่สุด เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าโทษประหารชีวิตเองก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน

 

ภาพ: Amy Beth Bennett-Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising