×

“บางทีก็น้อยใจเวลาคนด่าตำรวจ” เปิดใจ ด.ต. อนิรุธ ตำรวจกอดกระหึ่มโลก

11.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กว่า 23 ปี บนเส้นทางของ ด.ต. อนิรุธ มะลี จากความไม่ชอบตำรวจ จนหลงรักและอุทิศเวลา รวมถึงชีวิตให้กับหน้าที่นี้ เขาย้ำถึงหลักการทำงานว่า “ต้องเข้าถึงประชาชนให้มากๆ”
  • กิจกรรมยามว่างในชีวิต เหมือนได้ถอดหัวโขนพักงาน ‘ผู้พิทักษ์ความสงบสุขของประชาชน’ คือการได้อยู่กับครอบครัว และตระเวนทำความดีกับแก๊งไบเกอร์ที่เขาหลงใหล
  • ในฐานะตำรวจเขามองว่า การปฏิรูปตำรวจต้องมองให้ถึงตำรวจระดับล่างด้วย

     “เมื่อมีเรื่องตำรวจต้องเข้าถึงก่อน จากประสบการณ์หลายปี การเป็นตำรวจสายสืบปกติจะไม่ค่อยรอให้ใครสั่ง เกิดเหตุก็เข้าเลย ทำงานเลย”

     คือคำอธิบายจากประสบการณ์ในหน้าที่กว่า 23 ปีของ ด.ต. อนิรุธ มะลี ซึ่งเลือกเดินบนเส้นทางอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์​ อาชีพที่เขามีความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต ปัจจุบันเป็นผู้บังคับหมู่ ฝ่ายสืบสวน สน.ห้วยขวาง โดยมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสงขลา

     ภาพและคลิปของชายสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์ คือนายตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งกำลังเจรจาด้วยท่าทีละมุนละม่อมกับชายที่ก่อเหตุถือมีดบุกเข้ามาบนโรงพัก กระทั่งชายคนดังกล่าวยอมส่งมีดให้ และจบลงอย่างแฮปปี้ด้วยการเดินเข้าโผกอดกัน เหตุการณ์นี้แทบจะปรากฏเป็นข่าวในหน้าสื่อทุกสำนัก และนั่นคือวีรกรรมล่าสุดของ ด.ต. อนิรุธ คนนี้

 

 

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางตำรวจ จากความไม่ชอบ ‘ตำรวจ’

     “ผมมาเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในปี 2532 ตอนเรียนสมัยนั้นยอมรับว่าเป็นคนเกเร ติดเพื่อน ใช้ชีวิตผาดโผน ดูท่าจะเรียนไม่จบ ก็เลยลองสอบนายสิบตำรวจในปี 2537 จบมารุ่น 67” นั่นคือคำบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพตำรวจของเขา จนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 23 ปีแล้ว

     แม้ว่าจะเรียนไม่จบในเวลานั้น แต่เขาก็ยังเห็นว่าการศึกษาคือสิ่งที่จำเป็นและสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต กระทั่งในเวลาต่อมา เขามุมานะจนจบการศึกษา ในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

     “ผมอยากเรียนต่อในระดับปริญญาเอก แต่ไม่มีเพื่อนเรียน” เขาเล่าพร้อมกับเสียงหัวเราะ

     “แต่เดิมผมไม่ชอบตำรวจ เพราะสมัยเรียนรามฯ เวลาขับมอเตอร์ไซค์แล้วโดนตำรวจจับบ่อย จริงๆ ผมอยากเป็นทนายความ ทำงานด้านกฎหมาย แต่ชีวิตมันเปลี่ยนแปลง เลยมาสอบตำรวจดู ไม่อยากรบกวนเงินที่บ้าน เพราะมีพี่น้อง 7 คน และผมเป็นคนรักความถูกต้อง ตรงไปตรงมา”

     นี่คืออีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่ทำให้ ด.ต. อนิรุธ ตัดสินใจมาเป็นตำรวจ ปัจจุบัน เขารับราชการเฉพาะที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ก็เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว

     “ปลายปี 2541 ผมย้ายมาที่ สน.ห้วยขวาง เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน สายตรวจ จับแก๊งลักรถ ยาเสพติด ได้อบรมหลักสูตรสืบสวนรุ่นที่ 7 แล้วกลับมาบรรจุเป็นสายสืบ เสาะแสวงหาข่าว ยาเสพติด อาชญากรรมทั่วไป คดีค้ามนุษย์ บุคคลต่างด้าว ทำงานด้านนี้มา 10 ปีแล้ว ไม่ว่าเหตุระเบิด คนกระโดดตึก จับตัวประกัน ขู่จะฆ่าตัวตาย ทุกอย่างสายสืบเข้าไปหมด”

 

 

ใช้หลักศาสนาในการทำงาน เวลาและชีวิตอุทิศเพื่อประชาชน

     วีรกรรมล่าสุดกับเสียงชื่นชมต่อ ‘อ้อมกอดที่แสนอบอุ่น’ ที่ถือเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ชั้นยอด ทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์ในการทำหน้าที่

     “ตามหลักของการเจรจา คนเจรจาหรือตำรวจ ต้องมองสถานการณ์แล้วรู้ว่าปลอดภัยไว้ก่อน เซฟตัวเองไว้ก่อน แต่ทีนี้เราเห็นว่าเขาไม่มีปืน มีแค่มีด ท่าทีของเขาที่กางแขนขึ้นไม่ได้อยู่ในท่าพร้อมสู้ จึงไม่น่าจะเป็นอันตราย ประกอบกับเขาได้พูดว่าเขาไม่มีเจตนาทำร้ายใครตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว จึงไม่เกิดเหตุอะไรร้ายแรงขึ้น

     “ผมเป็นมุสลิม มุสลิมมักจะจับมือ หอมมือ และกอดกัน มันคือวัฒนธรรมที่ศาสดาสอนพวกเรามา แต่ละวันพ่อแม่ลูกในบ้านผมจะกอดกัน มันเป็นสิ่งที่อบอุ่นมาก สิ่งแรกที่ทำก่อนจะล้างหน้าแปรงฟันตอนเช้าคือ การกอดกัน ผมอยู่กลุ่มไบเกอร์ก็มีวัฒนธรรมการชนไหล่ กอดกัน วันนั้นพี่เขาดูเครียด มีความทุกข์ พอผมได้กอด แกจึงร้องไห้กับผม”

     จากประสบการณ์ที่ต้องเจอผู้คนที่มีปัญหาหลากหลาย ในมุมมองของ ด.ต. อนิรุธ ต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมส่วนหนึ่งมาจากความเครียดในชีวิตที่หาทางออกไม่ได้ ปัญหาเศรษฐกิจ และการถูกกระตุ้นจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ตลอดกาล

     “บางคนไม่มีเงินจะกินข้าว เรียกร้องอะไรจากใครก็ไม่ได้ พี่น้องหรือญาติก็ไม่มี อยู่ตัวคนเดียว คนที่ไม่มีอะไรเลย ความเครียดมหาศาล การก่อเหตุก็จะเกิดขึ้นได้”

     ขึ้นชื่อว่าอาชีพตำรวจ ไม่ใช่แค่การเสียสละเวลาเพื่อทำหน้าที่พิทักษ์ความสงบสุขของประชาชนเท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่ได้อุทิศลมหายใจในอนาคตไว้แล้ว เขาเองก็รับรู้ตั้งแต่วินาทีที่ตัดสินใจเดินบนเส้นทางนี้แล้วว่า เมื่อสมัครใจก็ไม่อาจหลบเลี่ยง

 

 

     “ผมเคยล่อซื้อยาเสพติดกับสายสืบของผมที่โรงแรมแห่งหนึ่ง โชคดีที่ผมพกปืน 3 กระบอก และให้สายสืบของผมไว้ 1 กระบอก พอผลักประตูเข้าไปในห้อง ผู้ร้ายก็ชักปืนขึ้นมา แล้วในขณะที่ปืนของผมชักขึ้นมา ยังคาอยู่ที่บริเวณเอว โชคดีที่สายสืบของผมชักปืนขึ้นมาทันและได้จ่อไปที่หัวของผู้ร้าย จึงไม่เกิดเหตุอะไรขึ้น

     “อาชีพเราเหมือนพร้อมที่จะสละชีวิตแล้ว” เสียงยืนยันหนักแน่นจาก ด.ต. อนิรุธ

 

 

ตำรวจ ในมุมตำรวจ กับ ตำรวจ ในมุมประชาชน

     “บางทีเราก็นึกน้อยใจ เสียใจ แม้จะมีข่าวดีเกิดขึ้น แต่สักพักก็เกิดข่าวเสียอีกแล้ว เวลาเขาด่าตำรวจ มันพาดพิงตั้งแต่ ผบ.ตร. ไปจนถึงตำรวจชั้นประทวน เวลาเขาด่า เขาไม่ได้เจาะจงเป็นคนๆ แต่พาดพิงไปทั้งองค์กร”

     คือความในใจของ ด.ต. อนิรุธ เมื่อถูกถามถึงประเด็นเรื่องภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาของประชาชน พร้อมยกตัวอย่างว่า

     “อย่างตำรวจจราจรที่อยู่ใกล้ตัวประชาชนมากที่สุด ประชาชนจะด่าตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ บางทีก็ต้องยอมรับว่าคุณก็มีส่วน เราเป็นคนยื่นให้เขา เสนอให้เขา เพราะการที่เขาอยู่ใกล้ตัวเรา ทำให้มันเกิดเหตุการณ์ร่วมกันเยอะ ถ้าเราไม่เสนอ เขาก็อาจไม่กล้ารับ บางทีที่เขารับเพราะด้านหลังก็มีรถติด บีบแตรไล่อยู่ ตำรวจก็ต้องให้ผ่านไป ถ้าเขาเสนอ เขาเรียกรับเอง คุณให้ แล้วคุณแจ้งจับเลย เอาคนไม่ดีออกไป แล้วมาสนับสนุนคนดีๆ มันต้องแก้ไขทั้งสองฝ่าย” คือข้อเสนอทางออกของปัญหาจากมุมของตำรวจคนนี้

     “มันต้องแก้ทั้งผู้ให้และผู้รับ ถ้าเราทำผิดก็ยอมให้เขาเขียนใบสั่ง แล้วก็แค่นำไปจ่าย ภาษีก็เข้ารัฐด้วย อยากให้เราลองยืนสังเกตดูการสัญจรของรถบนถนนว่ามีคนทำผิดกี่ราย อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น การเดินรถบนเส้นทึบ เส้นประที่ห้ามเลี้ยว คนไทยชอบความรู้สึกการเป็นอภิสิทธิ์ชน เป็นเจ้าขุนมูลนาย ไม่ชอบถูกกล่าวหาว่าผิด ชอบความสะดวกสบาย พอตำรวจจับก็ให้สินบน บางคนนำไปสร้างประเด็นในโลกโซเชียล”

 

 

เมื่อ ‘เขาอยากจะปฏิรูปตำรวจ’

     ด.ต. อนิรุธ ชี้ว่า ปัญหาของตำรวจระดับล่างส่วนหนึ่งที่อยากให้มีการปฏิรูปก็คือ สิทธิและสวัสดิการ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้เข้ามาดูปัญหา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ของกำลังพล ที่ต้องได้รับการอุดหนุน ซึ่งล้วนแต่มีต้นทุน เพื่อจะให้ตำรวจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน

     “ตำรวจต้นทุนต่ำตั้งแต่หัวจรดเท้า ปฏิรูปสิ่งนี้ก่อนได้ไหม ตำรวจระดับล่างต้องเช่าห้องพักเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในครอบครัว จะปฏิรูปคือต้องทำอย่างไรให้ระดับล่างเพียงพอไม่ลำบาก เขาจะได้ไม่ไปหาทางทุจริตต่อหน้าที่ปฏิรูปตรงนี้หรือยัง

     “ต้องมองลงมาให้เห็นตำรวจระดับล่าง และเราก็อยากรู้ว่าจะปฏิรูปไปในแนวทางไหน แต่คิดว่าคุณควรปฏิรูปให้คุณภาพชีวิตเขาดีก่อน”

     ด.ต. อนิรุธ มองว่า “คนที่จะปฏิรูปตำรวจได้ดีที่สุดก็คือตำรวจ” และต้องนำตำรวจระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

 

 

เป็นตำรวจ 24 ชม. แต่รักมากเหมือนกันคือ ‘ครอบครัว’ และ ‘วิถีไบเกอร์’

     “ตำรวจไม่มีเวลาพัก มีแต่เวรหนุน ถ้าเกิดอะไรร้ายแรงอย่างฆ่าคนตาย ปล้นธนาคาร ทุกคนต้องมาร่วมกันทำงาน” คือสไตล์การทำงานของตำรวจผ่านคำบอกเล่าของเขา ครอบครัวผมไม่มีปัญหาอะไรสนับสนุนให้ทำงานในหน้าที่อย่างเต็มที่

     นอกจากงานในหน้าที่ที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เขาได้ผ่อนคลาย และเป็นเสมือนการถอดหัวโขนตำรวจเพื่อไปทำกิจกรรมที่รัก เพื่อตอบแทนสังคมในอีกรูปแบบหนึ่งด้วย

 

 

     “ผมอยู่ในกลุ่ม X-Bone Thailand เป็นแก๊งไบเกอร์ ปีหนึ่งก็จะลาพักร้อน 4-5 วัน เพื่อขี่มอเตอร์ไซค์ทำความดี สร้างอาคารเรียน บริจาคสิ่งของ สังคมตำรวจกับสังคมไบเกอร์เป็นคนละอย่างกัน แต่มันก็ทำให้เรามีความสุขกันคนละแบบ

     “บางทีเราเครียด พอได้สตาร์ทเครื่องก็เหมือนได้ปลดปล่อยไปกับเสียงเครื่องด้วย

     “ทุกวันนี้ผมภูมิใจในงานของผมมาก ใช้ชีวิตปกติ แม้จะถูกมองว่าดัง แต่ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยไม่ต้องมีการแบ่งแยกว่าคุณจะศาสนาอะไร เป็นใคร ถ้าให้ผมพูด ผมมองว่าอิสลามไม่ใช่ศาสนาแห่งความรุนแรง อิสลามคือสันติ ถามว่าใครเป็นผู้ก่อการร้ายระดับโลก ไม่ใช่อิสลามเลย อันนั้นเราไม่พูดถึงเป็นเรื่องของการเมืองระดับโลกไป แต่ในส่วนของอิสลาม ไม่มีคำว่ารุนแรง การฆ่าคนตายเท่ากับบาป

     “การทำงานของเราจำเป็นต้องเข้าหาประชาชนให้มากๆ”

     คือความในใจที่สัมผัสได้ว่า นี่คือสิ่งยืนยันถึงเจตนารมณ์และตัวตนของเขา ตัวตนของ ด.ต. อนิรุธ มะลี ตำรวจน้ำดีอีกคนหนึ่งของวงการ

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising