×

“กฎหมายไทยไม่สอดคล้องกับชีวิตคน” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 8 ปี iLaw กับภารกิจที่ยังไม่บรรลุ

07.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จับงานรณรงค์ด้านกฎหมายกับ iLaw มา 8 ปีแล้ว เขาสะท้อนว่า จนถึงปัจจุบันภารกิจภาพรวมของการทำงานยังไม่บรรลุเป้าหมาย กฎหมายต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจ
  • ในการออกกฎหมายของรัฐ ยิ่งชีพเสนอว่าต้องรับฟังเสียงของประชาชน แต่การออกกฎหมายที่มีความเห็นแตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องยาก หลักสำคัญคือต้องหาทางประนีประนอม เจอกันครึ่งทาง แต่หัวใจก็คือต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่

     พ.ศ. 2552 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ก่อตั้งขึ้นในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับภาคประชาชนเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง โดยอาสาเป็นสื่อกลางในการรวบรวมรายชื่อและการสนับสนุนจากสังคมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อผลักดันการเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีจุดเริ่มต้นมาจากประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม

     8 ปีผ่านไป เรานั่งคุยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ พนักงานคนแรกที่กลายมาเป็นผู้จัดการโครงการฯ ถึงการทำงานที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงที่อยากจะเห็นในสังคมไทย

อยากให้กฎหมายมาจากประชาชน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเท่านั้น

 

8 ปีที่ผ่านมา อยากให้ลองประเมินคร่าวๆ ว่าโครงการฯ ​ได้บรรลุเป้าหมายอย่างไรบ้าง

     ภาพรวมเป้าใหญ่นี่ไม่บรรลุเลย ความจริงเป้าหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2552 คือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน อยากให้กฎหมายมาจากประชาชน ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเท่านั้น ตอนนั้นภูมิทัศน์ของสื่อออนไลน์ไม่เหมือนกับตอนนี้ เราคิดว่าการทำเว็บไซต์น่าจะช่วยได้ แต่ภูมิทัศน์สื่อออนไลน์ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกอย่างขยับไปข้างหน้า แต่ปรากฏว่าบรรยากาศการเมืองถอยหลัง ก็เลยได้ทิศทางตรงกันข้าม สถานการณ์วันนี้ใน พ.ศ. 2560 กับ 2552 ผมคิดว่า พ.ศ. 2552 ดีกว่าด้วยซ้ำ

 

สถานการณ์ใดที่คิดว่าใน พ.ศ. 2552 ดีกว่า

     สิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมออกกฎหมาย กำหนดนโยบาย หรือกำหนดชะตาชีวิตตัวเองในสังคมภาพใหญ่ ผมคิดว่าสมัยนั้นดีกว่า แต่บางประเด็นก็ขยับไปเยอะ แม้จะไม่ถึงกับสำเร็จ แต่การขยับไปเยอะที่ว่าเราก็ไม่ได้จะอ้างว่าเป็นเพราะงานของเราเท่านั้น แต่เป็นเพราะหลายๆ อย่างประกอบกันด้วย ตัวอย่างเช่น การตระหนักรู้เรื่องภัยอันตรายของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ การรับรู้ของสังคมเกี่ยวกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 กับการดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนซึ่งถือว่ายิ่งนานวันเข้า สังคมก็ยิ่งรับรู้มากขึ้นครับ

 

ที่บอกว่าการทำงานที่ผ่านมายังไม่บรรลุเป้าหมาย อะไรทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยกว่าที่คิด

      ตอบได้อย่างเดียวเลยว่าทิศทางการเมืองมันไปทางนั้น ส่วนคนจะตื่นตัวกันมากขึ้นไหม ผมยังประเมินไม่ถูกเหมือนกันครับ

 

ถ้าพิจารณาจากการที่คุณเสนอตัวเป็นช่องทางให้คนทั่วไปเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อที่จะดำเนินการต่อไปล่ะ ผลตอบรับที่ได้เป็นอย่างไร

     ช่วงที่เปิดเว็บไซต์ใหม่ๆ ผลตอบรับไม่ค่อยดีเพราะหลายปัจจัย หนึ่ง คนไม่ค่อยรู้จักว่าการเข้าชื่อเสนอกฎหมายคืออะไร สอง สมัยพ.ศ. 2552-2555 เวลาจะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย คุณต้องถ่ายสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านประกอบกัน และต้องใช้แบบฟอร์มที่ถูกต้อง ก็มีส่งเข้ามาบ้าง แต่น้อยเกินกว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราเข้าใจถึงความยากลำบากตรงนี้ ทีนี้กฎหมายมาแก้ใน พ.ศ. 2556 ว่าไม่ต้องใช้ทะเบียนบ้านแล้ว แต่ขณะเดียวกันสมัย พ.ศ. 2554-2556 บรรยากาศในโลกออนไลน์ก็เปลี่ยน คนนิยมไปลงชื่อใน change.org มากกว่า รู้สึกว่าการลงชื่อผ่านสื่อนี้เป็นการได้ลงชื่อแล้ว ต่อมาคือการเติบโตของเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีช่องทางอื่นๆ ในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมกับกฎหมาย คนใช้ช่องทางกระจัดกระจาย การที่เราจะเป็นศูนย์กลางในการรณรงค์เรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

 

แล้วปรับทิศทางการทำงานอย่างไรบ้าง

     ช่วงพ.ศ. 2555-2556 นี่ปรับเยอะนะครับ เราเริ่มต้นทำโปรเจกต์ที่สองคือศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เป็นการจับตาและบันทึกข้อมูลการละเมิดเสรีภาพ ส่วนโปรเจกต์เดิมก็เปลี่ยนเป็นจับบางประเด็นให้ชัดขึ้น เช่น ตอนนั้นทำเรื่องกฎหมายภาพยนตร์ ทำเรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทำเรื่องชุดนักโทษ คือเอาประเด็นเด่นๆ มาทำข้อมูล ทำกิจกรรม และสร้างการมีส่วนร่วมให้ประเด็นชัดขึ้นมาเลยว่าปัญหามันอยู่ตรงนี้ อยากให้เป็นอย่างไร แต่พอมีรัฐประหาร พ.ศ. 2557 สถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน การเข้ายื่นเสนอกฎหมายไม่มี งานในส่วนนั้นจึงแช่แข็งไปเลย ขณะเดียวกันก็ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่ออกโดยมาตรา 44 และกฎหมายที่ออกโดย สนช. อีกจำนวนมาก เราก็เลยมาจับตาทางนี้ให้เยอะขึ้น

ผมคิดว่าตอนนี้การแสดงออกมันถูกกดให้ต่ำลงนะ สิ่งที่ควรทำคือการจับตาก่อนที่เราจะแสดงออกถึงการคัดค้าน

 

กฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีทั้งที่คุณเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย…

     ในเรื่องการออกกฎหมาย เราจะไม่ค่อยได้บอกว่า พ.ร.บ. ไหนดี เห็นด้วยหรือไม่ แต่เราอยากให้สังคมรู้ว่าตอนนี้กฎหมายแบบนี้กำลังจะออก ให้ช่วยกันถกเถียงหรือรับรู้ว่าจะใช้อย่างไร

 

การที่เราได้เห็นการประท้วงเวลามีการออก พ.ร.บ.ใหม่ๆ แสดงว่ากฎหมายไทยยังมีแนวโน้มจะกระทบต่อสิทธิของประชาชนส่วนหนึ่งใช่ไหม

     ครับ คิดว่าโดยภาพรวมกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตของคนมากนัก กฎหมายหลายฉบับไปละเมิดสิทธิ หรือกระทบวิถีชีวิตของคนบางกลุ่มค่อนข้างมาก

 

รัฐบาลควรทำอย่างไรเวลาจะออกกฎหมาย

     จริงๆ ควรรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนที่จะร่าง เริ่มจากการศึกษาปัญหาก่อนว่าถ้าจะออกกฎหมายสักฉบับหนึ่ง ปัญหาเดิมคืออะไร แล้วเราจะแก้อะไร ต่อมาก็คือในกรณีที่มีความเห็นแตกต่างชัดเจนในกฎหมายแต่ละฉบับ โดยหลักคือมันออกไม่ได้ ถ้าจะออกได้มันมีสองวิธีคือ หนึ่ง ต้องประนีประนอม หาทางที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ร่วมกัน เปิดโต๊ะเจรจาที่ลดลงมาคนละครึ่งทาง หรือหาวิธีที่สาม ที่สี่ ไปเลย ถ้าไม่ได้ก็ไม่ออก หรือสุดท้ายถ้าหาทางออกไม่ได้จริงๆ คุณก็ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่

 

ถ้าการออกกฎหมายทุกฉบับมีประชาพิจารณ์ทุกครั้ง กระบวนการนิติบัญญัติจะช้าไปไหม

     จะช้าครับ นอกจากนี้หมายความว่าทั้งเจ้าหน้าที่เอง ทั้ง ส.ส. หรือ สนช. คือคนที่เข้าไปทำงานตรงนั้นต้องทำงานหนัก แต่ทุกวันนี้ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ค่อยเข้าประชุม สนช. ชุดปัจจุบันรับหลายตำแหน่งแล้วไม่ค่อยเข้าประชุม ทำให้ไม่มีเวลาจะศึกษาถ่องแท้ คนออกกฎหมายเป็นคนที่ใช้อำนาจ คุณต้องได้รับการเรียกร้องให้ทำงานหนัก ถ้าทำงานหนัก (กระบวนการนิติบัญญัติ) อาจจะไม่ช้ามาก

 

ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านกฎหมาย อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก

     ผมคิดว่าตอนนี้การแสดงออกมันถูกกดให้ต่ำลงนะ สิ่งที่ควรทำคือการจับตาก่อนที่เราจะแสดงออกถึงการคัดค้าน เราต้องรู้ก่อนว่ากฎหมายอะไรกำลังจะออก ออกมาแล้วมันจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นงานยากที่เราจะไปอ่านระเบียบวาระการประชุมสภาว่ากฎหมายอะไรกำลังจะออกแล้วค้านได้ทัน แต่อย่างน้อยเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนและอนาคตของประเทศชาติ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอะไรพวกนี้ก็จะเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ ถ้าช่วยกันจับตาตัวหลักๆ แล้วช่วยกันติดตามก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 

มีคำแนะนำคนทั่วไปอย่างไร เวลาที่มีกฎหมายใหม่ๆ ออกมาแล้วมีผลกระทบต่อคนบางกลุ่ม

     ถ้าเห็นข้อมูลที่ขัดแย้งกัน เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นแย้ง เราก็ต้องอ่านจากหลายๆ ฝ่าย ไม่แปลกอะไรที่คนจะไม่เห็นด้วยกับ iLaw อยากแนะนำให้อ่านแต่ละประเด็นในหลายๆ มุม โดยให้ลืมว่าใครเหลือง ใครแดง ใครนกหวีดไปก่อน ไม่มีเหตุผลที่เราต้องไม่เห็นด้วยเพียงเพราะเขาเป็นเสื้อสีไหน หรือ

     บางที คสช. อาจจะถูกก็ได้ แม้คุณจะไม่ชอบ คสช. ก็ไม่จำเป็นต้องไปเกลียดทุกอย่างที่เขาทำ ผมว่าสังคมน่าจะไปในทางนี้ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising