×

4 เรื่องน่าสนใจของ Maryam Mirzakhani นักคณิตศาสตร์หญิงชาวอิหร่านผู้ล่วงลับที่โลกต้องจดจำ

17.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Maryam Mirzakhani นักคณิตศาสตร์ชาวอิหร่าน ผู้ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการคณิตศาสตร์โลก เสียชีวิตในวัยเพียง 40 ปี ด้วยโรคมะเร็ง สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ชาวอิหร่าน ครอบครัวของเธอ รวมถึงเพื่อนร่วมงานทุกคนในวงการคณิตศาสตร์โลก
  • Maryam เป็นนักคณิตศาสตร์หญิงคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลเหรียญฟิลด์ส (Fields Medal) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักคณิตศาสตร์ในวงการคณิตศาสตร์โลก อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘รางวัลโนเบลสาขาคณิตศาสตร์’ เมื่อปี 2014

     Maryam Mirzakhani (มัรยัม เมอร์ซาคานี) นักคณิตศาสตร์ชาวอิหร่าน ผู้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการคณิตศาสตร์โลก จากรางวัลมากมายที่เธอได้รับ รวมถึงงานวิจัยชั้นยอดต่างๆ มากมาย

     มัรยัมเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1977 เธอเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียน ก่อนที่จะค้นพบว่า เธอชอบการคิดคำนวณและหาคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์ หลังจากเล่นทายโจทย์ปัญหากับน้องชาย

 

Photo: mathemetics.stanford.edu

  1. ผู้หญิงคนแรกที่ได้ร่วมทีมแข่งคณิตศาสตร์โอลิมปิก

     หลังจากที่รู้ว่า ตัวเองเริ่มสนใจคณิตศาสตร์ มัรยัมจึงฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอดเวลาและได้เข้าเรียนที่โรงเรียน Tehran Farzanegan Schools ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กผู้มีความสามารถพิเศษและมีพรสวรรค์ทางด้านต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลอิหร่าน (National Organization for Development of Extraordinary Talents : NODET)

     ก่อนที่เธอจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้าร่วมทีมนักคณิตศาสตร์ของอิหร่าน เพื่อเป็นตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ  จากการเเข่งขันในครั้งนั้น ทำให้เธอกลายเป็น นักคณิตศาสตร์หญิงชาวอิหร่านคนแรกที่คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จในปี 1994 และเธอสร้างสถิติอีกครั้งด้วยการคว้าเหรียญทองอีกหนึ่งสมัย ด้วยการทำคะแนนเต็มได้ในปี 1995 นับเป็นการเเจ้งเกิดและเปิดประตูสู่โอกาสที่ยิ่งใหญ่ของเธอในวงการคณิตศาสตร์โลกอย่างแท้จริง

 

  1. รอดตายปาฏิหาริย์

     มัรยัมเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Sharif University of Technology ในกรุงเตหะราน เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1998 ขณะที่เธอกำลังเดินทางกลับ หลังจากได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันตอบโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่เมืองอาห์วาซ (Ahwaz) ทางด้านทิศตะวันตกของประเทศ รถบัสของเธอเกิดเสียหลัก พุ่งชนเข้ากับเนินเขาอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้คนขับรถทั้ง 2 คน รวมกับตัวแทนมหาวิทยาลัยคนอื่นๆ อีก 7 คนเสียชีวิต

     แม้จะรอดตายอย่างปาฏิหาริย์ และเป็นเพียงไม่กี่คนที่รอดชีวิต แต่เธอก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน

 

  1. นักคณิตศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับ Fields Medal

     มัรยัมเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง Harvard University ก่อนที่จะเข้ามาเป็นอาจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่ Princeton University และย้ายมาประจำที่ Stanford University เมื่อปี 2008

     เธอได้รับคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลเหรียญฟิลด์ส (Fields Medal) ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักคณิตศาสตร์ในวงการคณิตศาสตร์โลก รางวัลนี้จะมอบให้แก่นักคณิตศาสตร์ 2-4 คน ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี ในการประชุมคณิตศาสตร์นานาชาติ ที่จัดโดยสหภาพคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Mathematics Union หรือ IMU) ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี เพื่อเป็นเกียรติให้แก่นักคณิตศาตร์และนักวิจัยหนุ่มสาวที่อุทิศตนให้แก่วงการนี้ อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘รางวัลโนเบลสาขาคณิตศาสตร์’ เลยก็ว่าได้

     นอกจากนี้มัรยัมยังเป็นนักคณิตศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1936 อีกด้วย

 

 

  1. แรงบันดาลใจของผู้หญิงอิหร่าน

     เธอพบรักกับสามีของเธอ Jan Vondrák  ขณะที่ทั้งคู่เป็นอาจารย์ที่ Stanford University และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คน ชื่อ Anahita ก่อนที่เธอจะตรวจพบว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็ง เมื่อปี 2013 และเสียชีวิตลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (15 กรกฎาคม)

     การสูญเสียครั้งนี้สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ชาวอิหร่าน ครอบครัวของเธอ รวมถึงเพื่อนร่วมงานทุกคนในวงการคณิตศาสตร์โลก

     นอกจากงานวิจัยและผลงานต่างๆ มากมายที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่วงการนี้แล้ว การจากไปของเธอยังเป็นพลังเล็กๆ ที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอิหร่านด้วยเช่นกัน

     อิหร่านถือเป็นประเทศมุสลิมที่มีกฎระเบียบข้อบังคับทางศาสนาที่คนในประเทศนี้จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องเครื่องแต่งกายของผู้หญิงอิหร่าน มีการระบุไว้ว่า ผู้หญิงอิหร่านทุกคนจะต้องสวมใส่ฮิญาบคลุมศีรษะตลอดทุกครั้ง โดยเฉพาะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ออกอากาศทางโทรทัศน์หรือตามหน้าสื่อต่างๆ

     ภาพข่าวการจากไปของมัรยัมบนหน้าสื่อหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลที่ไม่ได้คลุมฮิญาบ ถูก (อนุญาต) ให้ตีพิมพ์ออกไป แม้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้มงวดก็ตาม เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ผู้หญิงชาวอิหร่านคนนี้ที่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศชาติและวงการคณิตศาสตร์โลกอย่างมากมาย

     ฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rouhani) ประธานาธิบดีของอิหร่านได้ออกมายกย่องเธอให้เป็นต้นแบบของคนในชาติ ที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศในเวทีระดับโลก และยังเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้หญิงชาวอิหร่านอีกมากมาย ให้เดินทางตามรอยเท้าของเธอในวงการคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โลก

     นอกจากนี้รัฐสภาของอิหร่านยังได้เร่งแก้ไขกฎหมาย อนุญาตให้เด็กที่เกิดจากแม่ชาวอิหร่าน แต่มีพ่อเป็นชาวต่างชาติและไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม มีสิทธิ์ได้รับสัญชาติอิหร่านด้วย (เนื่องจากสามีของมัรยัมเป็นชาวเช็ก จึงทำให้ลูกสาวของเธอไม่ได้รับสัญชาตินี้ตามกฎหมายเดิม) เพื่อเป็นเกียรติต่อการจากไปของเธอและให้ครอบครัวของเธอเดินทางเข้าอิหร่านได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

     แม้ว่านักคณิตศาสตร์หญิงชื่อก้องโลกชาวอิหร่านผู้นี้จะจากไปแล้ว ด้วยวัยเพียง 40 ปี เเต่เราเชื่อว่า ทุกสิ่งที่เธอได้ทำบนเส้นทางชีวิตสายนี้ ได้บรรลุผลเกินจุดประสงค์ที่เธอตั้งใจไว้เเล้วว่า

     “ฉันคงจะมีความสุขมาก ถ้าสิ่งที่ฉันได้ทำมาทั้งหมด เป็นเเรงกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้หญิงสาวทุกคน (โดยเฉพาะชาวอิหร่าน) ให้หันมาสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น

     “และกล้าที่จะเดินทางตามความฝันนั้น”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X