×

Virgin Active กับบทเรียนราคาแพงเมื่อแบรนด์อยากสวมบทเป็นฮีโร่

12.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • หลัง True Fitness ประกาศเปิดให้บริการเป็นวันสุดท้ายอย่างกะทันหัน ฟิตเนสหลายเจ้าแข่งขันมอบโปรโมชั่นเพื่อเยียวยาสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มีแบรนด์ไหนใจป้ำเท่ากับ Virgin Active ที่ให้สมาชิก True Fitness ใช้บริการฟรีนานเกือบเดือน นำมาสู่แรงต้านจากสมาชิกเดิมที่มองว่าไม่แฟร์
  • สมาชิก Virgin Active บางส่วนมองว่านี่เป็นการตลาดของแบรนด์ที่อยากดึงสมาชิกใหม่ให้มาสมัครมากที่สุด และการเข้าใช้บริการฟรีของสมาชิก True Fitness ทำให้ความหนาแน่นของสถานที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
  • สมาชิก True Fitness มองว่านี่เป็นแคมเปญซื้อใจที่ดี เพียงแต่ควรเพิ่มรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อความเป็นธรรมกับลูกค้า Virgin Active และรัฐบาลควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดชี้บทเรียนจากกรณีนี้คือต้องคิดให้รอบด้าน และไม่จำเป็นต้องตามทุกกระแส

     ในโลกออนไลน์ขณะนี้ไม่มีเรื่องไหนจะร้อนแรงไปกว่ากรณีดราม่าของ Virgin Active Thailand ฟิตเนสระดับพรีเมียมที่ออกแคมเปญเยียวยาลูกค้า True Fitness ที่ปิดตัวลงอย่างกะทันหันโดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า ด้วยการเปิดให้ใช้บริการได้ฟรีทั้ง 5 สาขาจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

     แม้จะเป็นแคมเปญที่ดูเหมือนจะได้ใจสมาชิก True Fitness ไปเต็มๆ แต่สิ่งที่ได้รับกลับไม่ใช่เสียงชื่นชม แต่เป็นคอมเมนต์ไม่พอใจอย่างท่วมท้นนับพันข้อความจากสมาชิก Virgin Active ที่มองว่าแคมเปญนี้ไม่แฟร์กับพวกเขาในฐานะสมาชิกผู้เสียเงินอย่างสม่ำเสมอ

 

    

     หลายคนมองว่านี่เป็นการตลาดแบบฉวยโอกาสที่ตั้งใจจะกอบโกยสมาชิกจาก True Fitness ให้ได้เยอะที่สุด บางคนมองว่านี่เป็นก้าวที่ผิดพลาด และอาจทำให้ฟิตเนสแบรนด์ดังระดับโลกอยู่ในภาวะวิกฤต ขณะที่ลูกค้า True Fitness มองว่าเป็นแคมเปญที่แสดงถึงน้ำใจของบริษัทฟิตเนสด้วยกัน

    ไม่ว่าจะมองในมุมไหน เราก็สามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้ทั้งนั้น ดังนั้นแทนที่จะอ่านคอมเมนต์แบบเอามันแต่เพียงอย่างเดียว THE STANDARD อยากชวนคุณมาถอดบทเรียนของกรณีดังกล่าวอย่างเจาะลึกและรอบด้านด้วยการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องในทุกฝ่าย

 

ก้าวที่พลาดของ Virgin Active

     หลังจาก True Fitness สาขา Exchange Tower อโศก ได้ติดประกาศเปิดให้บริการเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา ฟิตเนสเจ้าดังหลายแบรนด์ต่างพากันออกแคมเปญโปรโมชันรองรับลูกค้าจาก True Fitness กันทั้งนั้น

    เริ่มจาก WE Fitness ที่ประกาศโปรโมชั่นในวันถัดมาด้วยการมอบส่วนลดค่าสมาชิกเหลือเพียงเดือนละ 1,300 บาท แต่สามารถเข้าใช้บริการได้เฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ ด้าน The LAB ที่มี 2 สาขาคือสุขุมวิท และสีลม ประกาศมอบสิทธิพิเศษให้สมาชิก True Fitness ที่ได้รับผลกระทบให้ใช้บริการฟรี 1 สัปดาห์ และใช้บริการเทรนเนอร์ส่วนตัวได้ฟรี 1 ครั้ง

 

 

     แต่ก็ไม่มีรายไหนใจป้ำเท่ากับ Virgin Active ที่ประกาศให้สมาชิก True Fitness เข้ามาใช้บริการได้ฟรีทุกสาขาจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน โดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จนเป็นที่มาของเสียงไม่พอใจจากลูกค้าเดิม และทำให้ทาง Virgin Active ต้องออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมา

     โดยแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ที่ผ่านมา โดยมีใจความว่า Virgin Active ขอบคุณสำหรับคำแนะนำและกำลังใจที่มีมาโดยตลอด แต่เชื่อว่ามีลูกค้าจำนวนมากที่ถูกเอาเปรียบจาก True Fitness ในฐานะแบรนด์ผู้นำด้านฟิตเนสจึงไม่อาจนิ่งดูดายได้ พร้อมอ้างถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ทาง Virgin Active ได้เข้าช่วยเหลือสมาชิกของ The Health and Racquet Club จำนวนหลายพันคน และจ้างงานพนักงานต่ออีกกว่า 4,000 ตำแหน่ง และตอกย้ำว่า “นี่คือ DNA ของเราชาวเวอร์จิ้น”

 

 

    นอกจากนี้ยังระบุว่าต่อจากนี้ Virgin Active จะเข้าไปมีบทบาทคุ้มครองสมาชิกฟิตเนสในประเทศไทย โดยเตรียมหารือกับผู้ประกอบธุรกิจฟิตเนสรายอื่นๆ เพื่อหาข้อตกลงและป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีกในอนาคต

     ล่าสุดทางแบรนด์ยังออกประกาศจาก Virgin Active เกี่ยวกับกรณี True Fitness ส่งตรงถึงสื่อมวลชนต่างๆ โดยยืนยันจุดยืนตามเดิม และเตรียมเสนอให้อุตสาหกรรมฟิตเนสและสุขภาพในประเทศไทยมีร่างข้อปฏิบัติเพื่อปกป้องและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดยป้องกันไม่ให้สถานประกอบการฟิตเนสบังคับสมาชิกให้คงสภาพสมาชิกอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือน และไม่บังคับให้จ่ายค่าสมาชิกล่วงหน้าเป็นจำนวนมากเกินสมควร

    พร้อมอ้างคำกล่าวของ เซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่วงการฟิตเนสและสุขภาพกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบยังเดินหน้าลงทุนสร้างคลับใหม่ๆ และมอบประสบการณ์ดีๆ ให้แก่สมาชิกเสมอ ทำให้เกิดการจ้างงานและกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบซึ่งทำให้วงการนี้เสียชื่อเสียง การกระทำแบบนี้ควรจะหยุดลง และเรากำลังร่างข้อเสนอเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต”

     แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิก Virgin Active แต่อย่างใด เพราะผลที่ได้กลับกลายเป็นเสียงสะท้อนถึงความโกรธเคืองที่มากกว่าเดิม

 

เสียงสะท้อนที่ Virgin Active ไม่รับฟัง

     นอกจากคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์อย่างท่วมท้นในเฟซบุ๊กแล้ว THE STANDARD ได้ต่อสายไปถึง ฌอน แฟม รองผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่เพิ่งตัดสินใจสมัครสมาชิกกับ Virgin Active ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งฌอนเปิดเผยว่า

    “ตอนที่สมัคร พนักงานขายก็บอกว่า Virgin Active เป็นคลับฟิตเนสที่เอ็กซ์คลูซีฟมากๆ คนที่มาใช้บริการจะไม่เยอะมาก ซึ่งก่อนตัดสินใจผมก็ถามพนักงานขายว่าขอลองเล่นครั้งหนึ่งได้ไหม เขาก็ไม่อนุญาต ผมเลยรู้สึกว่าทำไมตอนที่ผมจะสมัครเขายังไม่ให้ลองเล่นฟรีเลย แต่กับสมาชิก True Fitness ถึงให้เล่นฟรีตั้ง 20 กว่าวัน มันไม่แฟร์มากๆ สำหรับคนที่เสียค่าบริการไปแล้ว”

    นอกจากนี้ฌอนยังเล่าถึงบรรยากาศการเข้าใช้บริการครั้งล่าสุดที่ Virgin Active สาขาสยามดิสคัฟเวอรี ซึ่งจากการสังเกตพบว่ามีผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนสมาชิกต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกัน

    “ถ้าผมเป็นสมาชิก True Fitness ผมก็คงรู้สึกแย่นะ แต่การออกกำลังกายเป็นเรื่องลักซูรี มันไม่ใช่เรื่องจำเป็นถึงขั้นคอขาดบาดตาย ถ้าเขาไม่สามารถเล่นฟิตเนสที่ True Fitness เขาก็ยังมีบ้านให้อยู่ ยังมีอาหารให้กิน และไม่ตายแน่นอน แล้วถ้าเขามีเงินสมัคร True Fitness ได้ เขาก็น่าจะไปสมัครที่อื่นได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นผมไม่เห็นเหตุผลว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาจาก Virgin Active เลย หรือถ้าเขาไม่มีเงินจริงๆ เขาก็ไปวิ่งที่สวนลุมพินี หรือไปออกกำลังกายอย่างอื่นได้ เพราะทางเลือกในการออกกำลังกายวันนี้มีเยอะมาก

    “ในความคิดของผมคือ Virgin Active กำลังมองว่าทุกคนโง่ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้โง่ขนาดนั้น เราเห็นว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคืออยากให้แบรนด์ตัวเองได้ภาพว่าเป็นฮีโร่ช่วยเหลือคนอื่น ทั้งที่จริงๆ อยากได้สมาชิกใหม่เยอะๆ เขากำลังดูถูกลูกค้าตัวเองอยู่”

    ด้านสมปิติ เอื้อวิทยา Brand Director ของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่เป็นสมาชิก Virgin Active ระบายความอัดอั้นไม่ต่างกันว่า การที่ True Fitness ปิดตัว ไม่ใช่ความผิดของ Virgin Active เพราะฉะนั้น Virgin Active ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นแม่พระ ซึ่งถ้าอยากเป็นแม่พระจริงๆ ควรจะซื้อกิจการจาก True Fitness หรือเช่าสถานที่ใหม่เพื่อรองรับลูกค้าจาก True Fitness ไปเลย

    “การที่เราจ่ายเงินเดือนละเกือบ 3,000 บาท ก็ต้องคาดหวังว่าสังคมในยิมจะเป็นคนที่สามารถจ่ายเงินได้เดือนละ 3,000 บาทเหมือนกัน แต่นี่คือคุณปล่อยให้เราจ่ายค่าสมาชิก 3,000 บาท แต่คุณให้ลูกค้า True Fitness มาเล่นฟรีเกือบ 1 เดือน แต่ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินหมุนเวียนของคุณมันไม่ได้มาจากพวกเราเหรอ

    “ส่วนตัวก็เคยถูกลอยแพมาจาก California Wow ฟิตเนสเหมือนกัน แล้วสุดท้ายก็ต้องเดินคอตกไปเสียเงินสมัครที่อื่น ไม่เห็นจะต้องเรียกร้องอะไรเลย คือเราจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์และความเอ็กซ์คลูซีฟ เราต้องการความเป็นส่วนตัว ถ้าใครจ่ายเงินได้ก็มาเลย แต่ให้เข้ามาฟรีๆ แบบนี้มันไม่แฟร์สำหรับสมาชิกเดิมทุกคน”

    สำหรับความเคลื่อนไหวของ Virgin Active ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สมปิติมองว่าเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตาย เพราะเชื่อว่าสมาชิกเดิมไม่มีใครพอใจแน่นอน

    “ส่วนตัวไม่คาดหวังอะไรจาก Virgin Active แล้ว เพราะรู้สึกว่าเป็นแบรนด์ที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว ภาพมันลบไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังรู้สึกว่ากำลังจ่ายเงินให้ลูกค้า True Fitness มาเล่นฟรี ซึ่งคงไม่มีฟิตเนสที่ไหนในโลกเขาทำกันแบบนี้หรอก”

   

เสียงสะท้อนจากลูกค้า True Fitness ผู้เสียหายที่รอการเยียวยา

     ด้านสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการปิดตัวกะทันหันของ True Fitness อย่าง เจนจิตรา ตันติกาญจน์ นักเขียน และสไตลิสต์ ระบุว่า ส่วนตัวยังโชคดีที่เพิ่งจ่ายเงินค่าสมาชิกไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และยังไม่ถึงรอบบิลบัตรเครดิต จึงสามารถติดต่อทางธนาคารให้ระงับยอดไว้ได้ทัน ขณะที่บางคนเพิ่งจ่ายค่าสมาชิกตลอดชีพมูลค่านับแสนบาทไป ซึ่งขณะนี้ผู้เสียหายนับพันได้รวมตัวกันเพื่อร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ต่อไป

 

  

     โดยเจนจิตราเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศที่เกิดขึ้นในวันที่รู้ตัวว่าฟิตเนสที่ใช้บริการเป็นประจำกำลังจะปิดตัวลงว่า

    “วันที่เขาประกาศว่าจะปิด พอไปถึงตอนเย็นๆ ก็เห็นว่าเขาเขียนเป็นลายมือลวกๆ ว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ทุกคนก็เริ่มงง เพราะไม่มีพนักงานสักคนที่อยู่ตรงนั้นเลย มีแค่พนักงานที่ดูแลเรื่องผ้าเช็ดตัว ซึ่งบอกว่าพนักงานขายและคนอื่นๆ เริ่มทยอยหนีกันไปตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว สมาชิกที่ไม่รู้จักกันก็เริ่มพูดคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ทราบว่า True Fitness ค้างค่าเช่าสถานที่ และไม่ได้จ่ายเงินเดือนพนักงานมา 3-4 เดือนแล้ว เราก็เลยรวมตัวกันในกลุ่มไลน์ และปรินต์ QR Code ของกลุ่มแปะไว้ที่หน้าฟิตเนส เพื่อจะรวบรวมสมาชิกให้ได้เยอะที่สุด

    “ด้วยความที่เขาเปิดมาเป็นสิบๆ ปี ทุกคนก็เชื่อว่าเขาคงไม่เจ๊งง่ายๆ หรอก แต่พอเขาเริ่มทยอยปิดสาขา คนก็เริ่มงง แต่เราก็ไม่ได้เอะใจ เพราะคิดว่าเขาปิดแค่สาขานั้นเพราะไม่มีลูกค้าหรือเปล่า จนสุดท้ายถึงมารู้ว่าเขากำลังจะปิดตัวเหมือนกัน”

    สำหรับแคมเปญเยียวยาลูกค้า True Fitness จากทาง Virgin Active เจนจิตรามองว่าส่วนตัวเข้าใจว่าสมาชิก Virgin Active คงไม่พอใจแน่นอน เพราะปล่อยให้คนมาเล่นแบบฟรีๆ แต่ก็คิดว่าทาง Virgin Active ฉลาดมากที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะให้สมาชิกใหม่ๆ ได้เข้ามาลองเล่นเพื่อโอกาสในการขายสมาชิกเพิ่มในอนาคต

    “ถ้าเราเป็นผู้เคราะห์ร้ายก็ต้องรู้สึกดีอยู่แล้วล่ะ แต่ถ้าเป็นสมาชิก Virgin Active เขาคงเซ็ง แต่จากที่ลองไปเล่นที่ดิ เอ็มควอเทียร์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก็เห็นว่าคนไม่เยอะมาก เพราะสาขานี้ค่อนข้างใหญ่ น่าจะรองรับคนได้เยอะ แต่บางที่ก็ได้ยินมาว่าคนล้นเลยเหมือนกัน” นอกจากนี้เจนจิตรายังเสนอด้วยว่าต่อไปรัฐบาลควรมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้ซ้ำรอยในอนาคต

    เช่นเดียวกับ ปริญญา โกดี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ ของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง สมาชิกของ True Fitness ที่เพิ่งเสียค่าสมาชิกรายปี 16,000 บาท ไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมระบุว่า แคมเปญของ Virgin Active มองได้ 2 มุม ซึ่งในมุมของสมาชิก True Fitness มองว่าเป็นแคมเปญที่ดีมาก และเหมาะกับสังคมไทย

    “ถึงแม้ Virgin Active จะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่เขาก็ยังมีแคมเปญออกมาช่วยเหลือ และรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็รู้สึกแฮปปี้ที่มีบริษัทฟิตเนสมาให้ความช่วยเหลือ

    “แต่ถ้ามองในมุมของลูกค้า Virgin Active แคมเปญนี้จะโอเคมากถ้าเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้าไป เช่น อาจจะให้สิทธิใช้ฟรีแค่ 5 ครั้งถึงสิ้นเดือน หรือใช้ได้เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ที่คนมาใช้บริการไม่เยอะมาก แบรนด์ต้องมีความรอบคอบมากขึ้น ไม่อย่างนั้นลูกค้า Virgin Active อาจจะรู้สึกไม่แฟร์สำหรับพวกเขา”

     สำหรับความรู้สึกที่ถูก True Fitness ลอยแพ ปริญญาระบุว่า รู้สึกเหมือนคนออกกำลังกายและคนรักสุขภาพกำลังตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนต่างชาติ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ถือหุ้นโดยคนไทย 100% ที่ผ่านมาจึงถูกต่างชาติเชิดเงินหนีโดยที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้

    ซึ่งหลังจากนี้หากจะสมัครสมาชิกกับฟิตเนสรายอื่นๆ ส่วนตัวคงต้องคำนึงถึงเรื่องทุนจดทะเบียน และความมั่นคงของบริษัทเป็นหลัก และอาจจะไม่สมัครในระยะยาวอีกต่อไปแล้ว

 

บทเรียนการตลาดที่อาจสายเกินไป

     จากกระแสดราม่าที่เกิดขึ้น THE STANDARD ขอให้ สโรจ เลาหศิริ จากเพจสโรจขบคิดการตลาด ช่วยวิเคราะห์ถึงบทเรียนที่ได้จากกรณีที่เกิดขึ้น โดยสโรจมองว่านี่คือการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาด ขณะที่การแก้ปัญหาที่ตามมาก็ไม่ดี เพราะพอเกิดปัญหาก็แถลงการณ์โดยอ้างถึงสิ่งที่ทำในแอฟริกาใต้ และต้องการจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ในประเทศไทย แต่สิ่งที่พลาดคือ ลืมคิดถึงลูกค้าปัจจุบัน

 

 

    “ปกติเวลาเจอกระแสแบบนี้คุณต้องอธิบายในประเด็นที่เขาด่าคุณ แต่ตอนนี้คำแถลงที่ออกมาดันไปเบี่ยงประเด็นเป็นในเชิงว่าแบรนด์กำลังเสียสละ และกำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในการคุ้มครองสมาชิกทั้งหลาย แต่ยังไม่ได้แก้ปมที่คนอยากจะรู้ ดังนั้นถึงแม้เรื่องจะเงียบ แต่ปมนี้จะยังอยู่ และรอวันปะทุเท่านั้น

    “สิ่งที่แบรนด์ต้องคำนึงถึงคือต้องคงประสบการณ์ที่ดีเอาไว้ เพราะเขามีพื้นที่ที่รองรับลูกค้าได้จำกัด เครื่องเล่นก็จำกัด ฉะนั้นยิ่งเติมคนมาเยอะเกินไป ลูกค้าเดิมก็อาจจะรู้สึกว่าประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับไม่ดีเท่าที่เคยคิดไว้ ในขณะที่จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้ว นอกจากนี้พอประกาศให้คนเข้ามาใช้ฟรี สมาชิกเดิมก็อาจจะรู้สึกว่าทำไมฉันต้องมารับกรรมด้วย ฉันต้องมาเสียสละด้วยเรื่องพวกนี้เหรอ ทั้งๆ ที่ฉันจ่ายเงินอย่างถูกต้อง ก็คงถูกโดนด่าได้ง่ายๆ

    “ถ้า Virgin Active อยากจะช่วยสมาชิก True Fitness ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่แปลกๆ คือให้คนที่โดนเทมาเล่นที่ฉันก่อนก็ได้ มาใช้เครื่องฉันฟรี ซึ่งถ้าจะใจป้ำจริงๆ ก็ต้องคุยกับสมาชิกเดิมถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน แล้วเยียวยาสมาชิกเดิมด้วยการประกาศว่าจะไม่เก็บค่าบริการทั้งเดือน จากนั้นค่อยขอความร่วมมือกับสมาชิกทุกคน ซึ่งที่สุดแล้วก็คงมีลูกค้าบางส่วนที่จะรู้สึกได้ว่า ‘ถามฉันหรือยัง’ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงอยู่ดี”

    เมื่อถามว่าถึงจุดวิกฤตของแบรนด์ Virgin Active หรือยัง สโรจมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะแม้จะมีภาพลบว่าเป็นแบรนด์ที่ฉวยโอกาสอยู่บ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่สมาชิก Virgin Active ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจครั้งนี้ตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง วันนั้นจะเป็นวิกฤตของแบรนด์อย่างแน่นอน นอกจากนี้สโรจยังทิ้งท้ายด้วยข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ได้กับแบรนด์ทุกแบรนด์ว่า

    “ต้องคิดรอบด้าน ไม่ใช่ทุกกระแสที่ต้องตาม ไม่จำเป็นต้องฉวยทุกโอกาส แต่ให้คิดก่อนว่าจะเล่นดีไหม คิดให้รอบว่าจะส่งผลกระทบกับใครบ้าง โดยเฉพาะลูกค้าปัจจุบันที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง”

    ที่สุดแล้วคงต้องติดตามต่อไปว่าบทส่งท้ายของเรื่องนี้จะปิดฉากลงแบบไหน Virgin Active จะยังสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้ต่อไปหรือไม่ หรือนี่คือก้าวที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ที่จะทำให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสหราชอาณาจักรแบรนด์นี้กลายเป็นตำนานในประเทศไทยเช่นเดียวกับ True Fitness และ California Wow เหมือนที่เคยเป็นมา

 

 

ภาพประกอบ: AeA oranun

Photo:  Virgin Active Thailand, Facebook 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising