×

การชิงโจมตีก่อนคืออะไร? สหรัฐฯ หรือเกาหลีเหนือมีความชอบธรรมที่จะใช้มาตรการนี้หรือไม่

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การชิงโจมตีก่อน เป็นวิธีการที่รัฐอาจจะเลือกใช้เพื่อป้องกันตนเองในสภาวการณ์ฉุกเฉินหรือตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้แบบปัจจุบันทันด่วน
  • การชิงโจมตีก่อนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมระหว่างประเทศ แต่ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 หลักการนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก และถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSSUS, 2002) ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช
  • ‘ความแตกต่างของเงื่อนไขเวลา’ ทำให้การชิงโจมตีก่อนแตกต่างจากการโจมตีทั่วไป ทั้งที่ทั้งคู่เป็นการโจมตีที่มีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นคือ เพื่อป้องกันตนเอง (Preventive Self-Defense)
  • รัฐบางรัฐมีความพยายามที่จะทำให้การโจมตีทั่วๆ ไปในการทำสงครามเพื่อป้องกันตนเอง (Preventive War) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘การชิงโจมตีก่อน’ (Preemptive Strike) เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลและความชอบให้กับการกระทำของตน

    ประเด็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี จากกรณีการทดสอบขีปนาวุธและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็วถึง 7 ครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2016 ที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจให้กับทั่วโลก

    นอกจากนี้ยังทำให้ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติพากันตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ หรือเกาหลีเหนือจะเลือกใช้มาตรการ ‘การชิงโจมตีก่อน’ (Preemptive Strike) หรือไม่? เราจึงพบคำศัพท์อย่าง preemptive strike, preemption, act preemptively บนสื่อต่างๆ บ่อยขึ้นในช่วงนี้

    วันนี้ THE STANDARD จะพาคุณไปทำความรู้จักกับคำคำนี้ให้มากขึ้นว่า การชิงโจมตีก่อนคืออะไร มีลักษณะพิเศษอย่างไร ผ่านตัวอย่างบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่บางประเทศเคยใช้วิธีการนี้จัดการกับภัยคุกคามจากรัฐคู่อริ จนประสบผลสำเร็จ ในขณะที่บางประเทศกลับถูกตั้งคำถามจากนานาชาติว่าไร้ซึ่งความชอบธรรมและความสมเหตุสมผล เพื่อทำให้คุณเข้าใจความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันมากขึ้น

 

มาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemptive Strike) คืออะไร

    การชิงโจมตีก่อนเป็นวิธีการป้องกันตนเองของรัฐรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐอาจจะเลือกใช้ในสภาวการณ์ฉุกเฉิน หรือชิงตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่อมีรัฐอื่นเข้ามารุกรานหรือละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐตน รัฐนั้นก็มีสิทธิที่จะรักษาดินแดนและอำนาจอธิปไตยไว้ด้วยการป้องกันตนเอง

    นักวิชาการตะวันตกอย่าง ไมเคิล วอร์เซอร์ (Michael Walzer) และแดเนียล เว็บสเตอร์ (Daniel Webster) ได้ตั้งข้อสังเกตบางประการว่า การป้องกันตัวของรัฐนั้นจะ ‘ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ’ หากเข้าเงื่อนไขต่อไปนี้

    รัฐรับรู้ถึงภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ และมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองแบบปัจจุบันทันด่วนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าไม่รีบชิงลงมือก่อนจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

    รัฐไม่สามารถเลือกวิธีการอื่นๆ ได้ เพราะไม่มีโอกาสรับมือล่วงหน้า ไม่มีตัวเลือกอื่นๆ แล้วในวินาทีนั้น

    รัฐที่เลือกใช้มาตรการการชิงโจมตีก่อนจะต้องคำนึงถึง ‘ความสมเหตุสมผล’ และ ‘ความชอบธรรม’ ของการกระทำนั้นด้วย เช่น ถ้าหากรัฐ A ชิงโจมตีก่อนด้วยการยิงขีปนาวุธใส่รัฐ B จนรัฐ B หายไปจากแผนที่โลก ก็อาจจะถูกประชาคมโลกตั้งคำถามและถูกประณามถึงการทำเกินขอบเขตของความสมเหตุสมผล

 

การชิงโจมตีก่อน กับการโจมตีทั่วไป: ความเหมือนที่แตกต่าง

    ทั้งคู่เป็นการโจมตีที่มีเป้าหมายเหมือนกัน นั่นคือ เพื่อป้องกันตนเอง (Preventive Self-Defense) จากภัยคุกคามที่อาจจะกระทบต่ออธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติของรัฐนั้นๆ โดยมี ‘ความแตกต่างของเงื่อนไขเวลา’ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยหลังจากที่รัฐมีหลักฐานที่ยืนยันว่าจะเกิดภัยคุกคามขึ้นในอนาคตอันใกล้ รัฐจึงต้องรีบตัดสินใจอย่างเร่งด่วน โดยมองว่า ‘ฝ่ายไหนเริ่มชิงโจมตีก่อน ฝ่ายนั้นย่อมได้เปรียบ’ มาตรการชิงโจมตีก่อนจึงถูกนำมาใช้

    ส่วนมาตรการการโจมตีทั่วไปคือ รัฐยังมีเวลาในการตัดสินใจและมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนอกจากการใช้กำลัง เช่น การเจรจาพูดคุยหรือมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ามาตรการข้างต้นยังไม่ได้ผล รัฐจึงอาจค่อยพิจารณามาตรการโจมตีในเวลาต่อมา เนื่องจากภัยคุกคามนั้นไม่ได้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ การรีบใช้อาวุธหรือกำลังอาจจะดูเป็นการคุกคามมากกว่าที่จะทำเพื่อป้องกันตนเอง รวมถึงอาจถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความสมเหตุสมผลในการเลือกโจมตีรัฐอื่นจากประชาคมโลก หรือองค์กรระหว่างประเทศ อย่างเช่น สหประชาชาติ

         ปัญหาสำคัญคือ รัฐบางรัฐมีความพยายามที่จะทำให้การโจมตีทั่วๆ ไปในการทำสงครามเพื่อป้องกันตนเอง (Preventive War) หรือเพื่อเป้าหมายทางการเมืองมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘การชิงโจมตีก่อน’ (Preemptive Strike)  ทั้งที่อาจยังไม่ถึงขั้นมีความจำเป็นที่จะต้องโจมตีรัฐอื่นด้วยกำลังและอาวุธ เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลและความชอบธรรมให้กับการลงมือโจมตีรัฐอื่นของตัวเอง

 

บทเรียนทางประวัติศาสตร์: จากความสำเร็จสู่การถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรม

         การชิงโจมตีก่อนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์โลก เช่น กรณีสงคราม 6 วัน (The Six-Day War, 1967) เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการชิงโจมตีก่อนที่มักจะถูกอ้างถึงมากที่สุด เป็นการตัดสินใจเลือกใช้การชิงโจมตีก่อนของอิสราเอลต่อรัฐอาหรับ 3 ประเทศ (อียิปต์ จอร์แดน และซีเรีย) ที่กำลังรุกคืบเข้าคุกคามอธิปไตยของอิสราเอลอย่างกระชั้นชิด โดยเฉพาะกองทัพอากาศของอียิปต์ แม้อิสราเอลจะเป็นฝ่ายข้างน้อย แต่ด้วยการเลือกใช้วิธีการที่ถูกต้องและอาวุธที่มีประสิทธิภาพ อิสราเอลจึงเป็นฝ่ายชนะสงครามและสามารถยึดฉนวนกาซาและแหลมซีนายมาจากอียิปต์ได้ รวมทั้งยึดดินแดนที่ราบสูงโกลันจากซีเรีย และเขตเวสต์แบงก์จากจอร์แดนได้สำเร็จ

         อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้หลักการนี้ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 มาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemptive Strike) กลายเป็นมาตรการที่ถูกบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ( NSSUS-National Security Strategy of the United States) ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์ช ดับเบิลยู. บุช หมายความว่าสหรัฐฯ มีความพร้อมเสมอที่จะทำสงครามล่วงหน้าก่อนถูกโจมตี และพร้อมที่จะกระทำการโดยลำพัง (unilateralism) โดยไม่อาศัยมติของสหประชาชาติ หรือรอความเห็นของพันธมิตร หากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนอย่างเร่งด่วน

         สหรัฐฯ เลือกบรรจุมาตรการชิงโจมตีก่อนในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะหวาดระแวงว่าอิรักอาจมีการครอบครองอาวุธทำลายล้างสูงที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ สหรัฐฯ จึงตัดสินใจเข้ารุกรานและโจมตีอิรักในปี 2003 เพื่อค้นหาและทำลายอาวุธทำลายล้างสูงที่อิรักอาจจะเตรียมส่งมอบให้กับกลุ่มก่อการร้าย และสหรัฐฯ ตั้งใจโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของซัดดัม ฮุสเซน ด้วยเช่นกัน เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

         แต่ต่อมาสหรัฐฯ กลับไม่พบอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงในอิรักตามที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง อีกทั้งสหรัฐฯ ไม่ได้รอมติจากสหประชาชาติก่อนเข้าโจมตี ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการรุกรานอิรักของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ว่า แท้ที่จริงสหรัฐฯ ต้องการปกป้องอธิปไตยของตนเองอย่างเร่งด่วน หรือต้องการล้างแค้นให้กับเหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ที่เกิดขึ้น ด้วยการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก?

         จะเห็นได้ว่าการที่รัฐเลือกใช้มาตรการการชิงโจมตีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐอาจจะพบเจอความยากลำบากในการนิยามว่า ภัยคุกคามครั้งไหนเป็นภัยคุกคามที่ต้องรีบจัดการ ถึงจุดๆ ไหนที่รัฐสมควรที่จะใช้มาตรการชิงโจมตีก่อน โดยที่ยังมีความชอบธรรมและสมเหตุสมผลอยู่ การใช้มาตรการนี้จึงมีต้นทุนที่ต้องจ่ายค่อนข้างสูง

         การที่คุณเข้าใจหลักการนี้มากขึ้น อาจจะทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเมื่อมีการโจมตีเกิดขึ้น คุณจะฉุกคิดถึงแง่มุมที่ว่า การโจมตีครั้งนี้สมเหตุสมผล หรือมีความชอบธรรมหรือไม่ ทำเกินไปหรือเปล่า เพราะไม่ใช่ทุกสงคราม ทุกการโจมตีที่จะมีความชอบธรรม เมื่อความตึงเครียดและความขัดแย้งเกิดขึ้นและบานปลายนำไปสู่สงคราม นั่นไม่ใช่เพียงการต่อสู้ที่นำมาซึ่งความเสียหายต่อรัฐ แต่ยังรวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนภายในรัฐนั้นๆ อีกด้วย  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X