×

คาบสมุทรเกาหลียิ่งระอุ! หลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปสำเร็จ

06.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ของเกาหลีเหนือ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา หลายฝ่ายมองว่า นี่อาจเป็นความจงใจที่เกาหลีเหนือพยายามจะส่งข้อความบางอย่างถึงผู้นำโลกอย่างสหรัฐฯ
  • การครอบครองและพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ คือเครื่องมือต่อรองที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของเกาหลีเหนือในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติจากสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตร แต่กลายเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศในสายตารัฐอื่นๆ บรรยากาศความหวาดระแวงจึงเกิดขึ้น
  • หากสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเหนือบานปลาย จนกลายเป็นสงคราม วงจรเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแถบนี้จะได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การตัดสินใจเลือกใช้กำลังต่อกัน จึงมีเดิมพันหรือต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในคาบสมุทรเกาหลีเสนอว่า “ถ้าเวที Six-Party Talks ไม่เกิดขึ้นอีก น่าจะใช้เวทีอย่าง ARF (ASEAN Regional Forum) ที่เกาหลีเหนือเองก็ยังคงเป็นสมาชิกอยู่ หรือใช้ประเทศที่สามเป็นตัวกลาง ในการเปิดช่องทางพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน” ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของประธานาธิบดีจีนและรัสเซียที่ออกเเถลงการณ์ร่วมกัน ผลักดันมาตรการคู่ขนานให้ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ยุติพฤติกรรมยั่วยุและเปิดพื้นที่ในการเจรจาระหว่างกัน

     เหตุการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ไม่อาจละสายตาไปจากภูมิภาคนี้ได้ จากประเด็นปัญหาเรื่องการทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วยจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากการทดสอบรวมทั้งหมด 5 ครั้งในปี 2016 แต่ในปีนี้ผ่านมาเพียงครึ่งปี เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธไปแล้วถึง 11 ครั้ง ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่า การทดสอบดังกล่าวจะกระทบและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการอ้างของเกาหลีเหนือว่า ตนพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่สามารถยิงไปได้ไกลถึงสหรัฐฯ สำเร็จแล้วเมื่อ 2 วันก่อน (4 กรกฎาคม)

     มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ในฐานะ (ที่ตั้งตัวเป็น) ตำรวจโลก คงจะไม่อยู่เฉย ถ้าหากสิ่งที่เกาหลีเหนืออ้างเป็นความจริง มาตรการป้องปราม ปัดฝุ่น และกระชับความสัมพันธ์กับบรรดามิตรสหายทั้งเก่าและใหม่ในภูมิภาคนี้จึงเริ่มต้นขึ้น รวมถึงจะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะจัดขึ้นสุดสัปดาห์นี้ เพื่อกดดันเกาหลีเหนืออีกทางหนึ่งด้วย

 

Photo: JUNG YEON-JE/AFP

 

     สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่า สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีอาจจะบานปลายและมีแนวโน้มที่มาตรการชิงโจมตีก่อนอาจจะถูกสหรัฐฯ นำมาใช้ เพื่อกดดันเกาหลีเหนือให้ล้มเลิกแผนการที่จะทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ในอนาคต ในขณะเดียวกันเกาหลีเหนือเองก็อาจจะใช้มาตรการนี้ เพื่อปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์แห่งชาติของตน หากถูกกดดันจนหลังชนฝา

     THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาและรักษาการหัวหน้าสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเป็นไปได้ของการชิงโจมตีก่อน ไม่ว่าจะทั้งจากสหรัฐฯ หรือเกาหลีเหนือ ท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตรในภูมิภาคบนคาบสมุทรเกาหลี ท่าทีของจีนและรัสเซียในฐานะพี่ใหญ่ที่มีต่อประเด็นนี้ รวมถึงทางออกที่พอจะเป็นไปได้ที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

 

Photo: ED JONES/AFP

 

การเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ: ความตึงเครียดที่ไม่เบาบางลง

     นับตั้งแต่เกาหลีเหนือได้ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ถึง 3 ครั้งเมื่อปลายปี 2016 และเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 11 ครั้งแล้วภายในครึ่งปีนี้

     ถึงแม้ว่าการทดสอบขีปนาวุธในระยะหลังจะประสบความล้มเหลวบ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณคาบสมุทรเกาหลีเบาบางลง

     รศ.ดร. กิตติ ให้ความเห็นถึงเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำเกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ต่อไปเป็นเพราะว่า เกาหลีเหนือประกาศจุดยืนของตนไปแล้วว่า การครอบครองและการเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะใช้ต่อรองกับมหาอำนาจตะวันตก เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนไว้ ถ้ายุติกลางคัน อาจกระทบต่อจุดยืนบนเวทีระหว่างประเทศ รวมทั้งแรงศรัทธาของประชาชนภายในประเทศต่อการทำงานของรัฐบาล

     ถึงแม้ว่าอาจจะมีความพยายามจงใจให้การทดสอบประสบความล้มเหลวบ้าง แต่ความถี่ในการทดสอบขีปนาวุธและรัศมีการทำลายล้างที่ค่อยๆ ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยิงระยะได้ไกลขึ้น เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาอย่างดีที่ทำให้อุณหภูมิในคาบสมุทรเกาหลีคุกรุ่นมากยิ่งขึ้น รศ.ดร. กิตติ ยังได้สะท้อนอีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือ ลักษณะบุคลิกของตัวผู้นำอย่าง คิมจองอึน ที่อาจจะส่งผลให้บทสรุปของความตึงเครียดครั้งนี้คาดเดาได้ยากยิ่งขึ้น

     “สหรัฐฯ หวั่นเกรงว่า เกาหลีเหนือจะสามารถยิงขีปนาวุธไปได้ไกลถึงแผ่นดินสหรัฐฯ คาดการณ์กันว่า หัวรบที่ยิงไกลที่สุดจะพัฒนาได้ในปี 2020 ทำให้สหรัฐฯ จะต้องมาสกัดดาวรุ่งเสียก่อน แต่การประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ เมื่อวันชาติสหรัฐฯ สร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่ชาติมหาอำนาจไม่น้อย แม้ว่าจะยังมีข้อสงสัยอยู่บ้างต่อการกล่าวอ้างดังกล่าว

“ปัจจัยเรื่องผู้นำคิมจองอึน ที่มีลักษณะทำนายได้ยาก (Unpredictable) ถ้าเปรียบเทียบกับพ่อของเขา คิมจองอิล ตัวเขาทำนายได้ยากกว่า เพราะเขาถึงขนาดลอบสังหารพี่ชายตนเองหรือประหารชีวิตอาเขยที่เคยช่วยฟูมฟักเขามาในช่วงแรก เพราะว่าตัวเขาเองต้องการกระชับอำนาจ ปัจจัยนี้จะทำให้สถานการณ์นี้คาดเดาได้ยากขึ้นตามไปด้วย”

 

Photo: ED JONES/AFP

 

ท่าทีของมหาอำนาจและประเทศพันธมิตรต่อเกาหลีเหนือ: อุณหภูมิที่ร้อนระอุ

     สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้มีการเจรจาหารือเกี่ยวกับ ‘มาตรการชิงโจมตีก่อน (Preemptive Strike)’ เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันสถานการณ์ที่อาจจะบานปลาย มีการซ้อมรบประจำปีร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ (Foal Eagle) ภายใต้ปฏิบัติการ Max Thunder ที่เข้มข้นขึ้น หนักหน่วงขึ้นกว่าทุกปี รวมถึงการจะติดตั้งระบบเครื่องยิงต่อต้านขีปนาวุธ ‘THAAD’ ของสหรัฐฯ บนคาบสมุทรเกาหลี และพร้อมร่วมมือกันใช้มาตรการกดดันขั้นสูงสุดในเวที G20 หากคิมจองอึนยังยืนกรานที่จะผลักดันโครงการอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะเปิดช่องทางการเจรจาไว้ หากถึงเวลาที่เห็นว่าสมควร

     ทางด้านรัสเซีย อีกหนึ่งประเทศที่มีพื้นที่อยู่ภายใต้รัศมีการทำลายล้างของขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็ออกมาเคลื่อนไหว โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาประณามเกาหลีเหนือที่ทดสอบยิงขีปนาวุธระหว่างการประชุมงานเส้นทางสายไหม (One Belt One Road) ที่ประเทศจีน ที่มีผู้นำ 29 ประเทศเข้าร่วม รวมถึงการทดสอบครั้งล่าสุดที่ทางเกาหลีเหนืออ้างว่า สามารถทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปได้สำเร็จ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติพฤติกรรมยั่วยุที่รัฐอื่นมองว่า เป็นภัยคุกคามที่จะสั่นคลอนความมั่นคงโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจบานปลายทำให้กลายเป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างเลือกใช้กำลังเข้าหากัน

     อีกทั้งรัสเซียยังได้เคลื่อนกำลังพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์มาประจำตามแนวพรมแดนของประเทศที่ติดกับเกาหลีเหนือ เพื่อกดดันและเตรียมป้องปรามเกาหลีเหนืออีกทางหนึ่งด้วย หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะกระทบผลประโยชน์แห่งชาติของตน

     จีนเองถึงแม้จะถูกมองว่า เป็นคู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มองจีนในฐานะตัวแสดงสำคัญที่เป็นพี่ใหญ่ของภูมิภาคนี้ และมีแนวโน้มที่จะสามารถพูดคุยหรือมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือได้ไม่มากก็น้อย จึงมีการยื่นข้อเสนอทางการค้าให้กับจีน เพื่อแลกกับการให้จีนช่วยป้องปรามเกาหลีเหนือ และแสวงหาทางออกแบบสันติวิธีเท่าที่จะเป็นไปได้บนคาบสมุทรเกาหลี ทั้งนี้ รศ.ดร. กิตติ ยังได้กล่าวเสริมถึงจุดยืนของจีนที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งส่งผลให้ท่าทีของจีนต่อเกาหลีเหนือไม่ชัดเจน เนื่องจากจีนคือพันธมิตรที่ใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ และยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเกาหลีเหนือ ในขณะเดียวกัน จีนต้องทำหน้าที่ ‘รัฐมหาอำนาจผู้มีความรับผิดชอบ’ ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งยังมีฐานะเป็น 1 ใน 5 ประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงระหว่างประเทศอีกด้วย

     “จีนมีเป้าหมายสองอย่างที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง เป้าหมายแรกคือ เกาหลีเหนือถือว่าเป็น ‘รัฐกันชน (Buffer State)’ ในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ของจีน เพราะในเกาหลีใต้มีทหารสหรัฐฯ ประจำการอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีเกาหลีเหนือหรือเกาหลีเหนือล่มสลาย จะเกิดผู้ลี้ภัยเข้าไปในจีนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจีนยังจะต้องจัดกองทัพไปประจำการในแถบนั้นเพิ่มมากขึ้น การที่มีเกาหลีเหนืออยู่ทำให้จีนลดภาระในส่วนตรงนี้ไป

     “อีกเป้าหมายหนึ่งของจีนคือ จีนจะต้องถูกทวงถามจากประชาคมโลกในฐานะ ‘มหาอำนาจผู้มีความรับผิดชอบ (Responsible Great Power)’ เพื่อรักษาชื่อเสียงของจีนไว้ ดังนั้น จีนจึงไม่สามารถที่จะไปถือหางเกาหลีเหนือหรือวางเฉยต่อประเด็นนี้ได้ อาจจะมีการกดดันเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราก็ทำหน้าที่นะ แต่จะไม่กดดันเต็มสูบ เพราะว่าถ้าหากเกาหลีเหนือหลังชนฝามากๆ จากการถูกละทิ้งจากจีนจริงๆ ก็จะส่งผลเสียต่อตัวจีนเอง อีกทั้งจีนก็ไม่ต้องการให้เกิดความตึงเครียดเรื่องนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น เพราะก็ไม่อยากให้ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ติดอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน”

 

Photo: ED JONES/AFP

 

ความเป็นไปได้ของการชิงโจมตีก่อนบนคาบสมุทรเกาหลี

      แม้จะเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการประณามจากทั่วโลก แต่เกาหลีเหนือก็ยังยืนกรานที่จะเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธต่อไป และพร้อมตอบโต้กลับด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพราะเกาหลีเหนือคิดว่า สิ่งนี้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะใช้ต่อรองและปกป้องประเทศจากสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรได้ และป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องพบจุดจบแบบเดียวกับผู้นำอิรัก ลิเบีย รวมถึงซีเรียอย่างที่ผ่านๆ มา

     สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีทำให้หลายฝ่ายมองว่า อาจจะมีการใช้มาตรการชิงโจมตีก่อนเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้หลายประเทศต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น รศ.ดร. กิตติ ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า รัฐที่มีอำนาจมากและรัฐที่มีอำนาจน้อยกว่าจะมีเงื่อนไขในการโจมตีที่ต่างกัน โดยมองว่ามีโอกาสน้อยมากที่เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นรัฐที่มีอำนาจน้อยกว่าจะชิงโจมตีก่อนต่อสหรัฐฯ เพราะถ้าการโจมตีนั้นไม่ประสบผลสำเร็จในทันที สหรัฐฯ จะต้องตอบโต้กลับด้วยวิธีการที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกาหลีเหนือเอง

     “ก็ยังคาดหวังว่าการชิงโจมตีก่อนหรือการใช้กำลังอื่นๆ จะไม่เกิดขึ้นนะ

     “ในอดีตกรณีการโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ของญี่ปุ่น ถือเป็นการชิงโจมตีก่อนของผู้ที่มีอำนาจน้อย โดยหวังว่าผู้ที่มีอำนาจมากจะตั้งตัวไม่ทัน และเกิดความเสียหาย อย่างน้อยก็หน่วงเวลาที่จะให้เขาฟื้นกลับมาตั้งตัวใหม่อีกครั้ง แต่ในกรณีเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ เกาหลีเหนือเผชิญกับความยากลำบาก เพราะสหรัฐฯ มีกองเรือประจำอยู่หลายจุดและประเทศก็กว้างใหญ่ ดังนั้นการชิงโจมตีก่อน ผลที่ได้น่าจะเป็นผลเสียมากกว่ามากๆ แต่ถึงจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เกาหลีเหนือจะเป็นฝ่ายชิงโจมตีก่อน แต่เราก็ไม่ละเลยปัจจัยผู้นำที่คาดเดาได้ยาก และความจำกัดในเรื่องของข้อมูลที่จะเอามาใช้วิเคราะห์”

     ด้านสหรัฐฯ เอง ก็ต้องคิดหนักเกี่ยวกับผลลัพธ์ ถ้าจะเลือกใช้มาตรการชิงโจมตีก่อนต่อเกาหลีเหนือ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการโจมตีซีเรียแล้ว กรณีเกาหลีเหนือมีต้นทุนที่ต้องจ่ายมากกว่าหากจะเลือกใช้กำลัง เพราะคาบสมุทรเกาหลีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อกับจีน อยู่ไม่ไกลจากมหามิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากเกิดสงครามขึ้น อาจจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลก รศ.ดร. กิตติ ยังย้ำชัดว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การชิงโจมตีก่อนจะเกิดขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี

     “ถ้าสหรัฐฯ ตัดสินใจชิงโจมตีเกาหลีเหนือ วงจรเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศแถบนี้จะได้รับผลกระทบไปหมด และอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เพราะฉะนั้นการตัดสินใจในกรณีนี้เมื่อเทียบกับกรณีซีเรีย ครั้งนี้ cost มันสูงมาก และตัวทรัมป์เอง เขาก็เป็นนักธุรกิจที่คิดบวกลบคูณหาร Cost Benefit Analysis อยู่ในใจเขาตลอดเวลา ท้ายที่สุดสหรัฐฯ เองก็คงไม่อยากทำ”

     THE STANDARD ถาม รศ.ดร. กิตติ ทิ้งท้ายถึงทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ที่จะช่วยลดความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี โดย รศ.ดร. กิตติ มองว่า การเจรจาระหว่างกันยังเป็นหนทางที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาบ้าง การส่งจดหมายถึงผู้นำอาเซียนขณะประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ผ่านมาของเกาหลีเหนือ เพื่อเรียกแรงสนับสนุน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ ASEAN และอาจจะมีการเสนอให้ใช้เวที ARF (ASEAN Regional Forum) ที่เกาหลีเหนือยังคงเป็นสมาชิกอยู่ เปิดพื้นที่ในการหันหน้ามาเจรจาระหว่างกันเพื่อลดความตึงเครียด แทนที่เวที Six-Party Talks ที่ล่มลงไปเมื่อหลายปีก่อนหรืออาจจะใช้ตัวกลางเจรจาในการพูดคุย

     “ถ้าจะมีการเจรจาเกิดขึ้นจริงๆ ก็อาจจะต้องมีตัวแทนเดินทางไปพบกันที่ประเทศที่สามอย่างเช่น จีน ซึ่งดูแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็จะได้ไม่มี Party มาก ซึ่งอาจจะง่ายกว่า Six-Party Talks ด้วยซ้ำ”

     ทางออกสันติวิธีที่อาจจะเรียกได้ว่า น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดคือ การหันหน้าเข้ามาเจรจากัน เพื่อหาจุดร่วมที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติที่สุด หากเกาหลีเหนือยืนกรานว่าจะยังคงเดินหน้าในการทดสอบและพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตน ประเทศอื่นๆ คงจะต้องร่วมกันหามาตรการที่จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและลดความหวาดระแวงของประชาคมโลก

     ต้องคอยจับตาดูกันว่า ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 เสร็จสิ้นลง ทิศทางการเมืองโลกจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเด็นด้านการค้าระหว่างประเทศ ภาวะโลกร้อน รวมถึงความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี ไม่เเน่ว่า เวทีการประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้ อาจเปิดพื้นที่ให้ ‘การทูตริมระเบียง (Corridor Diplomacy)’ ที่ลดความเป็นทางการในการเจรจาระหว่างผู้นำลง อาจได้ทำงานและมีส่วนช่วยในการหาจุดร่วมและทางออกที่พอจะเป็นไปได้ของแต่ละปัญหาได้ในที่สุด

 

อ้างอิง:

FYI
  • ICBM หรือ ขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missile) เป็นขีปนาวุธพิสัยไกล ที่มีรัศมีทำลายล้างมากกว่า 5,500 กิโลเมตร ในปัจจุบันเกาหลีเหนือกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาขีปนาวุธประเภทนี้ที่มีชื่อว่า KN-14 และ KN-08 และมีการคาดการณ์ว่าจะพัฒนาสำเร็จภายในปี 2020 หากการประกาศความสำเร็จของเกาหลีในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปเป็นความจริง เขาใช้เวลาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 3 ปีเลยทีเดียว
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X