พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด บัญญัติคำว่า ‘Woke’ ‘Hygge’ และ ‘Post-truth’ ลงในพจนานุกรมภาษาอังกฤษในการอัพเดตคำศัพท์ครั้งล่าสุด โดยทั้ง 3 คำนี้เป็น 3 ใน 10 คำที่เข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือกคำศัพท์แห่งปีของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดเมื่อปี 2016
คำศัพท์ที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการบัญญัติให้เป็นคำศัพท์ใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นการสะท้อนภาพใหญ่ของสภาพสังคมและการเมืองในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งเกี่ยวโยงอยู่กับบริบทต่างๆ เช่น การเหยียดสีผิว บทบาทสตรี พื้นที่การแสดงออกของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือแม้แต่นวัตกรรมการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์
Woke ความหมายโดยทั่วไป หมายถึง ลักษณะอาการตื่นตัวภายหลังจากการนอนหลับ แต่คำนี้ก็ยังมีความหมายโดยนัยอื่นๆ ด้วย
ออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา Woke เป็นคำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสังคมกระเเสหลัก โดยเฉพาะในบริบทที่ใกล้เคียงกับความหมายที่ว่า การรับรู้หรือตื่นตัวต่อการเลือกปฏิบัติ สังคมที่ไม่เป็นธรรม หรือการเหยียดเชื้อชาติอื่นๆในสังคม
ศัพท์คำนี้เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากการเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง Master Teacher ของเอรีกาห์ บาดู (Erykah Badu) ที่มียอดผู้ชมรวมกันหลายล้านวิวในยูทูบ นอกจากนั้นคำนี้ยังถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวสี (Black Lives Matter Movement) ในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์อีกด้วย
Hygge (อ่านว่า hue-gah) เป็นอีกหนึ่งคำที่ถูกบัญญัติเป็นคำศัพท์ใหม่ในการอัพเดตครั้งล่าสุด โดยคำนี้เชื่อมโยงกับกระแสนิยมที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเดนมาร์ก สื่อถึงความรู้สึกสะดวกสบาย ผ่อนคลายจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น อาหาร ไอแดด เพื่อน ซึ่งสะท้อนถึงการมีชีวิตที่ดี
Post-truth ถูกยกให้เป็น ‘คำศัพท์แห่งปี 2016’ จากการคัดเลือกของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนสภาพสังคมและการเมืองได้ดีที่สุดในปีที่ผ่านมา ศัพท์คำนี้ใช้อธิบายสถานการณ์หรือบริบททางสังคมและการเมืองที่อารมณ์ความรู้สึกอยู่เหนือความจริง เพราะอารมณ์สามารถโน้มน้าวความคิดเห็นของผู้คนในสังคมได้มากกว่าความเป็นจริง
คำศัพท์อย่าง Woke และ Post-truth ล้วนเกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะ Post-truth ที่ถูกใช้ครั้งแรกในปี 1992 และถูกนำมาใช้ใหม่เพิ่มขึ้นถึง 2,000 เปอร์เซ็นต์ในโลกออนไลน์ ในช่วงระหว่างรณรงค์แคมเปญชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงการลงประชามติกรณี Brexit ครั้งที่ผ่านมา จนกลายเป็นคำศัพท์แห่งปีที่อธิบายบริบทสังคมในยุคนี้ได้ดีที่สุด
นอกจาก 3 คำศัพท์ข้างต้นแล้ว พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดยังได้บัญญัติศัพท์ใหม่ที่เป็นคำสุดท้ายของพจนานุกรมแทนที่คำว่า Zythum (ที่หมายถึงเบียร์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการหมักข้าวมอลต์ในสมัยอียิปต์โบราณ) แล้ว นั่นคือคำว่า Zyzzyva (ที่หมายถึงด้วงพื้นเมืองเขตร้อนชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้ต้นปาล์ม พบมากในทวีปอเมริกาใต้)
เมื่อสังคมมนุษย์ยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าฉันใด ‘ภาษา’ ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารหลักของคนในสังคมนี้ก็ยังคงพัฒนา เปลี่ยนแปลง และเลื่อนไหลฉันนั้น พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดมีการอัพเดตศัพท์ใหม่ 4 ครั้งต่อปี การอัพเดตครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ต้องมาคอยดูกันว่าศัพท์เกิดใหม่ ศัพท์วัยรุ่น ศัพท์ฮิตติดปาก หรือศัพท์เก่าแต่กลับมาฮิตใหม่คำไหนจะถูกบัญญัติเพิ่มเติมในพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลกเล่มนี้
อ้างอิง:
- www.bbc.co.uk/newsbeat/article/40414375/woke-and-post-truth-added-to-oxford-english-dictionary
- metro.co.uk/2017/06/27/theres-a-new-last-word-in-the-oxford-english-dictionary-6737180
- en.oxforddictionaries.com/word-of-the-year/word-of-the-year-2016
ศัพท์ 10 คำที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือก ‘คำศัพท์แห่งปี 2016’ ได้แก่ Alt-right, Adulting, Brexiteer, Chatbot, Coulrophobia, Glass Cliff, Hygge, Latinx, Post-truth และ Woke