×

เนเธอร์แลนด์เปลี่ยนคุกเป็นออฟฟิศ บ้าน และบาร์ หลังอัตราการเกิดอาชญากรรมลดลงจนคุกว่าง!

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • คุกเบรดา เป็นหนึ่งในอีกหลายๆ คุกของเนเธอร์แลนด์ที่ไม่มีผู้ต้องขังอยู่เลย เนื่องจากอัตราการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศลดลง จนต้องประกาศปิดตัวเมื่อปี 2014 และเปิดขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เอกชนเช่าและเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้
  • อัตราการเกิดอาชญากรรมในเนเธอร์แลนด์ลดลงถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2007-2015 ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนนักโทษ 57 คนต่อประชากร 100,000 คนซึ่งถือว่า ‘น้อยมาก’ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนนักโทษสูงถึง 458 คนต่อประชากร 100,000 คน
  • อัตราการเกิดอาชญากรรมภายในประเทศที่ลดลง จนคุกหลายๆ แห่ง ว่างจนถึงขั้นต้องปิดตัวลง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพิจารณาคดีและบทลงโทษ สะท้อนมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้
  • คุกทั้งหมด 27 แห่งที่ปิดตัวลงในปี 2014 กำลังกลายเป็นออฟฟิศ บาร์ ร้านอาหาร ที่พักอาศัย หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ทางการเนเธอร์แลนด์ใช้พื้นที่ที่เคยถูกปิดและทิ้งร้างเหล่านี้ สร้างโอกาสและรายได้ให้แก่ประเทศ

     ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์มีอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทางการได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายและบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดเสียใหม่ ทำให้วัตถุประสงค์ของการใช้คุกในการคุมขังผู้กระทำผิดค่อยๆเลือนหายไป

     คุก 27 แห่งทั่วเนเธอร์แลนด์ได้ทยอยปิดตัวลงในปี 2014 และในปัจจุบันเหลือคุกที่เปิดทำการอยู่เพียง 38 แห่งเท่านั้น

     คุกเบรดา (Breda Prison) คือหนึ่งในคุกที่ประกาศปิดตัวเมื่อปี 2014 ตั้งอยู่ที่จังหวัดนอร์ทบราเเบนต์ (North Brabant) ทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ ถูกสร้างขึ้นในปี 1886 คุกเก่าแก่อายุกว่า 130 ปีนี้ เป็นหนึ่งในคุกอีกหลายๆ แห่งของประเทศที่ไม่มีผู้ต้องขังอยู่เลย จนเมื่อไม่นานมานี้ ทางการเนเธอร์แลนด์มีความคิดที่จะเปิดคุกอีกครั้ง เพื่อให้เอกชนเช่าและเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนี้

     พื้นที่ที่เคยถูกใช้คุมขังนักโทษเหล่านี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป

 

 

อัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลงตลอดทศวรรษ

     คุกเนเธอร์แลนด์ที่ปิดตัวลงในปี 2014 มี 6 แห่งที่ถูกขายให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ คิดเป็นมูลค่าราว 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในบางเเห่งเปิดให้เอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่ ทำเป็นแหล่งพักพิงแก่ผู้หลบภัย สร้างรายได้ให้แก่ประเทศสูงถึงราว 18 ล้านยูโร (20.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

     จากอัตราการเกิดอาชญากรรมที่ลดลงทั่วทวีปยุโรป นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์ ที่มีการดำเนินมาตรการป้องกันการเกิดอาชญากรรมที่รัดกุม รวมถึงให้ความสำคัญกับการกลับเข้าสู่สังคมของกลุ่มนักโทษ ทำให้คุกในประเทศนี้ค่อยๆ ว่างลง

     Anneloes van Boxtel เจ้าหน้าที่ด้านอสังหาริมทรัพย์ กระทรวงมหาดไทย ของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “คณะผู้พิพากษากำลังตัดสินคดีไปในทิศทางที่ต่างออกไป ไม่ใช่การลงโทษด้วยวิธีที่เบาลง แต่เป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมของเราให้ความสำคัญกับการบริการชุมชนสาธารณะ ยกเลิกการใส่โซ่ตรวนที่ข้อเท้า รวมถึงเปิดคลินิกบำบัดและฟื้นฟูให้บริการแก่นักโทษทุกคน”

     อัตราการเกิดอาชญากรรมในเนเธอร์แลนด์ลดลงถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2007-2015 ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศนี้มีจำนวนนักโทษลดลงจาก 50,650 คน ในปี 2005 และเหลือนักโทษเพียง 37,790 คน ในปี 2015 คิดเป็นสัดส่วน นักโทษ 57 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือว่า ‘น้อยมาก’ เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนนักโทษสูงถึง 458 คนต่อประชากร 100,000 คน

ห้องลูกกรงเหล็กต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีไว้จองจำนักโทษอีกแล้ว แต่มันคือสถานที่รวมกลุ่มของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่ให้พลังงานใหม่ๆ แก่พื้นที่แห่งนี้

 

จาก ‘พื้นที่จองจำ’ สู่บทบาทใหม่ทางสังคม

     พื้นที่ 358,330 ตารางฟุตทั่วทั้งคุกเบรดา ถูกส่งมอบให้แก่กลุ่มองค์กรต่างๆ ในปี 2016 เพื่อใช้พื้นที่แห่งนี้สร้างประโยชน์ต่างๆ ให้แก่สังคม

     Mandy Jak ที่ปรึกษาด้านการตลาดและการสื่อสารองค์กรของ VPS association กล่าวว่า “นี่คือความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะเปิดคุกแห่งนี้อีกครั้ง” แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดคุกได้เพียงไม่นาน มีผู้ให้ความสนใจกว่า 300 คน 90 กว่ากลุ่มธุรกิจที่ต้องการจะย้ายเข้ามาทำงานในคุกแห่งนี้ สร้างรายได้และผลประโยชน์มหาศาล

     เธอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อันที่จริง ฉันรู้สึกว่าที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นคุกอีกต่อไปแล้ว ถ้าหากคุณมองไปรอบๆ ห้องลูกกรงเหล็กต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้มีไว้จองจำนักโทษอีกแล้ว แต่มันคือสถานที่รวมกลุ่มของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่ให้พลังงานใหม่ๆ แก่พื้นที่แห่งนี้

     Miguel de Waard หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ 3D Red Panda VR ผู้สนใจที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ของคุกแห่งนี้สร้างออฟฟิศในการทำงาน กล่าวกับสำนักข่าว AFP ว่า “พวกเราตกหลุมรักที่นี่ตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น เพดานที่สูง หน้าต่างบานใหญ่และแสงสว่างที่ลอดเข้ามาในห้อง พวกเราไม่ได้เห็นที่นี่เป็นคุกหรือที่กักขังนักโทษ แต่เมื่อเราออกไปยืนมองข้างนอกลูกกรง เราจะเห็นพวกมันเป็นเเค่ความสวยงามเพียงส่วนหนึ่งของที่แห่งนี้”

     สถานที่แห่งนี้ยังถูกใช้จำลองเป็นสถานที่ที่เอาใจคอเกมอย่าง ‘Prison Escape’ ที่กำลังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันกว่า 350 คน แข่งขันกันหาทางแหกคุกออกไปให้ได้ภายใน 3 ชั่วโมง โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักแสดงกว่า 80 ชีวิต เพื่อให้สถานการณ์ในคุกเบรดาเเห่งนี้สมจริงมากยิ่งขึ้น

 

     

     นอกจากคุกแห่งนี้แล้ว คุกต่างๆ ที่ปิดตัวลงเมื่อ 3 ปีที่แล้วในประเทศนี้ ต่างทยอยเปลี่ยนแปลงไปสู่บทบาทใหม่ทางสังคม เช่น คุกทางตอนเหนือของ Veenhuizen เปิดเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับการคุมขังนักโทษจากประเทศนอร์เวย์ และคุกนักโทษหญิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Zwolle กลายเป็นร้านอาหารชั้นยอดของประเทศที่มีรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย

     รวมถึงคุกในเมืองหลวงอย่าง Amsterdam Overamstel ที่มีมูลค่ากว่า 60 ล้านยูโร กำลังถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่พักอาศัยแห่งใหม่ที่สามารถพักได้หลายหมื่นครอบครัว หรือแม้แต่คุกในเมือง Haarlem ที่ถูกเทศบาลท้องถิ่นขอซื้อจากทางการ พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัย และจะเปิดให้บริการในปี 2019 ที่จะถึงนี้

     เป็นที่น่าตั้งคำถามว่า แล้วประเทศไทยล่ะ ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน จนเกิดปัญหานักโทษล้นคุก รวมถึงความรู้สึกหมดโอกาสและอนาคตในการกลับเข้าสู่สังคมของพวกเขา ปัญหาและมุมมองต่างๆ เหล่านี้จะต้องแก้ไขอย่างไร และเริ่มต้นที่ใคร ถ้าไม่ใช่ ‘พวกเราทุกคน’

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising