×

‘ลางานไม่ได้ จ่ายก็แพง ถูกเลือกปฏิบัติ’ นานาปัญหาประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติที่รอการแก้ไข

18.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปัญหาระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ หากมองโดยองค์รวมก็คือ ‘ความมั่นคงด้านสุขภาพ’ ของคนไทยด้วย เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศที่เราอาศัยอยู่มีประชากรข้ามชาติเหล่านี้ด้วย
  • ปัญหาและอุปสรรคด้าน ‘สุขภาพ’ ของแรงงานข้ามชาติยังต้องได้รับการแก้ไข มีความพยายาม แต่ก็ยังมีการเลือกปฏิบัติในระดับพื้นที่ สุดท้ายแล้วแรงงานข้ามชาติยังมีปัญหาการเข้ารับบริการ และการเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น

     ประเด็น ‘ความมั่นคงด้านสุขภาพ’ ที่ถือว่าเป็นปัญหาองค์รวมของรัฐที่จะต้องเข้ามาดูแลคนในประเทศของตัวเอง แต่อีกด้านของภารกิจคือ การดูแลคนต่างชาติที่อยู่ในรัฐ ซึ่งต้องมีมาตรการด้านสุขภาพเช่นเดียวกัน

     สำหรับประเทศไทย ‘แรงงานข้ามชาติ’ ก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่ต้องดูแล ขณะที่ปัญหาสุขภาพของแรงงานข้ามชาติอยู่ในขั้นตอนกำลังเร่งปฏิรูป ยกเครื่อง และยังติดขัดปัญหาอุปสรรคในหลายด้าน

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

จัดระบบประกันสุขภาพแรงงานเพื่อ ‘ความมั่นคงด้านสุขภาพ’

     ในการประชุมเรื่อง ‘สู่ระบบประกันสุขภาพที่ถ้วนหน้าสำหรับแรงงามข้ามชาติและผู้ติดตาม’ ที่จัดโดยมูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับกองทุนโลก นพ. ถาวร สกุลพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ชี้ให้เห็นภาพรวมของการย้ายถิ่นฐานว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และจะยังคงมีปรากฏอยู่ตลอดไป ขณะที่ผลกระทบมีทั้งทางบวกและลบต่อประเทศที่ย้ายถิ่นออกและย้ายถิ่นเข้า ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ความมั่นคงทางสุขภาพ รวมทั้งผลกระทบในทางกฎหมาย

     “ระบบประกันสุขภาพถือเป็นนโยบายบรรเทาปัญหา (mitigation) ความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศไทย จากการย้ายถิ่นของแรงงานข้ามชาติและครอบครัว เพราะปัญหาสุขภาพของแรงงานข้ามชาติก็กระทบต่อความมั่นคงสุขภาพของไทยเช่นกัน ทั้งผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เอชไอวี และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วไม่มีคนรับภาระ”

     ขณะที่การสร้างระบบประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเสนอการปฏิรูประบบสาธารณสุข ด้านการคลังสุขภาพ และระบบหลักประกันสุขภาพ ระยะที่หนึ่ง กรณีบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย

     และหนึ่งในข้อเสนอคือจัดความคุ้มครองด้านสุขภาพให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ไม่ใช่คนไทย​ ประกอบด้วย คนต่างด้าว นักท่องเที่ยวต่างชาติ และผู้ป่วยข้ามแดน เพื่อความเพียงพอทางการคลังสำหรับสถานพยาบาลของรัฐ และความมั่นคงทางสุขภาพของคนไทย

 

Photo: PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP

 

บัตรประกันสุขภาพแรงงาน หลักประกันที่เหมือนไม่ประกัน

     รู้หรือไม่ว่าสถานการณ์ปัจจุบันของแรงงานที่ถูกกฎหมาย กรณีแรงงานที่ถือ ‘บัตรสีชมพู’ ซึ่งเป็นบัตรแสดงตัวว่าแรงงานได้รับการผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มีจำนวน 1,804,298 คน

     ขณะที่แรงงานกลุ่มที่ถือเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้จำนวน 1,596,489 คน ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นจำนวน ‘แรงงานต่างด้าว’ ในไทยที่อีกมิตินอกจากเรื่องแรงงานคือ เรื่องสุขภาพ ที่ต้องหามาตรการให้ได้รับการดูแล

     ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง การตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กำหนดให้…

     แรงงานต่างด้าวรวมผู้ติดตามที่เป็นบุตรอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ (2 ปี) + ตรวจสุขภาพ = 3,700 + 500 (ค่าตรวจสุขภาพปีที่ 2)

     สำหรับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวที่เป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน 7 ปีบริบูรณ์ จ่ายค่าประกันสุขภาพ (2 ปี) = 730 บาท

     ตัวเลขผลการดำเนินการ สถิติล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2559 สามารถตรวจและทำประกันสุขภาพได้ = 1,259,016 คน

     นพ. ถาวร เปิดเผยว่า สำหรับการขายบัตรประกันสุขภาพนั้น จะมีการเปิดขายเป็นรอบๆ และกฎเกณฑ์เงื่อนไขมักจะถูกปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง

     ขณะที่สถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นต่อประเด็นของบัตรประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวนั้น นอกจากค่าใช้จ่ายที่สูง และเมื่อเทียบกับประกันสังคมแล้ว ระบบประกันสุขภาพกำหนดให้เงินส่วนกลางมาจากผู้ซื้อประกันและรัฐ ส่วนนายจ้างถูกตัดออก ซึ่งในระบบประกันสังคมบังคับ ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐมีความพยายามที่จะดันแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบเพื่อให้สิทธิการรักษาย้ายไปอยู่ในประกันสังคม

     เสียงสะท้อนถึงสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ ยังคงมีปัญหา และอุปสรรคในการขายและซื้อบัตรประกันสุขภาพ เนื่องจาก

  • หลายโรงพยาบาลตัดสินใจไม่ขายบัตร เพราะกลัวขาดทุนหากพบโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรืออาจขายแบบมีเงื่อนไข
  • แรงงานข้ามชาติเองก็ตัดสินใจไม่ซื้อบัตร เพราะคิดว่าตนเองไม่มีโอกาสเจ็บป่วย และกังวลเรื่องการไปรับบริการ
  • ข้อจำกัดเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพในระยะยาว (ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข)

     ทางแก้ที่พยายามเสนอให้เกิดรูปธรรมในการจัดการกับระบบประกันสุขภาพของแรงงาน คือ

  1. ส่งเสริมให้แรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบเพื่อจัดการคุ้มครองที่ครอบคลุม คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เร่งรัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย MOU อำนวยความสะดวกต่อการตรวจสัญชาติ และบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ
  2. จัดระบบการดำเนินการประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวที่สม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
  3. พิจารณาการจัดงบประมาณ เพื่อดำเนินการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่แรงงานต่างด้าว และผู้ติดตามในส่วนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณะสุขของไทย

     “กวาดเข้าระบบ จัดการให้มีระบบหลักประกันสุขภาพ (แบบบังคับจ่าย) เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนที่เข้าระบบเราจะสามารถจัดการปัญหาให้เขาได้ หากเป็นเรื่องที่มีผลต่อความมั่นคงทางสุขภาพ อาจจะต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ

     “แรงงานข้ามชาติควรได้รับการรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐานที่คนไทยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่นิ่ง ในอนาคตต้องมี แต่อยู่บนหลักการที่ว่า ต้องไม่มาล้วงกระเป๋าคนไทย”

 

Photo: TANG CHHIN SOTHY/AFP

 

ปัญหาบัตรประกันสุขภาพที่รอการแก้ไข

     ขณะที่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ‘Participatory Research on Migrant Friendly Services’ มีบทสรุปและข้อเสนอแนะด้านการเข้าถึงบัตรประกันสุขภาพ หรือบัตรประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติว่า

     บัตรประกันสุขภาพหรือบัตรประกันสังคมถูกเก็บไว้ที่นายจ้าง บางครั้งการย้ายงานนายจ้างก็ไม่คืนเอกสาร ทำให้มีผลต่อการเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข บางครั้งนายจ้างไม่อนุญาตให้แรงงานลาหรือไปโรงพยาบาล เพราะจะตัดเงินเดือน

     อีกปัญหาคือแรงงานข้ามชาติมักจะให้นายหน้าเป็นผู้จัดทำบัตรให้ ยิ่งทำงานในโรงงาน นายหน้าก็คือคนทำงานในโรงงานด้วยกัน เช่น เสมียน หรือหัวหน้า ยิ่งกลุ่มแรงงานประมงต่อเนื่อง มักใช้นายหน้าข้างนอก ทำให้อาจต้องจ่ายแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด

     ปัญหาด้านบริการ หากเป็นแรงงานข้ามชาติจะรู้สึกว่าตนเองต้องรอคอยการบริการที่นาน และใช้เวลามาก รวมไปถึงทัศนคติต่อการเข้ารับการรักษา ความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม การได้รับความไม่เป็นธรรมในการเข้ารับบริการ แม้กระทั่งอุปสรรคการสื่อสารทั้งการเขียน การพูด การฟัง ก็เป็นปัญหาต่อการเข้ารับบริการและการเข้าถึงบัตร

     นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และลุกลามไปมากกว่าแค่เรื่องปัญหาบัตรประกันสุขภาพ หากแต่เป็นเรื่องมายาคติ และการมองคนด้วยกัน ที่วนเวียนซ้ำซากในระบบอยู่นานหลายสิบปี

     นพ. ถาวร มองว่า ทางออกหนึ่งสำหรับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่ผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติ แล้วไม่มีเอกสาร ควรมีมาตรการชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลให้บริการกับบุคคลที่ไม่ใช่คนไทย (แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่) ที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าบริการได้ แต่เอาเงินมาจากไหนนั้นก็ยังไม่มีข้อสรุป อีกทางเลือกก็คือ อาจต้องกลับไปดูที่ระบบบังคับคือ คำนวณเบี้ยประกันสำหรับกรณีเผื่อไว้ด้วยเลย แต่คนที่จะเข้ามาสู่ระบบนี้ต้องมีฐานใหญ่ เพราะไม่เช่นนั้นเบี้ยประกันก็จะสูงเป็นภาระอีก

     “ส่วนการแก้ไขปัญหาทั้งระบบนั้นต้องขยับเป็นภาพใหญ่ เพื่อให้มีความชอบธรรมในการขยับ แต่หน้าตาจะออกมาอย่างไรยังต้องดูในอนาคต จะพูดปัญหากันขนาดไหน ก็ต้องขยับกันต่อไป อเมริกาทำมาร้อยปีก็ยังไม่ไปไหน”

 

     ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวยังมีอีกหลายแง่มุม นอกจากปัญหาการจ้างแรงงานที่เป็นกระแสไปไม่นานนี้

     ภายใต้ความสั่นไหวหรือสงบนิ่ง ปัญหาอีกหลายประการก็ยังรอการแก้ไขไม่หยุดหย่อนเช่นเดียวกัน

 

Cover Photo: TANG CHHIN SOTHY/AFP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising