×

‘เนย์มาร์’ ค่าตัว 198 ล้านปอนด์คือสัญลักษณ์ทางการทูตและ soft power ของกาตาร์

02.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ซึ่งมีกลุ่มทุนกาตาร์เป็นเจ้าของทีม ได้ทุ่มเงินสถิติโลก 198 ล้านปอนด์ เพื่อคว้าตัว เนย์มาร์ ศูนย์หน้าชาวบราซิลมาร่วมทีม
  • สำนักข่าวต่างประเทศเชื่อว่า แท้จริงแล้วดีลมูลค่าเกือบ 200 ล้านปอนด์นี้ เป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองของ ประเทศกาตาร์ ซึ่งกำลังประสบปัญหาชาติมหาอำนาจในตะวันออกกลาง
  • โดยดีลที่เกิดขึ้นทำให้ทั่วโลกหันไปสนใจกาตาร์แทนประเทศจีนที่ก่อนหน้านี้มีการสร้างเสียงฮือฮาในวงการฟุตบอลด้วยค่าเหนื่อยของ คาร์ลอส เตเบซ ที่ได้ค่าเหนื่อยถึง 600,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ แต่ในครั้งนี้ทุกคนหันไปพูดถึง กลุ่มทุนกาตาร์ที่ทุ่มเงินสถิติโลก 198 ล้านปอนด์ เพื่อคว้าตัวเนย์มาร์
  • ดีลของเนย์มาร์ครั้งนี้เป็นเสียงสะท้อนว่า วงการฟุตบอลในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคการตลาดแบบเต็มตัว ตั้งแต่การโปรโมตการแข่งขันไปจนถึง การโปรโมตกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังแต่ละสโมสร

     จบลงไปแล้วสำหรับตลาดซื้อขายนักเตะครั้งนี้ ซึ่งมีการทำลายสถิติโลกอีกครั้ง โดยทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทุ่มเงินจำนวน 198 ล้านปอนด์ เพื่อคว้าตัว เนย์มาร์ มาร่วมทีม โดยสื่อต่างก็วิเคราะห์ถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มทุนกาตาร์เป็นซึ่งเจ้าของทีมว่า มีเป้าหมายต้องการที่จะเป็นเจ้ายุโรป โดยเชื่อว่าการได้ตัวนักเตะระดับโลก อย่างเนย์มาร์ จะช่วยยกระดับทีมให้ก้าวขึ้นไปท้าทายบัลลังก์แชมป์ยุโรปได้

 

 

     นอกจากนี้ ทางสโมสรยังเชื่อว่าเป็นโอกาสสำคัญทางการตลาด เนื่องจาก เนย์มาร์เป็นนักเตะที่มีพรสวรรค์ทั้งในและนอกสนามในการดึงดูดคนให้มาติดตามความเคลื่อนไหวของเขา ไม่ว่าเขาจะอยู่กับทีมชาติหรือสโมสรใด

     แต่หากมองลึกลงไปถึงเบื้องหลังของดีลนี้แล้ว มีสิ่งที่ดูน่าจะเป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองของประเทศกาตาร์ โดยในปี 2011 กลุ่มทุนกาตาร์ หรือ Qatar Sports Investments ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เป็นของรัฐบาลกาตาร์ เข้ามาเป็นเจ้าของทีมปารีส แซงต์ แชร์กแมง โดยกลุ่มทุนได้สร้างชื่อเสียงให้กับทีมจนกลายเป็นหนึ่งในสโมสรชั้นนำสโมสรหนึ่งของยุโรป

 

นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง และประธานของกลุ่ม QSI

 

     แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากดีลนี้ แท้จริงแล้วไปไกลกว่าวงการกีฬาทั่วโลก เนื่องจากช่วงสองเดือนก่อนดีลนี้จะเกิดขึ้น กาตาร์อยู่ในช่วงวิกฤต การเมือง โดยชาติมหาอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างก็ร่วมกันตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ จากข้อกล่าวหาที่กาตาร์เป็นนายทุนสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง และเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ Al Jazeera ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสถานีข่าวที่บ่อนทำลายความมั่นคงในภูมิภาค

     นอกจากนี้กาตาร์ยังถูกกล่าวหาว่า คอรัปชันในขั้นตอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 และขั้นตอนการก่อสร้างสนามที่มีรายงานการทารุณแรงงานเพื่อเร่งสร้างสนามให้เสร็จทันการแข่งขันในปี 2022 ทำให้ช่วงที่ผ่านมา กาตาร์ในเวทีโลกถูกล้อมไปด้วยข้อกล่าวหา คอรัปชัน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ทันจัดฟุตบอลโลก  

     ในบริบทการคว้าตัวเนย์มาร์นี้เลยเป็นการแสดงให้เห็นว่า กาตาร์ยังคงมีความสามารถในการจ่ายเงินเกือบ 200 ล้านปอนด์เพื่อนักเตะคนเดียว ซึ่งเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองผ่านกีฬา หรือที่เราเรียกกันว่า soft power นั่นเอง

 

 

     “พวกเขาพยายามที่จะแสดงอะไรบางอย่าง ซึ่งดีลครั้งนี้ดูเหมือนจำนวนเงินมหาศาล แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022 แล้ว เนย์มาร์ดูเหมือนจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับกาตาร์ เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าพวกเขายังมีเงินทุนมหาศาล และสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างไม่มีปัญหา” คริสตอฟเฟอร์ เดวิดสัน ครูสอนวิชาการเมืองในตะวันออกกลางที่มหาวิทยาลัย Durham ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษได้กล่าวถึงท่าทีทางการเมืองผ่านวงการกีฬาครั้งนี้ของกาตาร์

     “กาตาร์ต้องการตอบโต้ และการเซ็นสัญญากับเนย์มาร์ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผน ดีลนี้เป็นสัญลักษณ์แบบ soft power สิ่งนี้เป็นสัญลักษณ์ทางการทูต เพราะสิ่งสุดท้ายที่ ซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในชาติที่ตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ต้องการคือ ผู้คนทั่วโลกพูดถึงประเทศกาตาร์ และการลงทุนมหาศาลในวงการฟุตบอลของพวกเขา” ไซมอน ชานวิก ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจกีฬา ที่มหาวิทยาลัย Salford ในอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg News

 

 

     แน่นอนว่าทางการของปารีสต้องทราบถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี พวกเขารู้ดีว่ากาตาร์มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนการสื่อสารครั้งนี้ “เราเห็นว่ากาตาร์ต้องการสื่อให้ทุกคนเห็นว่าพวกเขาเป็นมหาอำนาจทางการเงิน ผ่านทางกีฬา และเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ทางการทูต” คริสตอฟ แคสทาเนอร์ โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวถึงดีลเนย์มาร์ที่เกิดขึ้นจากสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมงในประเทศฝรั่งเศส แต่ทางการฝรั่งเศสก็ยืนยันว่า การมาปรากฏตัวที่ปารีสของเนย์มาร์ จะไม่มีผลกระทบต่อการแสดงท่าทีทางการทูตของรัฐบาลฝรั่งเศส ในวิกกฤตการณ์ทางการทูตที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

     ที่ผ่านมาวงการฟุตบอลตั้งแต่ดีลทำลายสถิติพันปอนด์ครั้งแรกในปี 1905 ที่สโมสรฟุตบอลมิดเดิลสโบรห์ จ่ายให้กับซันเดอร์แลนด์ จำนวน 1,000 ปอนด์ เพื่อเซ็นสัญญากับ Alf Common และ 112 ปีต่อมา พวกเราก็ได้เห็นนักเตะคนเดียวมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 200 ล้านปอนด์ แสดงให้เห็นว่าก้าวเข้าสู่ยุคของการตลาดอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เรามาถึงจุดนี้ อาจเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นยอดตัวเลขลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่สูงขึ้นทุก 3 ปี และเงินจากผู้สนับสนุนที่สูงขึ้นทุกครั้งที่มีการจรดปากกาลงสัญญาฉบับต่างๆ

     แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ความต้องการแสดงศักยภาพทางการเมืองผ่านวงการกีฬา โดยที่ผ่านมาชาติมหาอำนาจในเอเชียได้ใช้กีฬาเป็นการแสดงพลังทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการที่ เตเบซ ศูนย์หน้าชาวอาร์เจนไตน์ได้รับค่าเหนื่อยจาก เซี่ยงไฮ้ เสิ่นหัว ในไชนีส ซูเปอร์ลีก สูงถึง 600,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 25 ล้านบาทต่อสัปดาห์ และ การทุ่มเงินซื้อนักเตะชื่อดังไปร่วมลีกในประเทศจีน

     โดยเงินทุนต่างๆ ไหลเข้ามาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ที่หันมาตอบรับนโยบายของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ตั้งเป้าให้จีนคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ในปี 2050 ซึ่งด้วยการเติบโตของฟุตบอลจีน ทำให้ทั่วโลกพูดถึงศักยภาพการลงทุนของกีฬา จากการเทเงินมหาศาลเข้ามาพังตลาดฟุตบอล ทั้งค่าเหนื่อย ซึ่งล่อนักเตะที่ไม่ได้อยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต แต่ดึงดูดนักเตะที่อยู่ในช่วงพีกอย่าง ออสกา กองกลางชาวบราซิลก็ตัดสินใจย้ายไปร่วมเซี่ยงไฮ้ เอสไอพีจี ในลีกจีน

     เช่นเดียวกับกาตาร์ที่ได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 รวมถึงเป็นเจ้าของทีมใหญ่อย่างปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ทุ่มตลาดซื้อเนย์มาร์ด้วยค่าตัว 198 ล้านปอนด์ ต่อด้วยการเซ็นสัญญา คีเลียน เอ็มบัปเป จากโมนาโก มาเล่นแบบยืมตัว และมีออปชันซื้อขาดในราคา 180 ล้านยูโรในฤดูกาลหน้า เท่ากับว่าทีมใช้เงินซื้อนักเตะที่แพงที่สุดในโลกในฤดูกาลนี้ ตามด้วยการซื้อนักเตะที่ราคาแพงเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในฤดูกาลหน้า ส่งผลให้กลุ่มทุนกาตาร์เป็นที่พูดถึงทั่วโลกจากตลาดซื้อขายนักเตะครั้งนี้

     แน่นอนว่าหนทางสำหรับจีนและกาตาร์ยังอีกยาวไกลในการสร้างตัวเองเป็นมหาอำนาจในวงการฟุตบอล แต่พวกเขาได้ใช้วิธีการเข้าหาวงการฟุตบอลที่คล้ายกัน โดยเลือกใช้กีฬาเพื่อเป้าหมายนอกสนาม

     ฟุตบอลได้กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมทั่วโลก และรัฐบาลในประเทศเอเชียก็เข้าใจในจุดนี้ดี และรู้ว่าฟุตบอลมีอำนาจมากขนาดไหน ฟุตบอลสามารถนำไปสู่เป้าหมายอย่างอื่นได้ ทั้งการแสดงสัญลักษณ์ทางอำนาจแบบ soft power การสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศ และการจัดหาทรัพยากร เช่น การเป็นเจ้าของทีมและสนามกีฬา

     ดูเหมือนว่ากีฬาที่พวกเราเคยรู้จักกันตั้งแต่พื้นฐานที่บอกว่า กีฬาเป็นยาวิเศษ กีฬารวมใจคนทั้งชาติ กีฬาเป็นการสร้างความตื่นเต้นและแรงบันดาลใจ แต่ในวันนี้กีฬากลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดและทางการเมือง โดยทั้งหมดนี้ทำให้เราสงสัยว่า การดูเนย์มาร์ลงสนามครั้งต่อไป เราจะรู้สึกว่าเขามาที่นี่เพื่อความท้าทายของตัวเขา หรือต้องการแสดงสัญลักษณ์บางอย่างของชาติมหาอำนาจผ่านทางโลกฟุตบอล เหมือนที่ อาร์แซน เวนเกอร์ กุนซือมากประสบการณ์เคยพูดไว้ว่า

     “เมื่อใดก็ตามที่ประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ”

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X