×

ก่อการร้ายอีกครั้งในอังกฤษ! ทบทวนจุดแข็งกลุ่มก่อการร้าย และจุดอ่อนของรัฐกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • แม้จะเกิดกระเเสเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าออกไปก่อน ภายหลังเหตุก่อการร้ายถึง 2 ครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ แต่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ จะยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามมติของรัฐสภาในวันที่ 8 มิถุนายนนี้อย่างแน่นอน
  • มูลเหตุภายในประเทศ โดยเฉพาะจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาวิกฤติทางด้านอัตลักษณ์ และความยากลำบากในการเลื่อนสถานะทางสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นฐานรากทางความคิดของ ‘คนรุ่นต่อๆ มา’ ให้มีแนวโน้มที่จะเป็นคนหัวรุนแรงและใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา
  • การเข้าใจสังคมสมัยใหม่ของขบวนการก่อการร้ายอย่างกลุ่มไอเอส ทำให้กลุ่มก่อการร้ายนี้ประสบความสำเร็จในการช่วงชิงพื้นที่สื่อ และสร้างความหวาดกลัวให้แก่สังคมระหว่างประเทศ
  • นักวิชาการชี้ว่า เรายังไม่เคยคุยและทำความเข้าใจต่อข้อเรียกร้องและจุดยืนของกลุ่มผู้ก่อการร้ายกันอย่างจริงจัง เราสนใจแต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ปลายเหตุ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบวัวพันหลัก

     เหตุก่อการร้ายที่ลอนดอนบริดจ์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ล่าสุดมียอดผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 48 คน โดยภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญผู้ต้องสงสัย 3 คน พร้อมทั้งจับกุมผู้ต้องสงสัยอีก 12 คน เป็นผู้หญิง 7 คน ผู้ชาย 5 คน อายุระหว่าง 19-60 ปี ขณะนี้ทางการสามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุทั้ง  3  คนที่ถูกวิสามัญได้แล้ว แต่ยังไม่มีการรายงานชื่อผู้เสียชีวิตและผู้ถูกจับกุมทั้งหมดอย่างเป็นทางการ โดยจะรีบเปิดเผยชื่อโดยเร็วที่สุด หากฝ่ายสืบสวนสอบสวนอนุญาต

     เหตุการณ์นี้นับเป็นการก่อการร้ายครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ของสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ก่อการร้ายขับรถพุ่งชนและใช้มีดแทงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตในย่านเวสต์มินสเตอร์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้ลงมือก่อเหตุคือนายคาลิด มาซูด (Khalid Masood) และเมื่อราวๆ 2 สัปดาห์ก่อน เกิดเหตุระเบิดพลีชีพหลังคอนเสิร์ตของอะรีอานา กรานเด (Ariana Grande) ในเมืองแมนเชสเตอร์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ภายหลังสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุโจมตีได้คือ นายซัลมาน อาเบดี (Salman Abadi) อายุ 22 ปี เป็นชาวอังกฤษเชื้อสายลิเบีย นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มติดอาวุธในลิเบีย

     อะไรคือประเด็นของต้นตอความขัดแย้งภายในสังคมยุโรปที่ฝังรากลึกและมีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน จุดแข็งของกลุ่มก่อการร้ายและจุดอ่อนของรัฐกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตลอดจนนโยบายด้านการก่อการร้ายของพรรคการเมืองใหญ่ของอังกฤษที่อาจจะเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสำคัญ ก่อนที่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

Photo: Justin TALLIS, AFP/Profile

อังกฤษเจอกับเหตุก่อการร้ายรอบที่ 3 ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

     นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรอดทนมามากพอเเล้ว ถึงเวลาที่จะต้องจัดการกับการก่อการร้ายอย่างจริงจังเสียที พร้อมกับประณามเหตุความรุนแรงดังกล่าวที่โจมตีผู้บริสุทธิ์และสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานให้เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ด้านนางแอมเบอร์ รัดด์ (Amber Rudd) รัฐมนตรีกระทรวงปิตุภูมิของสหราชอาณาจักรออกมายื่นยันผ่านสื่อต่างๆ ว่า รัฐบาลมั่นใจว่าเหตุความรุนแรงดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงที่ถูกล้างสมอง และทางการกำลังหาต้นตอการเผยแพร่ชุดความคิดที่อันตรายนี้ว่ามาจากที่ใด

     กลุ่มไอเอสอ้างว่า การโจมตีดังกล่าว รวมถึงเหตุก่อการร้ายก่อนหน้าที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นการกระทำของกลุ่มสมาชิกผู้สนับสนุนตนและเห็นด้วยกับแนวทางในการสร้างรัฐอิสลาม แต่ถึงกระนั้น นายกเมย์ยังยืนยันว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

     ฮารูน ข่าน (Harun Khan) เลขาธิการสภามุสลิมเเห่งสหราชอาณาจักรประณามการก่อการร้ายในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมและให้กำลังใจแก่หน่วยงานที่กำลังปฏิบัติงานอย่างหนักอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งยังกล่าวว่าชาวมุสลิมทั่วโลกรู้สึกโกรธเคืองและรังเกียจต่อการกระทำของกลุ่มมุสลิมผู้ก่อเหตุดังกล่าว เนื่องจากเหตุก่อการร้ายในครั้งนี้เกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม สิ่งที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าชาวมุสลิมที่ก่อเหตุไม่ได้เคารพต่อชีวิตหรือแม้แต่ความเชื่อของผู้อื่น

     เหตุก่อการร้ายที่ลอนดอนบริดจ์ในครั้งนี้ก่อให้เกิดกระเเสเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าออกไปก่อน แต่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะยังคงเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามมติของรัฐสภาและแผนการที่ได้วางไว้ โดยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้อย่างแน่นอน

 

‘ความแตกต่าง’ ที่ยังคงอยู่ในสังคมยุโรป

     อาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายในครั้งนี้และครั้งก่อนหน้าว่ามีความเกี่ยวพันกับบริบททางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีต

     ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสให้สิทธิพลเมือง รวมถึงสัญชาติแก่ประเทศอาณานิคมของตน   เพื่อให้คนเหล่านี้เคลื่อนย้ายเข้ามาเป็นแรงงานและขับเคลื่อนประเทศในช่วงหลังการศึกสงคราม เราจึงเห็นกระแสการอพยพของคนต่างถิ่นไหลทะลักเข้ามาอยู่อาศัยและหางานทำในยุโรปนับแต่นั้นมา

     กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้มีอัตลักษณ์และวิถีการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคม คนกลุ่มนี้จึงยังถูกมองว่า ‘เป็นคนอื่น’ ในสังคมยุโรป แม้เวลาจะผ่านมานานหลายทศวรรษแล้วก็ตาม วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2008 ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเข้าไปแย่งงานคนยุโรปทำ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว งานที่พวกเขาทำส่วนใหญ่เป็นงานที่คนยุโรปในประเทศนั้นไม่เลือกทำ

     บ่อยครั้งที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาในหลายๆ ประเทศต่างใช้ความแตกต่างนี้ในการปลุกระดม ชูกระแสชาตินิยม และเเบ่งแยกขั้วของประชาชนภายในประเทศ (Mass Poralization) เพื่อสร้างฐานเสียงให้แก่พรรคการเมืองของตนในการเลือกตั้ง การกระทำดังกล่าวยิ่งตอกย้ำ ‘ความเป็นอื่น’ ของกลุ่มคนเหล่านี้ และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติของรัฐและคนในสังคม

     ดังนั้นทุกสังคม ทุกประเทศมีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายได้หมด ซึ่งมูลเหตุจูงใจที่ผลักดันให้เลือกใช้ความรุนแรงในแต่ละครั้งอาจจะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่อาจจะได้รับอิทธิพลและมูลเหตุจากภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมนั้นๆ ยิ่งในสังคมอังกฤษที่กำลังถกเถียงในประเด็น Brexit จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงประเด็นเรื่องของความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม หรือแม้แต่สหรัฐฯ มหาอำนาจที่เข้าไปต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางอย่างจริงจังก็อาจจะกำลังตกเป็นเป้าของการก่อการร้ายอยู่ในขณะนี้เช่นกัน

 

Photo: NIKLAS HALLE’N, AFP/Profile

มุสลิมรุ่นใหม่และแนวโน้มการใช้ความรุนแรง

     ผลการสำรวจจำนวนประชากรมุสลิมของประเทศต่างๆ ในยุโรปในปี 2010 ของสถาบัน Pew Reserch Center พบว่า สหราชอาณาจักรมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามราว 3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 4.8 ของประชากรทั้งหมด มากเป็นอันดับที่ 3 ของยุโรป รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยประชากรมุสลิมส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญๆ อย่างแบล็กเบิร์น, เบอร์มิงแฮม, ลอนดอน, เลสเตอร์, ลีดส์ และแมนเชสเตอร์ เป็นต้น

     อาจารย์อาทิตย์กล่าวเสริมว่า ประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคนที่ประสบปัญหาวิกฤติทางด้านอัตลักษณ์และความยากลำบากในการเลื่อนสถานะทางสังคม มีปัญหาเรื่องที่พักอาศัยและอาชญากรรม แทนที่พวกเขาจะได้รับการปกป้องจากรัฐ แต่บางครั้งกลับถูกมองเป็นแหล่งมั่วสุมเสียเอง ในสายตาคนทั่วไป สังคมยุโรปน่าจะเป็นสังคมที่เปิดกว้าง แต่สำหรับพวกเขากลับรู้สึกว่าเป็นตัวเองพลเมืองชั้นสองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกเบียดขับออกจากสังคม ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันพวกเขาก็ไม่ได้มีสถานะเป็นคนต่างถิ่น และเป็นเจ้าของประเทศเช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในสังคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นฐานรากทางความคิดให้แก่คนรุ่นต่อๆ มาให้มีแนวโน้มที่จะเป็นคนหัวรุนแรงและใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา

     เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นที่เมืองแมนเชสเตอร์ก่อนหน้านี้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยุโรปที่มีความเกี่ยวพันกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในลิเบีย และมีการติดต่อสื่อสารกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความซับซ้อนนี้ไปกระทบหลักคิดสำคัญของยุโรปอย่างเสรีประชาธิปไตยที่สนับสนุนเสรีภาพในด้านต่างๆ รวมทั้งการสื่อสาร ผลจากหลักคิดนี้กลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้กลไกและกระบวนการต่างๆ ของกลุ่มก่อการร้ายเดินไปข้างหน้าได้ การที่นายกรัฐมนตรีเมย์เรียกร้องให้มีการจัดระเบียบพื้นที่ในโลกไซเบอร์เสียใหม่ภายหลังเหตุก่อการร้ายที่ลอนดอนบริดจ์เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมาจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนภายในประเทศต่อประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย

     สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ก่อเหตุในแต่ละครั้งไม่ใช่ประชากรแฝงในสังคมอังกฤษ แต่เป็นพลเมืองที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับทางการของประเทศ เป็นชาวอังกฤษที่เกิดและเติบโตภายในสหราชอาณาจักร (Homegrown Terrorists) ที่บรรพบุรุษอพยพมาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน พวกเขาเหล่านี้ยักย้ายความจงรักภักดีของตนไปยังประเทศหรือกลุ่มขบวนการอื่นๆ เนื่องจากประเทศเดิมของตนไม่สามารถเป็นความหวังและตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้ ซ้ำร้ายบางประเทศยังเลือกที่จะเป็นปฏิปักษ์และทำลายความหวังของคนกลุ่มนี้เสียเอง

 

จุดแข็งของกลุ่มก่อการร้ายคือพวกเขารู้ว่าเรากลัวตาย

    กฤติกร วงศ์สว่างพานิช นักวิชาการอิสระด้าน Critical Terrorism ได้อธิบายในงาน ‘ไอเอสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ทบทวนรากความขัดแย้งเดิม ประเมินแนวทางรับมือภัยคุกคามใหม่ว่า ฝ่ายความมั่นคงในปัจจุบันอาจละเลยว่าแนวคิดกระชับพื้นที่แบบเดิมนั้นใช้ไม่ได้กับกลุ่มก่อการร้าย เพราะกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้รู้ตัวดีว่าเขามีกำลังอ่อนกว่ารัฐ เขาจึงเลือกโจมตีใครก็ได้ที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับรัฐนั้น “กลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้รับรู้ว่าคู่ต่อสู้ของพวกเขาคือรัฐที่ครอบครองทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถต่อสู้แบบเผชิญหน้าหรือต่อกรแบบตรงไปตรงมาได้ แต่สิ่งที่กลุ่มขบวนการเหล่านี้เหนือกว่ารัฐคือความเหนือกว่าในเชิงข้อมูล พวกเขารู้ว่าอะไรคือจุดอ่อนของเราในสังคมการเมืองสมัยใหม่ นั่นคือความกลัวตายเพื่อให้มีชีวิตรอดกลายเป็นมูลค่าสูงสุดในการดำเนินชีวิต ในขณะที่เราไม่เคยรู้ถึงจุดอ่อนของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เลย

     ทุกครั้งที่มีภัยสงครามหรือการใช้ความรุนแรงจะมีแนวคิดของพื้นที่ต้องห้ามและพื้นที่ยกเว้นอยู่เสมอนับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน แต่แนวคิดนี้ใช้ไม่ได้กับกลุ่มไอเอส เพราะพวกเขาต้องการสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ รวมถึงทำลายความคิดที่เป็นศูนย์กลางของสังคมสมัยใหม่ที่คนส่วนใหญ่นับถือ อย่างเช่นการโจมตีโรงพยาบาล ที่สมัยก่อนอาจเป็นเรื่องที่ยังถูกเว้นไว้”

     กฤติกรสะท้อนให้เห็นอีกว่า จุดแข็งของกลุ่มไอเอสคือพวกเขาเข้าใจสังคมสมัยใหม่เป็นอย่างมาก “พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าตลอดเวลาในโลกดิจิทัล อย่างเช่น ในการอ้างว่าเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เป็นฝีมือของกลุ่มกองกำลังรัฐอิสลามของตน แม้ว่าในบางครั้งเหตุการณ์ก่อการร้ายต่างๆ จะมีการเชื่อมโยงต่อไอเอสน้อยมากหรือแทบไม่มีก็ตาม สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้เข้าใจวิธีการโฆษณาที่สามารถปักธงในใจผู้คนในสังคมได้ ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า เราเองต่างหากที่อาจจะยังไม่ได้เข้าใจในตัวพวกเขาเลย”

     สอดคล้องกับความคิดของอาจารย์อาทิตย์ที่กล่าวทิ้งท้ายว่า ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของโลก เรายังไม่รู้ถึงชุมชนทางการเมืองในอนาคต เนื่องจากเรายังไม่เคยคุยและทำความเข้าใจกันอย่างจริงจัง เราสนใจแต่สิ่งที่เกิดขึ้นที่ปลายเหตุ แต่ข้อเรียกร้องและจุดยืนของคนเหล่านี้ยังถูกละเลย ถ้าเราสังเกตข้อเรียกร้องและจุดยืนต่างๆ เหล่านี้จะพบว่าใจกลางของเรื่องวนเวียนอยู่กับ ‘เรื่องของการจัดตั้งรัฐอิสลาม’ ซึ่งเป็นมากกว่าเรื่องของการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ของรัฐกับศาสนาว่าจะปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร แต่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการพื้นฐานที่จะออกแบบและมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมทางการเมืองของตนเอง แต่ถูกปิดกั้นจากชนชั้นผู้นำในสังคมที่ทำให้ชุมชนทางการเมืองเดิมไม่พร้อมปรับตัว เนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์หรืออัตลักษณ์ของตน

 

Photo: DANIEL SORABJI, AFP/Profile

นโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสองพรรคการเมืองใหญ่ในการเลือกตั้งอังกฤษ

     สองพรรคการเมืองใหญ่ของสหราชอาณาจักรอย่างพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และพรรคแรงงาน (Labour Party) ได้มีการหารือจุดยืนของแต่ละพรรคในการต่อสู้กับภัยคุกคามอย่างการก่อการร้ายอย่างจริงจัง โดยทั้งคู่จะทุ่มงบประมาณในการรักษาความสงบเพิ่มมากขึ้น

     พรรคอนุรักษนิยม ภายใต้การนำของนางเทเรซา เมย์ วางแผนที่จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานใหม่ในการต่อสู้กับภัยคุกคามและกลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ ที่ต้องการทำลายค่านิยมของชาวอังกฤษ เธอยังกล่าวอีกว่า กลุ่มสุดโต่งอย่างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอังกฤษเป็นกลุ่มคนที่สั่นคลอนความสงบของประเทศ และเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่จะจุดชนวนการก่อการร้ายและการเลือกใช้ความรุนแรงในสังคม

     ทางด้านนายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงาน จะเพิ่มมาตรการในการจ้างงานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่มอีก 10,000 อัตรา นักดับเพลิง 3,000 อัตรา และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายร้อยอัตรา หากพรรคแรงงานได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลในวันที่ 8 มิถุนายนนี้

     เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหราชอาณาจักร ไม่เพียงแต่ส่งสัญญาณให้กับรัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงของสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่ต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันประเทศของตนให้ปลอดภัยหรือได้รับความเสียหายจากภัยคุกคามอย่างภัยก่อการร้ายให้น้อยที่สุด นี่อาจจะเป็นอีกนโยบายสำคัญที่ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้งอังกฤษครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหตุการณ์ที่ลอนดอนบริดจ์นั้นเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน

     แต่เหตุการณ์นี้ยังเป็นการบอกกล่าวถึงนานาประเทศ องค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้หันมาทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น และช่วยกันแก้ไขปัญหาที่ต้นตอมากกว่าที่จะพยายามคิดหาวิธีป้องกันที่ปลายเหตุที่ไม่มีวันจบสิ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X