×

โลกมีหนาว! ทรัมป์เจอปูตินครั้งแรก และการเจรจาของ 6 ผู้นำที่โลกต้องจับตาในการประชุม G20

05.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ตกลงจะพบกันเป็นครั้งแรกระหว่างการประชุม G20 คาดการณ์ว่าทั้งคู่จะคุยกันเรื่องสงครามซีเรีย ความขัดแย้งในยูเครน และการสอบสวนเกี่ยวกับการแฮกข้อมูลของรัสเซียระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
  • สำนักข่าวของรัสเซียเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ต้องการพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ด้วยเช่นกันในเรื่องสงครามซีเรีย และความขัดแย้งในยูเครนที่ยุโรปและรัสเซียมีจุดยืนที่ต่างกัน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเยอรมนีนั้นจำเป็นต้องจับตามองเช่นกัน เพราะเยอรมนีต้องหันเข้าหาจีนในเวลานี้ เพื่อผลักดันให้ข้อตกลงเรื่องโลกร้อนในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เดินหน้าต่อไป หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัว ในขณะที่จีนเองก็กำลังเจอแรงกดดันจากสหรัฐฯ จากความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี ที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้น

     เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 ที่เมืองฮัมบูรก์ ในวันศุกร์และเสาร์นี้ (7-8 กรกฎาคม) โดยการประชุมระหว่าง 20 ประเทศผู้นำอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจครั้งนี้มีวาระสำคัญคือ เรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในความตกลงปารีส (Paris Agreement) หลังสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัว และการปราบการก่อการร้าย

     การประชุม G20 คือการประชุมระดับโลกที่สำคัญ เพราะประชากรของทั้ง 20 ประเทศรวมกันแล้วคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลก และมีจีดีพีรวมกันคิดเป็น 85%

     ก่อนหน้านี้การประชุม G20 ถูกกำหนดให้มีแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแต่ละประเทศเข้าร่วมประชุม แต่ต่อมาผู้นำประเทศได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการเจรจาธุรกิจมักเกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยนอกรอบของบรรดาผู้นำ ที่ทำให้เวที G20 กลายเป็นเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาดูความสัมพันธ์ของบรรดาประเทศมหาอำนาจ จนหลายครั้งบดบังความสำคัญของวาระการประชุมที่แท้จริง และในการประชุมครั้งนี้ยังเป็นที่จับตามองจากคนทั่วโลกเช่นกัน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ตกลงจะพบกันเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ของผู้นำอีกหลายคู่ ทั้งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จากฝรั่งเศส ที่ต้องการพูดคุยส่วนตัวกับประธานาธิบดีปูตินเช่นกัน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเยอรมนี ในเวลาที่ทั้งคู่จำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อต่อสู้กับสหรัฐฯ

 

Photo: Justin TALLIS/AFP

 

ปูติน-ทรัมป์: การพบกันต่อหน้าครั้งแรกของสองผู้นำ

     ประธานาธิบดีปูตินจากรัสเซียและประธานาธิบดีทรัมป์จากสหรัฐอเมริกา ตกลงที่จะพบกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 7 กรกฎาคม ในระหว่างการประชุม G20 ซึ่งถึงแม้จะเป็นการพูดคุยกันนอกรอบการประชุม แต่การพูดคุยกันระหว่างสองประเทศนี้จะมีการจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่การพูดคุยกันส่วนตัว โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองเคยพูดคุยกันทางโทรศัพท์แล้วถึง 3 ครั้ง

     ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความต้องการที่จะพบกับประธานาธิบดีปูตินมาโดยตลอด แต่ความเห็นภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อความสัมพันธ์ต่อรัสเซียนั้นหลากหลาย บางส่วนเห็นว่าสหรัฐฯ ยังควรวางตัวกับรัสเซีย เพราะสหรัฐฯ เองยังมีจุดยืนขัดแย้งกับรัสเซียในเรื่องสำคัญๆ อย่างความขัดแย้งในยูเครน และสงครามกลางเมืองซีเรีย

     นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนว่า รัสเซียได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแฮกข้อมูล เพื่อแทรกแซงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 หรือไม่ ซึ่งประธานาธิบดีปูตินปฏิเสธข้อกล่าวหานี้

     ก่อนหน้าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาเคยพูดหลายครั้งว่าเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีปูติน จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าโฉมหน้าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้จะเปลี่ยนไป แต่ถึงวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ก็ยังคงตึงเครียดอยู่ เพราะถึงแม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะมีความต้องการส่วนตัวที่จะเป็นมิตรกับรัสเซียมากขึ้น แต่เขาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ในความขัดแย้งยูเครน และสงครามซีเรีย

     แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยเรื่องที่ทั้งสองจะหารือกัน แต่คาดการณ์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะหารือเรื่องดังกล่าวกับรัสเซีย ทั้งสงครามซีเรีย ความขัดแย้งยูเครน และการแฮกข้อมูลระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

     การพบกันระหว่างสองผู้นำจะมีการจับมือและกล่าวต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ สะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียและสหรัฐฯ ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตของทั้งสองประเทศ ดังนั้นทั้งภาษากายและบทสนทนาของทั้งคู่จะถูกเฝ้าจับตาจากสาธารณชนอย่างแน่นอน

 

Photo: CRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

 

มาครง-ปูติน: นโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศสต่อรัสเซียในสมัยของมาครง

     สื่อของรัสเซียเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีมาครงจากฝรั่งเศสวางแผนจะพูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินระหว่างการประชุม G20 เช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีมาครงเคยประกาศนโยบายต่างประเทศไว้ว่า เขาต้องการกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ยุโรปและรัสเซียมีความขัดแย้งกันอยู่ เช่น สงครามซีเรีย และความขัดแย้งในยูเครน อย่างไรก็ตามยังไม่ยืนยันว่าทั้งคู่จะได้มีโอกาสพูดคุยกันหรือไม่

     ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีมาครงและประธานาธิบดีปูตินเคยพูดคุยกันแล้วที่พระราชวังแวร์ซายส์ในเดือนพฤษภาคม และได้หารือเกี่ยวกับ ‘ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี’ ของทั้งสองประเทศ นี่จึงถือเป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับรัสเซีย ที่ผู้นำประเทศมหาอำนาจยุโรปมีท่าทีเปิดรับรัสเซียมากขึ้น

     เราจึงต้องจับตาดูว่าสุดท้ายประธานาธิบดีมาครงจะได้พูดคุยกับประธานาธิบดีปูตินเป็นการส่วนตัวหรือไม่ และจะพูดคุยว่าอย่างไรบ้าง ในเวลาที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังจะเดินทางเยือนฝรั่งเศส ในวันชาติฝรั่งเศสที่ 14 กรกฎาคมนี้

 

Photo: KAZUHIRO NOGI/AFP

 

อังเกลา แมร์เคิล-สีจิ้นผิง: จีนคือพันธมิตรจำเป็นของเยอรมนี

     อีกความสัมพันธ์ที่ต้องจับตาในการประชุม G20 ครั้งนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับจีน ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลจากเยอรมนีเคยกล่าวไว้ว่า การพบกันครั้งแรกของประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีปูตินได้บดบังเนื้อหาใจความสำคัญของการประชุม G20 ครั้งนี้ ที่เธอต้องการผลักดันความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่อไป แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศถอนตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

     แม้เยอรมนียังต้องวางตัวในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องคัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ไม่ว่าจะเป็น การจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ หรือการปฏิบัติต่อ หลิว เสี่ยวโป (Liu Xiaobo) นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย แต่ในจังหวะนี้จีนคือพันธมิตรของเยอรมนี เพราะจีนคือกำลังสำคัญของเยอรมนีในการผลักดันความตกลงปารีสให้เดินหน้าและได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศต่อไป และปล่อยให้สหรัฐฯ อยู่นอกข้อตกลงนี้เพียงไม่กี่ประเทศบนเวทีโลก

     โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลมีกำหนดการร่วมรับประทานอาหารกับ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อหารือเกี่ยวกับวาระการประชุม G20 ร่วมกัน

     นอกจากจีนจะเป็นพันธมิตรที่เยอรมนีต้องหันหน้าเข้าหาในเวลานี้แล้ว จีนเองก็พยายามหันหน้าเข้าหาประเทศมหาอำนาจจากเยอรมนีมากขึ้นเช่นกัน เพราะจีนกำลังเจอแรงกดดันจากสหรัฐฯ ในคาบสมุทรเกาหลี ที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนกดดันเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เกาหลีเหนือเพิ่งประกาศว่า ซ้อมยิงขีปนาวุธข้ามทวีปที่สามารถยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ ได้สำเร็จแล้ว อีกทั้งเรือรบของสหรัฐฯ เพิ่งจะเข้าไปในเขตทะเลจีนใต้ ที่จีนกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าเป็นการ ‘ยั่วยุทางทหารและการเมือง’

     แม้เยอรมนีจะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แต่จีนอาจจำเป็นต้องการลดทอนแรงกดดันด้วยการหาพันธมิตรมากขึ้น

    นอกจากนี้จีนกับเยอรมนียังมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่ต้องรักษาไว้ เพราะหากสหรัฐฯ ตัดสินใจคว่ำบาตรทางการค้ากับจีน ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกของเยอรมนีด้วยเช่นกัน

     อย่างไรก็ตาม การหันหน้าเข้าหาจีนของเยอรมนีเป็นก้าวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้วก่อนหน้านี้เยอรมนีต้องการผนึกกำลังกับประเทศยุโรปและสหรัฐฯ เพื่อคานอำนาจทางการค้าของจีนให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันนโยบายการกีดกันทางการค้า (Protectionism) และตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงโลกร้อน เยอรมนีจึงไม่สามาถทำอะไรได้นอกจากหันหน้าเข้าหาจีน

 

จัสติน ทรูโด กับการกำหนดจุดยืนบนเวทีโลกด้วยตัวเอง

     นอกจากประธานาธิบดีมาครงที่นับว่าเป็นผู้นำรุ่นใหม่ในเวที G20 แล้ว นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด จากแคนาดา จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม G20 เช่นกัน โดยนโยบายต่างประเทศและจุดยืนของแคนาดาในสมัยนายกรัฐมนตรีทรูโดนั้นคือ แคนาดาต้องการกำหนดแนวทางปฏิบัติบนเวทีโลกด้วยตัวเอง

     ท่าทีของแคนาดาต่อเรื่องต่างๆ จึงค่อนข้างหลากหลาย แม้นายกรัฐมนตรีทรูโดจะออกมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรีแมร์เคิลและประธานาธิบดีมาครง ในการกล่าวหาสหรัฐฯ ที่ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส แต่นายกรัฐมนตรีทรูโดยังเลือกที่จะไม่กล่าวหาสหรัฐฯ ตรงๆ และเคยกล่าวไว้ว่าเขาจะไม่ไปนั่งบอกประธานาธิบดีทรัมป์ว่าควรปกครองประเทศเช่นไร เพราะแคนาดาเองก็ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้า และมีพรมแดนติดกับสหรัฐฯ จึงต้องจับตาดูว่าท่าทีของนายกรัฐมนตรีทรูโดต่อความตกลงปารีสในเวที G20 ว่าจะเป็นเช่นไร

 

Cover Photo: JIM WATSON, Odd ANDERSEN/AFP

อ้างอิง:

  • Reuters/AFP
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising