×

พบกับ Arnav Sharma เด็กอายุ 11 ที่ไอคิวสูงกว่าไอน์สไตน์และฮอว์คิง

30.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • อาร์นาฟ ชาร์มา (Arnav Sharma) เด็กชายเชื้อสายอินเดียวัย 11 ปี มีไอคิวอยู่ที่ 162 หลังทำบททดสอบ Mensa Test ซึ่งสูงกว่านักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และสตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาคนสำคัญ
  • แม่ของอาร์นาฟกล่าวว่า “ฉันเริ่มเห็นแววด้านคณิตศาสตร์ เมื่อตอนเขาอายุ 2 ขวบครึ่ง เขาสามารถนับเลขได้เกิน 100 จนฉันต้องหยุดสอนเขานับต่อ เพราะฉันรู้ว่าตัวเลขที่เขาท่องจะไม่มีวันสิ้นสุด”
  • อาร์นาฟ กลายเป็นหนึ่งในผู้มีคุณสมบัติเข้าเป็นสมาชิกองค์กร Mensa Club ที่รวมคนเก่งหัวกะทิที่มีระดับไอคิวสูงสุดอยู่ใน 2% ของประเทศไว้ในองค์กรนี้ เพื่อสร้างประโยชน์ต่างๆในแก่สังคมโลก

     อาร์นาฟ ชาร์มา (Arnav Sharma) เด็กชายวัย 11 ปี จากเมืองเรดดิ้ง ในเบิร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ ทำแบบทดสอบประเมินไอคิวหรือวัดระดับความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา การคิดคำนวณ การใช้เหตุผลและการเชื่อมโยง ได้คะแนนสูงกว่านักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และสตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาคนสำคัญ

 

 

     โดยเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของระดับไอคิวของคนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราว 85-114 ถ้าเกิน 140 จะถือว่าอยู่ในระดับที่ฉลาดมาก อาร์นาฟสามารถทำคะแนนได้อยู่ในระดับไอคิว 162 ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากๆ (Extraordinary Genius) แทบจะเรียกได้ว่าเป็นระดับคะแนนที่สูงที่สุดที่ผู้เข้าทำการทดสอบจะสามารถทำได้จากการทำบททดสอบนี้ (the maximum possible result)

     เด็กชายวัย 11 ปีรายนี้ให้สัมภาษณ์กับ The Independent ว่า “ผมไม่ได้เตรียมตัวในการสอบครั้งนี้เลย ไม่เคยเห็นหน้าตารูปแบบข้อสอบที่ผมได้ทำการทดสอบมาก่อนด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ผมทำคือผมพยายามจะมีสติ มีสมาธิ และไม่ฟุ้งซ่าน

     “ข้อสอบวัดระดับไอคิว Mensa Test ค่อนข้างยาก น้อยคนมากที่จะผ่านและผมก็ไม่ได้คาดหวังที่จะผ่านเช่นกัน”

     แต่ในการสอบครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่วัดหลักความสามารถในการใช้เหตุผล (verbal reasoning ability) ก็ทำให้เด็กชายคนนี้ถูกจัดอันดับให้อยู่ใน 1% ที่ทำคะแนนได้สูงที่สุดของประเทศในการทดสอบวัดระดับไอคิว

 

     

     มีชา ธัมมีจา ชาร์มา (Meesha Dhamija Sharma) แม่ของอาร์นาฟกล่าวว่า เธอทำได้แค่อวยพรให้ลูกโชคดีในการสอบ เมื่อผลสอบออกมาเธอไม่อยากจะเชื่อว่า ลูกของเธอทำได้

     “เมื่อตอนอาร์นาฟอายุได้ 1 ขวบครึ่ง ฉันพาลูกชายกลับไปเยี่ยมญาติๆ ของเขาที่อินเดีย ยายของอาร์นาฟพูดกับฉันและเขาว่า อาร์นาฟจะเรียนเก่งและทำมันได้ดี ตอนนั้นฉันไม่เชื่อเธอ ฉันคิดแค่ว่าเธอต้องการพูดให้ฉันมีความสุขเท่านั้น แต่จริงๆแล้วเธอพูดถูก

     “ฉันเริ่มเห็นแววด้านคณิตศาสตร์เมื่อตอนเขาอายุ 2 ขวบครึ่ง เขาสามารถนับเลขได้เกิน 100 จนฉันต้องหยุดสอนเขานับต่อ เพราะฉันรู้ว่าตัวเลขที่เขาท่องจะไม่มีวันสิ้นสุด”

     ขณะนี้อาร์นาฟกำลังเรียนอยู่ที่ Crosfields School แถบชานเมืองเรดดิ้ง และได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนชื่อดังของอังกฤษอย่างวิทยาลัยอีตันและเวสต์มินสเตอร์ ที่อัตราการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาต่ออยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก

 

     

     นอกจากจะมีพรสวรรค์ด้านเชาวน์ปัญญาแล้ว อาร์นาฟยังเป็นเด็กที่มีความสามารถด้านการร้องเพลงและการเต้น เขาเคยผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ Reading’s Got Talent for Dancing เมื่อตอนที่เขาอายุได้ 8 ปี และกิจกรรมที่เขาชอบทำในเวลาว่าง ได้แก่ การเล่นเกมถอดรหัส เล่นแบดมินตัน เปียโน ว่ายน้ำ และชอบอ่านหนังสือ

     เรามีตัวอย่างบททดสอบวัดไอคิวของ British Mensa มาให้ได้ลองฝึกทำกันด้วย (มีเฉลยด้านล่าง)

     1. นำตัวเลขต่อไปนี้ ‘2 3 5 10 15 20 25 50’ 3 จำนวน (ซ้ำได้) มาบวกกันให้ได้เท่ากับ 60 จะได้ทั้งหมดกี่รูปแบบ

     2. เรียงตัวอักษร ‘DUE CROP’ ให้กลายเป็นศัพท์คำใหม่ที่ยังคงความหมายเดิม

     3. สมมติว่าคุณกำลังใช้เครื่องคิดเลข โดยกดตัวเลขเรียงกันตามโจทย์นี้ ‘6 ? 2 ? 2 ? 4 ? 2 = ____’ จากโจทย์ข้างต้น ? แทนเครื่องหมาย +, -, x, ÷ อย่างละ 1 เครื่องหมาย ผลลัพธ์ที่มากที่สุดที่คำนวณได้จะเท่ากับเท่าไร

 

อ้างอิง:

FYI

Mensa คือองค์กรที่พิเศษมากๆ องค์กรหนึ่งของโลก และคนที่จะเข้าเป็นสมาชิกขององค์กรได้จะต้องมีระดับไอคิวติดอันดับหัวกะทิใน 2% ของประเทศเท่านั้น

Mensa ก่อตั้งขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์และทนายความชื่อ แลนซีลอต ลีโอเนล แวร์ (Lancelot Lionel Ware) และ โรแลนด์ เบอร์ริลล์ (Roland Berrill) ในปี 1946 ที่เมืองออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ก่อนที่องค์กรนี้จะแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายที่สำคัญในการพิสูจน์และเสริมสร้างสติปัญญาของมนุษย์เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

 

(เฉลยแบบทดสอบ):

     1. 4 รูปแบบ (20, 20, 20) (25, 20, 15) (25, 25, 10) (50, 5, 5)

     2. Produce

     3. 18 จากการกดเครื่องคิดเลขดังนี้  6 ÷ 2 + 2 x 4 – 2

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising