×

ส่อง ‘คุกธนบุรี’ เรือนจำแห่งแรกในโลกที่นำ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ มาปฏิบัติเต็มรูปแบบ

19.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ประเทศไทยเดินหน้าวางมาตรฐานเรือนจำ โดยนำ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ มาใช้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง และเริ่มขับเคลื่อนทิศทางนี้แล้ว มี ‘เรือนจำพิเศษธนบุรี’ นำร่อง วางเป้าให้เป็นเรือนจำต้นแบบ ปี 2561
  • ขณะที่โลกหลังกำแพงคุก หลายคนอาจไม่เคยรับรู้ ความพยายามสร้างมาตรฐานอาจจะลบภาพไม่ดีของเรือนจำได้บ้าง และจะดีมากถ้าสามารถขยายไปได้ทุกเรือนจำในอนาคต

     18 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวัน ‘เนลสัน แมนเดลา’ (Nelson Mandela) อดีตประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเสมอภาคของคนผิวสี และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 1993 โลกต่างรับรู้ว่ากว่า 27 ปี คือชะตากรรมที่เขาต้องถูกจองจำอยู่หลังกำแพงคุก

     และเพื่อเป็นเกียรติแก่ชายผู้นี้ นานาชาติได้ร่วมกันประชุมถึงการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยตั้งชื่อข้อกำหนดนั้นว่า ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’

     ขณะที่ ‘ประเทศไทย’ โดยกรมราชทัณฑ์ ได้ผสานความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ประกาศขับเคลื่อนนำข้อกำหนดดังกล่าวมาสู่การปฏิบัติเต็มรูปแบบแห่งแรกในโลก โดยได้เลือก ‘เรือนจำพิเศษธนบุรี’ เป็นเรือนจำนำร่อง ตั้งเป้าหมายเป็นเรือนจำต้นแบบในปี พ.ศ. 2561

 

 

คุกไทยแออัด คิกออฟใช้ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’

     Imagine เพลงของนักร้องชื่อดัง จอห์น เลนนอน (John Lennon) ถูกขับร้องประสานเสียงโดยกลุ่มผู้ต้องขังหญิงเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยบางท่อนของเนื้อหามีความหมายถึงการจินตนาการเพื่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนบนโลกใบนี้

     และนี่คือ ‘ก้าวแรก’ เมื่อเหยียบเข้ามายังพื้นที่คุก พื้นที่แห่งการจองจำอิสรภาพ ณ เรือนจำพิเศษธนบุรี ก้าวต่อไปคือการเข้าไปยังแดนคุมขังว่าจะเป็นไปอย่างที่บางคนจินตนาการหรือไม่ โปรดติดตาม

 

 

     เราได้รับข้อมูลว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบปัญหาเรือนจำแออัดจากจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 286,000 คน ขณะที่ความจุเต็มที่รองรับได้ 245,000 คน ส่งผลต่อการบริหารจัดการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีความพยายามในการจัดการให้ได้มาตรฐาน ซึ่งล่าสุดได้ริเริ่มนำ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’​ มาใช้ที่นี่

     คำถามคือรายละเอียดของข้อกำหนดที่ว่านี้คืออะไร

     นี่เป็นข้อกำหนดแห่งสหประชาติที่วางมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการเรือนจำที่ดี รวมทั้งวางมาตรฐานให้มีการเคารพสิทธิของผู้ต้องขัง มีหลักพื้นฐาน 5 ประการคือ

  1. ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์
  2. ห้ามการทรมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ
  3. ให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  4. วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำผิดซ้ำ
  5. ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในเรือนจำ และผู้เข้าเยี่ยมต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา

 

 

     “กรมราชทัณฑ์ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันทีไอเจ ประกาศขับเคลื่อนผลักดันเรือนจำธนบุรีให้เป็นต้นแบบ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา’ เนื่องในโอกาสวันเนลสัน แมนเดลา 18 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังสู่การปฏิบัติเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกในโลก โดยเรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเรือนจำนำร่อง ซึ่งตั้งเป้าเป็นเรือนจำต้นแบบในปี 2561 เพื่อจะมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ และช่วยลดปัญหาการกลับมากระทำผิดซ้ำอีก” นายอายุตม์ สินธพพันธ์ุ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว

     ภายใต้แนวทางดังกล่าวได้มีการดำเนินงานมาก่อนหน้าบ้างแล้ว และกรมราชทัณฑ์ได้มีการก่อสร้างศูนย์เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยภายในเรือนจำและทัณฑสถานเปิดจำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ และบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการทำงานร่วมกับศูนย์นี้

 

 

ส่อง ‘เรือนจำพิเศษธนบุรี’​ คุกไทยนำร่อง มาตรฐานสากล

     เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นความพร้อม และนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน นายยศพนต์ สุธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ได้พาเราไปเยี่ยมชมเรือนจำพิเศษแห่งนี้ ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2537

 

 

     แต่ก่อนที่เราจะก้าวเท้าผ่านเข้าไปดูบรรยากาศหลังกำแพงคุกแห่งนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎคือฝากทรัพย์สินและโทรศัพท์ไว้กับเจ้าหน้าที่ ก่อนจะผ่านด่านตรวจเข้มลูบคลำร่างกายหาสิ่งผิดปกติอีกครั้ง และต่อไปนี้คือบรรยากาศของ ‘คุกธนบุรี’

 

 

     แดนแรกที่เราได้ไปคือ แดนแรกรับและเรือนพยาบาล สำหรับผู้ต้องขังใหม่ที่ต้องรับโทษหลังศาลมีคำพิพากษา เพื่อให้มีการปรับตัวและรอจำแนกแดนขังต่อไป ขณะที่แดนนี้ หากมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยไม่สบายก็จะมารับการรักษาที่นี่ มีจำนวนผู้ต้องขังรวมกันกว่า 1,300 คน

 

ผู้ต้องขังกำลังทำกิจกรรมบำบัดด้านจิตใจ พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

 

 

     ต่อมาคือแดนแห่งการเรียนรู้ เป็นแดนที่มีสิ่งที่น่าสนใจจำนวนมากให้ผู้ต้องขังได้ฝึกฝนตัวเองและหาความรู้ในด้านต่างๆ มีศิลปะไทยแขนงต่างๆ อย่างงานหัตถกรรมแกะสลัก ประติมากรรม การเย็บเสื้อหุ่นกระบอก ซึ่งนำครูจากวิทยาลัยในวังที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอนเป็นช่วงๆ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์

 

 

     รายได้จากงานศิลปะแต่ละชิ้น เมื่อถูกหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะนำมาปันผลแบ่งกับผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนและดนตรีไทย แม้จะเป็นเรือนจำชาย แต่การแสดงโขนก็มีทั้งตัวพระและตัวนางครบครัน

 

 

     แดนสุดท้ายที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมคือแดนครัว แดนที่มีหน้าที่ในการทำอาหารเลี้ยงผู้ต้องขังถึง 5,000 คนต่อวัน ใช้เนื้อวันละประมาณ 400 กิโลกรัม และมีหม้อประกอบอาหารที่แยกไว้สำหรับทำอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ มีความสะอาดและจัดระบบค่อนข้างดี

 

 

     เคลื่อนตัวมาอีกหน่อยจะเป็นส่วนของเบเกอรี ที่มีการอบขนมสไตล์ฝรั่งและขนมไทย นำไปขายส่งบริเวณร้านกาแฟหน้าเรือนจำด้วย โดยยอดขายวันหนึ่งอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาท

 

 

     ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่า “เชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถจะเป็นเรือนจำต้นแบบได้ หลังจากได้พูดคุยกับตัวแทนของสหประชาชาติ ระบุว่าในอาเซียนยังไม่มีประเทศไหน มีเรือนจำต้นแบบเลย สหประชาชาติมีความคาดหวังอยากจะให้ไทยเป็นเรือนจำต้นแบบให้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นรูปแบบของข้อกำหนดแมนเดลาอย่างจริงจัง”

 

 

     ความเป็นอยู่ของเรือนจำที่พยายามให้ได้รับมาตรฐานแมนเดลาอาจจะเปลี่ยนภาพจำในด้านลบของเราที่มีต่อคุกไปได้บ้าง แต่การแก้ไขปัญหาก็ต้องทำอย่างจริงจัง

     และคงจะดีถ้าเรือนจำอื่นๆ ของไทยจะสามารถเดินตามอย่างเรือนจำพิเศษทั้งในด้านความเป็นอยู่ หรือการส่งเสริมให้คนมีทักษะและนำไปต่อยอดในการสร้างอาชีพ เพื่อให้สังคมพัฒนา และเป็นแสงสว่างหรือเครื่องมือให้ผู้ที่เคยผิดพลาดได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

 

     แต่ความรู้สึกของเราภายหลังการเดินออกจากโลกหลังกำแพงคุกนั้นคือ

     “อิสรภาพเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ทุกคน”

 

อ้างอิง:

FYI
  • รายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) แจกแจงว่า เรือนจำในไทยมีปัญหาอาคารที่พักแออัด พื้นที่นอนคับแคบ สุขอนามัยไม่ดีเพียงพอ อาหารแย่ และน้ำดื่มไม่สะอาด การรักษาพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  • สถิติของกรมราชทัณฑ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คนในเรือนจำ 199 แห่งทั่วประเทศ สัดส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขังอยู่ที่ 1 ต่อ 27 คน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising