×

ลุ้นปี 2025 ทองคำโลกแตะ 3,000 ดอลลาร์ รับแรงหนุน แบงก์ชาติทั่วโลกตุนทองคำ หลบภัยเศรษฐกิจถดถอย

21.02.2024
  • LOADING...

วานนี้ (20 กุมภาพันธ์) ราคาทองคำในประเทศไทยซื้อขายอยู่ที่ 34,550 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2023 ที่มีราคาซื้อขายสูงสุดอยู่ที่ 34,400 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่ปี 2022 ราคาทองคำสูงสุดอยู่ที่ 32,100 บาทต่อบาททองคำ และปี 2021 ราคาทองคำสูงสุดอยู่ที่ 28,950 บาทต่อบาททองคำ 

 

บทวิเคราะห์ของฮั่วเซ่งเฮงระบุว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าเหนือ 36 บาท หนุนราคาทองคำแท่งในประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าระยะสั้นราคาทองคำแท่งปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ใช้กลยุทธ์ Wait & See

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง​:


 

Citi มองยาวปี 2025 ทองคำพุ่งสู่ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

Citi หนึ่งในสถาบันการเงินขนาดใหญ่ระดับโลก ระบุว่า ราคาทองคำอาจพุ่งขึ้นถึง 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และราคาน้ำมันถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า ขึ้นอยู่กับ 1 ใน 3 ปัจจัยบวกที่น่าจะเป็นไปได้ 

 

Aakash Doshi หัวหน้าฝ่ายวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ของ Citi ในอเมริกาเหนือ กล่าวกับ CNBC ว่า ราคาทองคำ ซึ่งปัจจุบันซื้อขายกันอยู่ที่ 2,016 ดอลลาร์นั้น อาจพุ่งขึ้นประมาณ 50% หากธนาคารกลางเพิ่มการซื้อทองอย่างรวดเร็ว หรือหากเกิดภาวะซบเซา (Stagflation) หรือหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั่วโลก

 

ปัจจัยเร่งสุดคือ ธนาคารกลางตุนทอง

 

“ปัจจัยที่เร่งให้ราคาทองคำมีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะปรับขึ้นสู่ระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์คือ การลดพึ่งพาเงินดอลลาร์ (De-dollarization) ของบรรดาธนาคารกลางตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤตความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เพิ่มการซื้อทองคำเป็นสองเท่า 

 

Citi ระบุอีกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การซื้อทองคำของธนาคารกลาง “เร่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์” เนื่องจากต้องการกระจายทุนสำรองและลดความเสี่ยงด้านเครดิต โดยอินเดีย ตุรกี และบราซิลก็เพิ่มการซื้อทองคำแท่งเช่นกัน

 

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สภาทองคำโลกรายงานว่า ธนาคารกลางของโลกยังคงซื้อสุทธิทองคำมากกว่า 1,000 ตัน สองปีติดต่อกัน 

 

“ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยอดซื้อสุทธิก็อาจจะเพิ่มขึ้นสองเท่าอย่างรวดเร็วเป็น 2,000 ตัน เราจึงคิดว่ามันคงจะเป็นตลาดกระทิงสำหรับทองคำ” Doshi ให้ข้อมูลแก่ CNBC 

 

‘ภาวะถดถอย’ อีกปัจจัยกระตุ้นราคา

 

ปัจจัยเร่งอีกประการที่อาจผลักดันให้ทองคำแตะ 3,000 ดอลลาร์ก็คือ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอยระดับลึกทั่วโลก’ ที่อาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว

 

“แต่นั่นหมายความว่า ดอกเบี้ยจะต้องถูกลดลงสู่ระดับ 1% หรือต่ำกว่านั้น ไม่ใช่หั่นลงเหลือ 3% ซึ่ง (หากเป็นเช่นนั้น) จะนำราคาทองคำไปอยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์” Doshi กล่าว แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ฉากทัศน์นี้มีความเป็นไปได้ต่ำ 

 

ทั้งนี้ ราคาทองคำมีค่าความสัมพันธ์ผกผันกับอัตราดอกเบี้ย กล่าวคือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง ทองคำจะมีความน่าดึงดูดมากขึ้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนคงที่ เช่น พันธบัตร ที่จะให้ผลตอบแทนลดลงในสภาพแวดล้อมที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ

 

โดยทองคำถือเป็นแหล่งหลบภัยและมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน เพราะนักลงทุนย้ายออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตราสารทุน

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ย Fed อยู่ระหว่าง 5.25-5.50% นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2001 ที่เคยสูงถึง 6% หลังจากฟองสบู่ดอตคอมแตก โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดคาดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน 2024 

 

นอกเหนือจากปัจจัยกระตุ้นที่เป็นไปได้ทั้งสามประการแล้ว Citi ยังยืนยันว่า Base Case ของทองคำแท่งอยู่ที่ 2,150 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 และราคาทองคำจะเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 2,000 ดอลลาร์เล็กน้อยในครึ่งปีแรก และสามารถสร้างสถิติใหม่ได้ในช่วงปลายปี 2024 

 

เปิดสถิติ ‘ทองคำปี 2023’

 

รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำหรือ Gold Demand Trends จากสภาทองคำโลก (World Gold Council) ระบุว่าในปี 2023 ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของความต้องการทองคำผู้บริโภค (Consumer Gold Demand) สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จาก 38.4 ตันในปี 2022 เป็น 42.1 ตันในปี 2023 การเติบโตนี้เป็นผลมาจากความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีมากกว่าการปรับตัวลดลงของความต้องการทองคำแบบเครื่องประดับ

 

 

รายงานยังเปิดเผยด้วยว่า ภาพรวมความต้องการทองคำในระดับโลก ซึ่งไม่รวมการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ตลอดทั้งปี 2023 อยู่ที่จำนวน 4,448 ตัน ในปี 2023 ปรับลดลงเพียง 5% จากปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่มีการเติบโตแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาปัจจัยความต้องการจากตลาดซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ และแหล่งที่มาอื่นๆ เข้าด้วยกัน พบว่าความต้องการโดยรวมของปี 2023 ได้เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดที่จำนวน 4,899 ตัน การลงทุนจากแหล่งที่มาของความต้องการทองคำซึ่งไม่สามารถระบุชัดเจนเหล่านี้ ได้สนับสนุนให้ราคาทองคำเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2023 พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 

 

การซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2022 ทำให้จำนวนความต้องการอยู่ที่ระดับ 1,037 ตันในปีที่ผ่านมา ผลักดันให้ยอดรวมตลอดทั้งปีสูงสุดเป็นอันดับสองจากที่มีการบันทึกมาทั้งหมด และลดลงเพียง 45 ตันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

ตรงกันข้ามกับความต้องการที่แข็งแกร่งในภาคการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์และธนาคารกลาง การไหลออกของการลงทุนจากกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ที่จัดเก็บทองคำแท่งสำหรับนักลงทุน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในปี 2023 โดยลดลง 244 ตัน เป็นการปรับลดปีที่สามติดต่อกัน ซึ่งการไหลออกของการลงทุนในยุโรปเป็นปัจจัยส่งอิทธิพลต่อภาพรวม

 

ความต้องการในไทยแกร่งสุดในภูมิภาค

 

ด้านสถานการณ์ของทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุน พบว่าความต้องการทั่วโลกลดลง 3% โดยความแข็งแรงของตลาดบางภูมิภาคได้ช่วยชดเชยความต้องการที่ลดลงในบางตลาด ในทางกลับกันพบว่าประเทศไทยมีการเติบโตปี 2023 แข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน และเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการเติบโตเป็นบวกในปีที่ผ่านมา ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 13% จาก 29 ตันในปี 2022 เป็น 32.9 ตันในปี 2023 อย่างไรก็ตาม ความต้องการยังคงถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับในอดีตก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยจากปี 2015-2019 อยู่ที่ 63 ตันต่อปี

 

Shaokai Fan หัวหน้าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางทั่วโลกของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างต่อเนื่องในปี 2023 ช่วยสนับสนุนความต้องการทองคำในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง แต่สาเหตุของความต้องการที่ลดลงจากในอดีตอาจเนื่องมาจากความนิยมในแพลตฟอร์มการลงทุนทองคำออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการซื้อขายทองคำในระยะสั้นมากขึ้น และทำให้การลงทุนแบบ ‘ซื้อแล้วถือ’ ระยะยาวลดลง”

 

ในตลาดอาเซียนประเทศอื่นๆ รวมถึงเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำลดลง 2%, 4%, 5% และ 8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เช่นเดียวกับระดับความต้องการจากยุโรปที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลง 59% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปริมาณที่ลดลงนี้ถูกชดเชยด้วยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากประเทศจีนหลังสถานการณ์โควิด ซึ่งเพิ่มขึ้น 28% เป็น 280 ตัน สนับสนุนด้วยการเติบโตที่โดดเด่นจากประเทศอินเดีย (185 ตัน) ตุรกี (160 ตัน) และสหรัฐอเมริกา (113 ตัน)

  

Louise Street นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโสของสภาทองคำโลก แสดงความเห็นว่า ความต้องการที่ไม่เปลี่ยนแปลงของธนาคารกลาง ได้ช่วยสนับสนุนปริมาณความต้องการทองคำในปีนี้อีกครั้ง และช่วยชดเชยความอ่อนแอในตลาดภาคส่วนอื่นๆ ทำให้ความต้องการทองคำปี 2023 อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 10 ปี 

 

นอกเหนือจากนโยบายการเงินแล้ว ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์มักจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของปริมาณความต้องการทองคำ และในปี 2024 เราคาดว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อตลาด ความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ ความตึงเครียดทางการค้า และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมากกว่า 60 ครั้งทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้นักลงทุนหันมาหาทองคำ เนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

 

“เรารู้ว่าธนาคารกลางมักอ้างอิงถึงผลการลงทุนในทองคำช่วงที่เกิดวิกฤตเป็นเหตุผลในการซื้อ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการจากภาคส่วนนี้จะยังคงสูงต่อไปในปีนี้ และอาจช่วยชดเชยกับความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงเนื่องจากราคาทองคำที่สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง” Louise กล่าวเสริม

 

ภาพ: MicroStockHub / Getty Images 

อ้างอิง​:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X