×

อิหม่ามหญิงในเดนมาร์ก ผู้พิทักษ์สิทธิสตรีและต่อต้านโรคเกลียดกลัวอิสลาม

24.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ชีริน คานข่าน (Sherin Khankan) อิหม่ามหญิงคนแรกของเดนมาร์ก เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและพยายามจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ที่รู้สึกเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) โดยเฉพาะในสังคมยุโรป
  • การก่อวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการก่อตัวของโรคเกลียดกลัวอิสลามในสังคมต่างๆ ทั่วโลก กลุ่มอิหม่ามหญิง (imamas) และมุสลิมหัวก้าวหน้าจึงออกมาเคลื่อนไหวและต่อสู้ในประเด็นนี้

     ชีริน คานข่าน (Sherin Khankan) คืออิหม่ามหญิงคนแรกของเดนมาร์กวัย 42 ปี เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีและพยายามจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ที่รู้สึกเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) โดยเฉพาะในเดนมาร์กและประเทศอื่นๆ ในยุโรป

     เธอได้ก่อตั้งมัสยิดที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับผู้หญิงขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกน โดยใช้ชื่อว่า ‘Mariam Mosque’ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว โดยมีผู้ไม่ประสงค์ออกนามช่วยสมทบทุนในการจัดตั้งมัสยิดนี้ขึ้นในย่านที่เเพงที่สุดย่านหนึ่งในเมืองหลวงของเดนมาร์ก

     ความตั้งใจแรกของเธอคือ ต้องการที่จะสร้างพื้นที่ให้กับคนทุกกลุ่มที่นับถือมุสลิม โดยเฉพาะผู้หญิง เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลามแล้ว ในวันศุกร์จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในมัสยิด ซึ่งจะมีการฟังเทศน์และพูดคุยเกี่ยวกับหลักศาสนาเพื่อที่จะนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ผู้ชายที่ถูกวางไว้ในตำแหน่งของหัวหน้าครอบครัว จึงมีหน้าที่ที่จะน้อมนำคำสอนและหลักปฏิบัติเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้กับสมาชิกในครอบครัวได้รับรู้และปฏิบัติตาม

     Mariam Mosque จึงถูกก่อตั้งขึ้นโดยชีรินและอิหม่ามหญิงคนอื่นๆ ที่เรียกกลุ่มของตนว่า ‘imamas’ ซึ่งขอสงวนพื้นที่ของมัสยิดนี้ในวันศุกร์ไว้เพื่อให้ผู้หญิงมุสลิมมีโอกาสฟังคำสอนและมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

     ‘imamas’ กลุ่มนี้กำลังสร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญให้แก่โครงสร้างทางสังคมที่ยึดโยงอยู่กับหลักศาสนา พวกเธอยืนยันว่า มัสยิดแห่งนี้จะช่วยต่อสู้กับโรคเกลียดกลัวอิสลามที่กำลังขยายตัวเป็นวงกว้างในยุโรป และกำลังถูกโจมตีอย่างหนักจากการก่อการร้ายและประเด็นต่างๆ ที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมทุกคน เช่น เรื่อง burkinis ตลอดจนแง่มุมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต

 

Photo: en.qantara.de

 

อิหม่ามหญิงเคยเกิดขึ้นเเล้วในอดีต

     ถึงแม้ว่าสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่าง Mariam Mosque จะดูแปลกในสายตาของคนทั่วไป แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มัสยิดที่มีอิหม่ามหญิงปกครองดูแลเคยเกิดขึ้น อิหม่ามหญิงเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ในประเทศจีน ก่อนที่จะเผยแพร่ไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกาและแอฟริกาใต้ก็มีอิหม่ามหญิงที่คอยเทศนาสั่งสอนและให้คำปรึกษากับผู้หญิงมุสลิมเช่นกัน

     การก่อวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2001 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการก่อตัวของโรคเกลียดกลัวอิสลามในสังคมต่างๆ ทั่วโลก บางสังคมแต่งเติมความน่ากลัวให้กับศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมจนเกินจริง (Demonization) ก่อนที่จะเกิดอุปาทานหมู่และการเหมารวมขึ้น ชีรินจึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ โดยเธอกล่าวว่า “มีพวกก่อการร้าย มุสลิมหัวรุนแรงและปีศาจร้าย ใช้ชื่อศาสนาของฉันในการทำความชั่ว ดังนั้น ฉัน อิหม่ามหญิง และมุสลิมหัวสมัยใหม่ทุกคนจึงออกมาต่อสู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ทุกคนได้รับรู้”

 

Photo: en.qantara.de

 

ทุกศาสนา มีพื้นที่สำหรับทุกคน?

     ลิซซี ราสมูสเซน (Lissi Rasmussen) บาทหลวงและผู้อำนวยการศูนย์การอยู่ร่วมกันในสังคม (Center for Coexistence) กล่าวว่า “ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ มุสลิมสัญชาติเดนนิชรุ่นใหม่ไม่นิยมไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามมัสยิดทั่วไปในเมืองต่างๆ กันแล้ว เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าคนที่อยู่ที่นั่นมีแต่คนที่พูดเรื่องการเมือง มัสยิดเหล่านั้นเป็นพื้นที่ของคนรุ่นเก่า พวกเขารู้สึกว่าที่แห่งนั้นไม่ใช่ที่สำหรับตัวเอง” ดังนั้น Mariam Mosque จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับพวกเขา

     ปัจจุบันมัสยิดที่อยู่ภายใต้การดูเเลของอิหม่ามหญิงในเดนมาร์กมีสมาชิกกว่า 100 คน พร้อมทั้งยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนศาสนาในวันอาทิตย์ให้แก่เด็กๆ และดูแลเรื่องการแต่งงานและการหย่าร้างของชาวมุสลิมในละเเวกนั้นอีกด้วย

     ชีรินเริ่มทำหน้าที่อิหม่ามหญิงของตนโดยเฉพาะในวันศุกร์ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และอีกไม่ถึงเดือนก็จะครบรอบ 1 ปีสำหรับความพยายามของเธอในการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงมุสลิม นำเสนอมุมมองใหม่และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนาที่เธอนับถือให้แก่คนในสังคมได้รับรู้

     เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในมุมมองของฉัน มัสยิดเป็นพื้นที่ที่เราสามารถจะสวดมนต์ร่วมกันได้ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และเป็นที่ที่ทั้งอิหม่ามหญิงและชายต่างนำสวดร่วมกันได้

     “พวกเรากำลังพูดถึงหลักคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานที่สอดคล้องกับช่วงเวลาและสภาพสังคมของพวกเรา เรากลับไปหาสิ่งนี้เพื่อใช้อ้างอิงถึงสิ่งที่พวกเราทำ เรากำลังพูดถึงเรื่องสิทธิสตรี มันไม่ใช่ปรากฏการณ์หรือค่านิยมที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก แต่มันเป็นหนึ่งในหลักคิดของศาสนาอิสลาม”

 

Cover Photo: Betina Garcia/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X